สถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567)

จัดทำโดย งานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด ททท. 

ข้อมูล ณ วันที่ 17 มกราคม 2568


 

สถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งสิ้น 9,456,858 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 444,746 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 โดยจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ สามารถฟื้นตัวกลับมาประมาณร้อยละ 91 และ 85 ของที่เคยได้รับในช่วงเดียวกันปี 2562 ตามลำดับ

 

 

 

ภูมิภาคอาเซียน 

สถานการณ์การเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวภูมิภาคอาเซียนภาพรวม เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 จะมีอัตราการเติบโตในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 โดยคาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยจำนวนประมาณ 2.64 ล้านคน หดตัวร้อยละ 2 สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 76,394 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566  โดยแบ่งกลุ่มการเติบโตของตลาด ดังนี้

  1. ตลาดดาวรุ่งที่มีการเติบโตแข็งแกร่ง ได้แก่ อินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมียนมา เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 และฟิลิปปินส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 38
  2. ตลาดที่มีการหดตัว ได้แก่ มาเลเซีย หดตัวร้อยละ 6 เวียดนาม หดตัวร้อยละ 4 บรูไน หดตัวร้อยละ 1 สิงคโปร์ หดตัวร้อยละ 2 ลาวและกัมพูชา หดตัวร้อยละ 10

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง  

  • การดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดการท่องเที่ยวของ ททท. และ พันธมิตร อาทิ
    • มุ่งเน้นกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวอาเซียนผ่านการจัด Media/ Agent FAM TRIP ส่งเสริมการขายแพ็กเกจราคาพิเศษ อาทิ ททท. สำนักงานสิงคโปร์ (รับผิดชอบดูแลตลาดฟิลิปปินส์) Joint Promotion ร่วมกับ OTA รายใหญ่ ได้แก่ Trip.com, Agoda.com และ Klook.com เป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยว 3,000-30,000 คน และร่วมกับสายการบิน Air Asia จัดโปรโมชันในการจองรับส่วนลด 20% เป้าหมาย 3,000 Pax ในเส้นทางมะนิลา-กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 2-15 ธันวาคม 2567
    • เพิ่มเส้นทางบินเข้าสู่จุดหมายปลายทางที่หลากหลายของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะเส้นทางบินตรงจากอินโดนีเซีย สายการบิน Indonesia Air Asia เดนปาซาร์-ภูเก็ต ฟิลิปปินส์ สายการบิน Cebu Pacific มะนิลา-เชียงใหม่ มาเลเซีย สายการบิน Air Asia กัวลาลัมเปอร์-เชียงราย และสายการบิน Malindo Air ยะโฮบารู-กรุงเทพฯ 

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง 

  • น้ำท่วมภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจท่องเที่ยวที่รองรับนักท่องเที่ยวตลาดอาเซียน ได้แก่ 
    • จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2567 ส่งผลกระทบเชิงจิตวิทยาระยะสั้นต่อการเดินทางเข้าเชียงใหม่ในช่วงต้นเดือนตุลาคม โดยเฉพาะกลุ่มกรุ๊ปทัวร์จากตลาดจีน มาเลเซีย เวียดนาม และญี่ปุ่น ลุ่มที่เดินทางผ่านทางบกจากตลาดลาว ทำให้นักท่องเที่ยวบางส่วนมีการยกเลิกการเดินทาง หรือเลื่อนการเดินทางมาท่องเที่ยวออกไปในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมแทน ทั้งนี้ ตลาดลาว มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางด่านชายแดนทางบกสูงถึงร้อยละ 90 ของจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยทั้งหมด 
    • หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา และพื้นที่ใกล้เคียงบริเวณด่านทางบก (ตม.สงขลา นราธิวาส เบตง และสตูล) ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อกลุ่มนักท่องเที่ยวมาเลเซียที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทยผ่านด่านชายแดนทางบก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยทั้งหมด เนื่องจากความไม่สะดวกในการเดินทางเข้าถึงพื้นที่ท่องเที่ยวในเมืองหาดใหญ่ ที่ต้องใช้เวลาในการเดินทางโดยรถบัส รถยนต์ส่วนตัวนานขึ้น 
  • นักท่องเที่ยวกลุ่มประเทศอาเซียนแสวงหาประสบการณ์ท่องเที่ยวใหม่ ทำให้นักท่องเที่ยวกลุ่ม Revisit ที่เคยเดินทางมาประเทศไทยหลายครั้ง เปลี่ยนการเดินทางท่องเที่ยวไปยังประเทศอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และเวียดนาม ซึ่งมีข้อได้เปรียบให้นักท่องเที่ยวชมทิวทัศน์ในช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสี สัมผัสสภาพอากาศหนาวและหิมะ รวมถึงค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงมาก และการผ่อนคลายมาตรการวีซ่าและแหล่งท่องเที่ยวในประเทศที่หลากหลาย ซึ่งสร้างบรรยากาศดึงดูดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับนักท่องเที่ยวอาเซียน
  • การแข่งขันทางการท่องเที่ยวของประเทศคู่แข่งในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากมีการเดินทางคมนาคมเข้าถึงได้สะดวก แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ราคาคุ้มค่า การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวมากขึ้น อาทิ 
    • ลาว มีเส้นทางรถบัสใหม่จากแขวงจำปาสักไปยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา 
    • เวียดนาม ดานัง Nha trang Vung Tau จุดขายท่องเที่ยวทางทะเล 
    • จีน มีการส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างจีน-ลาวโดยรถไฟความเร็วสูง 
    • ลาวและเวียดนาม กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดตัวระบบการชำระเงินระหว่างประเทศใหม่ ซึ่งจะช่วยทำให้การทำธุรกรรมการค้าสะดวกยิ่งขึ้น  

 

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ 

สถานการณ์การเดินทางเข้าไทยจากตลาดภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 2.77 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 134,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 จากแรงหนุนของกลุ่มตลาดหลัก ดังนี้

  1. กลุ่มตลาดที่เติบโตดีและฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงปีก่อนวิกฤต COVID-19 ปี 2562 โดยเฉพาะตลาดดาวรุ่ง ไต้หวัน ที่กลับมาขยายตัวอย่างก้าวกระโดดสูงถึงร้อยละ 35 เนื่องจากมาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (Visa Exemption) และตลาดเกาหลีใต้ เติบโตร้อยละ 4 เนื่องจากกระแสความนิยมท่องเที่ยวประเทศไทย โดยไทยติดอยู่ใน Top 3 จุดหมายปลายทางยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวเกาหลีใต้เดินทางเข้ามามากที่สุดอย่างต่อเนื่อง จากการผลักดันส่งเสริมของ ททท. ร่วมกับพันธมิตรผ่านการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ เพื่อมุ่งสู่จุดหมายปลายทางศักยภาพทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร
  2. กลุ่มตลาดที่มีอัตราการเติบโตดี แต่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงเท่าระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ปี 2562 โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวตลาดจีน ญี่ปุ่น และฮ่องกง มีการฟื้นตัวเฉลี่ยร้อยละ 60-80 ของช่วงเวลาเดียวกันปี 2562 เนื่องจากปัจจัยเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่ำ เศรษฐกิจฮ่องกงที่ผูกติดกับจีน และอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น 

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง ดังนี้ 

  • การดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดการท่องเที่ยวของ ททท. และ พันธมิตร 
    • จัดกิจกรรมช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ต่อเนื่องถึงวันชาติจีน อาทิ “Nihao Month” เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 ทั้งในตลาดจีนและในประเทศไทย การทำ Joint Sales จัดโปรโมชันผ่าน 5 แพลตฟอร์มออนไลน์ของจีน ควบกับกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว KOLs MEGA FAM Trip แฟนมีต China Thailand Cultural Friendship Ambassador (Luo Yunxi) ช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยพร้อมกับกระตุ้นการใช้จ่ายระหว่างการท่องเที่ยว และร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตจีน ประจำประเทศไทย เปิดตัวโลโก้ครบรอบ 50 ปี ไทย-จีน ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2567 
    • เข้าร่วมงาน China International Travel Mart 2024 นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน วันที่ 21-24 พฤศจิกายน 2567 แนวคิด “Let’s Have Fun in Amazing Thailand” คาดว่าจะสร้างโอกาสในการเจรจาธุรกิจของผู้ประกอบการและสร้างการรับรู้ประเทศไทย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางของนักท่องเที่ยวมายังประเทศไทยในช่วงต้นปี 2568
    • ส่งเสริมการเดินทางของนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นไปยังจังหวัดสุโขทัย โดยเฉพาะกลุ่ม Active Senior และกลุ่มนักเรียน ในช่วงเทศกาลลอยกระทงของไทยในเดือนพฤศจิกายน 
    • ส่งเสริมการเดินทางเข้าพื้นที่เมืองหลักและเมืองรอง เช่น กิจกรรม TAT Guangzhou Amazing Loi Krathong MET Fam Trip วันที่ 13-17 พฤศจิกายน 2567 โดยเชิญ KOL 5 ราย เดินทางมาสํารวจและถ่ายทํากิจกรรมต่าง ๆ ในจังหวัดลําพูนและลําปาง ภายใต้ธีม Thai Charms 5 Must-do และเข้าร่วมเทศกาลลอยกระทง ในจังหวัดลําพูนและเชียงใหม่ซึ่งจะมีการประชาสัมสัมพันธ์บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ อาทิ WeChatMoment / Weibo / Xiaohongshu และ Douyin เพื่อให้เกิดการรับรู้และสร้างโอกาสต่อยอดการเสนอขายสินค้าและบริการประเทศไทยต่อไป
    • การเพิ่มจำนวนที่นั่งเครื่องบินเข้าไทยในแผนการบินฤดูหนาวโดยเฉพาะตลาดจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น ไต้หวัน ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม 2567 – 29 มีนาคม 2568 อาทิ
      • จีน 
        • สายการบิน Spring Airlines จากกว่างโจว ฟู่โจว และหยางโจว เข้ากรุงเทพฯ
        • สายการบิน Thai Lion Air เซียงหยาง-กรุงเทพฯ
        • สายการบิน Ruili Airlines คุนหมิง-เชียงใหม่
        • สายการบิน Juneyao Airlines หลานโจว-กรุงเทพฯ 
      • ฮ่องกง – สายการบิน Hong Kong Airlines ฮ่องกง-เชียงใหม่ 
      • ญี่ปุ่น – สายการบิน Thai Air Asia X นาโกย่า-กรุงเทพฯ 
      • ไต้หวัน – สายการบิน Tiger Air ไทเป-ภูเก็ต

ส่งผลให้นักท่องเที่ยวตลาดจีนเข้าไทยมีจำนวนประมาณ 1.48 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 ตลาดญี่ปุ่นมีจำนวนประมาณ 2.88 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และตลาดฮ่องกง มีจำนวนประมาณ 2.11 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566

 

ภูมิภาคยุโรป 

คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 จำนวน 2.28 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 140,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 โดยแบ่งกลุ่มตลาด ดังนี้ 

  1. ตลาดดาวรุ่งด้านการเติบโตและมีจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤต COVID-19 ปี 2562 ได้แก่ อิตาลี เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 ฝรั่งเศส เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 ยุโรปตะวันออก เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 สเปน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 และเดนมาร์ก เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 
  2. ตลาดหลักที่มีการเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค แต่มีจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาสูงกว่าปี 2562 ก่อนวิกฤต COVID-19 ได้แก่ เยอรมนี เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 สหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และรัสเซีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 19
  3. ตลาดขนาดเล็กที่มีการเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค แต่มีจำนวนนักท่องเที่ยวกลับมาใกล้เคียงเท่าระดับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ปี 2562 ได้แก่ เนเธอร์แลนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ออสเตรีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และเบลเยียม เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 
  4. ตลาดที่มีการเติบโตดี แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงเท่าระดับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ได้แก่ นอร์เวย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 41 สวีเดน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 ฟินแลนด์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 โดยมีการฟื้นตัวเฉลี่ยร้อยละ 70-90 ของช่วงเดียวกันปี 2562

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง มีดังนี้

  • การหลีกหนีสภาพอากาศหนาวมาท่องเที่ยวประเทศที่มีอากาศอบอุ่น โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาวเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ที่กลุ่มครอบครัวนิยมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงเวลานี้ จากข้อมูลการจองบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้ามายังประเทศไทยในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 (ระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2568) พบว่า 
    • นักท่องเที่ยวภูมิภาคยุโรปมีแนวโน้มการจองฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566
    • ตลาดรัสเซีย อิตาลี สวีเดน สหราชอาณาจักร มีสัดส่วนยอดจองฯ ในช่วงปีใหม่ 2568 เพิ่มขึ้นดีที่สุดเทียบกับปีก่อนหน้า 
    • จุดหมายท่องเที่ยวยอดนิยมในไทยที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จองการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว คือ กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ เกาะสมุย และกระบี่ (ที่มา: ระบบ ForwardKeys ณ วันที่ 9 ธ.ค. 67) 
  • จำนวนที่นั่งบนเครื่องบินในภูมิภาคยุโรปเข้าไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 หรือมีจำนวนที่นั่งรวม 1.4 ล้านที่นั่ง โดยในช่วงตารางการบินฤดูหนาว ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม 2567 – 29 มีนาคม 2568 หลายประเทศยุโรปเพิ่มเที่ยวบินตรงเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจากภูมิภาคยุโรปในช่วงปลายปีไปจนถึงช่วงต้นปี 2568

กลับมาทำการบิน อาทิ

      • เบลเยียม – สายการบิน Thai Airways บรัสเซลส์-กรุงเทพฯ 
      • สหราชอาณาจักร – สายการบิน British Airways ลอนดอน-กรุงเทพฯ
      • อิตาลี – สายการบิน Alitalia โรม-กรุงเทพฯ

เพิ่มความถี่เที่ยวบิน อาทิ รัสเซีย สายการบิน Aeroflot มอสโก-ภูเก็ต จาก 5 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์ มอสโก-กรุงเทพฯ จาก 5 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 21 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ออสเตรีย สายการบิน Austria Airlines เวียนนา-กรุงเทพฯ จาก 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เป็น 13 เที่ยวบิน/สัปดาห์

เปิดเที่ยวบินใหม่ อาทิ สายการบิน Redwings Airlines เปิดเที่ยวบินเช่าเหมาลำ จากเมืองซามารา โซชี และตูย์เมนของรัสเซียเข้าภูเก็ต และสายการบิน Neos Air-Čedok จากเมืองออสตราวาของเช็กเข้าภูเก็ต

  • กิจกรรมการดำเนินงานส่งเสริมตลาดของสำนักงาน ททท. และพันธมิตรในภูมิภาคยุโรป 
    • กระตุ้นการเดินทางช่วง High Season และกลุ่ม Luxury โดย Joint Marketing Campaign และประชาสัมพันธ์ประเทศไทยผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ร่วมกับบริษัทนำเที่ยวและสายการบินในพื้นที่ยุโรป
    • โปรโมตการท่องเที่ยวประเทศไทยในงาน World Travel Market 2024 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 5-7 พฤศจิกายน 2567 เพื่อแสดงศักยภาพสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวของไทย สร้างโอกาสในการนำเสนอขายแก่ผู้ประกอบการไทย สร้างเครือข่ายผู้ประกอบการและผลักดันเป้าหมายนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี Amazing Thailand Grand Tourism and Sports Year 2025 
    • Joint Advertising ร่วมกับบริษัทนำเที่ยว เช่น Rainbow Tours Čedok ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการขายเที่ยวบินเช่าเหมาลำ อาทิ โปแลนด์ เช็ก เข้าสู่กรุงเทพฯ และภูเก็ต เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นการเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศไทยตามแผนการบินฤดูหนาวปี 2567/2568 
    • โฆษณาและประชาสัมพันธ์ประเทศไทยผ่านสื่อออนไลน์ Blueprint.ru ไปยังกลุ่มเป้าหมาย Luxury ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 โดยสอดแทรกเนื้อหาเชิงประสบการณ์ที่สอดคล้องกับความสนใจของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Luxury ที่เกี่ยวข้องกับด้าน Art, Gastronomy และ Fashion และส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยเป็นจุดหมายท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มระดับ hi-end
    • จัดกิจกรรม Amazing Thailand Roadshow to Russia: Siberia and Far East 2024 ระหว่างวันที่ 9-13 กันยายน 2567 ณ เมืองอีร์คุตสค์ เมืองวลาดีวอสตอค และเมืองฮาบารอฟสค์ ประเทศรัสเซีย โดยมีผู้ประกอบการท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่เข้าร่วมงานเมืองละ 30-40 ราย สร้างโอกาสในการนำเสนอขายประเทศไทยให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่รัสเซียและพื้นที่ใกล้เคียง ให้เกิดการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยในช่วงต้นปีหน้าเป็นต้นไป

 

 

ภูมิภาคอเมริกา 

คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 จำนวนประมาณ 4.71 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 25,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ซึ่งทุกตลาดในภูมิภาคอเมริกามีจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาใกล้เคียงเทียบเท่าระดับช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 ปี 2562 แล้วในช่วง 3 เดือนสุดท้ายปี 2567 โดยนักท่องเที่ยวนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ภูเก็ต และเชียงใหม่

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง มีดังนี้

  • ด้านการบิน
    • Air Canada กลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินตรง แวนคูเวอร์-กรุงเทพฯ ในตารางการบินฤดูหนาว ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม 2567 – 29 มีนาคม 2568 
    • ยอดจองบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้ามายังประเทศไทยมีทิศทางสดใส ช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 พบว่า ยอดจองฯ จากภูมิภาคอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 โดยตลาดบราซิล มียอดจองฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 แคนาดา เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 และสหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 ตามลำดับ 

ทั้งนี้ ตลาดสหรัฐฯ ติด 1 ใน 10 อันดับตลาดที่มียอดจองฯ เข้าประเทศไทยสูงสุดช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 (วันที่ 21 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2568) เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า (ที่มา: ระบบ ForwardKeys)

  • การดำเนินงานส่งเสริมตลาดของสำนักงาน ททท. ภูมิภาคอเมริกา และพันธมิตร
    • จัดแคมเปญและร่วมงาน Expo & Trade Meet เจาะกลุ่มตลาด Leisure และครอบครัว ในงาน Ensemble Travel’s Horizons Conference 2024 ส่วนหนึ่งของกิจกรรม Co-op Sale Campaign ณ Resort World Las Vegas วันที่ 16-20 กันยายน 2567 และงาน Direct Access 2024 Conference (Direct Travel Trade Event) วันที่ 7-8 ตุลาคม 2567
    • ส่งเสริมการขายประเทศไทยเจาะกลุ่มคู่รัก อาทิ กิจกรรม Amazing Thailand – Romance Destination & Beyond Trade & Media Meet วันที่ 23 กันยายน 2567 และเข้าร่วมงาน Bridal Expo วันที่ 25 กันยายน 2567 ณ นครชิคาโก สหรัฐอเมริกา
    • จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายมุ่งเน้นไปที่กลุ่ม Luxury ในโครงการ Co-op Online Promotional Sales Campaign ‘Luxurious Thailand’ ร่วมกับบริษัท Goway Travel วันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 – 15 มีนาคม 2568
  • ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของชาวสหรัฐฯ ดีขึ้น หลังประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี (6 พฤศจิกายน 2567) เอื้อต่อการบริโภคของประชาชนและการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีการคาดหมายว่า โดนัล ทรัมป์จะสามารถดำเนินตามนโยบาย America First หลังรับตำแหน่ง โดยในเดือนพฤศจิกายนพบว่า ข้อมูลยอดขายบ้านมือสองในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.8 สู่ระดับ 4.15 ล้านยูนิต เทียบกับเดือนตุลาคม สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.09 ล้านยูนิต และยอดขายบ้านพุ่งขึ้นร้อยละ 6.1 เทียบกับปีที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 ปี นอกจากนี้ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐฯ เดือนธันวาคม ปรับลดลง 22,000 รายสู่ระดับ 220,000 ราย ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 229,000 ราย (ที่มา: Globex Group ณ วันที่ 20 ธ.ค. 2567) 

ปัจจัยอุปสรรคต่อการเดินทาง

  • ปัจจุบันยังไม่มีบินตรงเส้นทางกรุงเทพฯ จากสหรัฐฯ แต่ผู้โดยสารสามารถเดินทางมายังประเทศไทยโดยเที่ยวบินเชื่อมต่อในภูมิภาคเอเชียและตะวันออกกลาง โดยมีสายการบินต่างประเทศให้บริการ อาทิ ANA, EVA Air, Korean Air, Japan Airlines, Emirates, Etihad และ Turkish Airlines – United Airlines ซึ่งมีฐานการบินที่ท่าอากาศยานโอแฮร์ ชิคาโก ทั้งนี้การสำรองที่นั่งมายังประเทศไทยจะดำเนินการโดย ANA และ EVA Air เป็นหลัก

 

ภูมิภาคเอเชียใต้ 

คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียใต้เดินทางเข้าไทยในเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 จำนวน 7.07 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 28,556 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566

ตลาดอินเดีย ยังคงเป็นตลาดที่มีการเติบโตดีต่อเนื่อง จำนวนและรายได้ทางการท่องเที่ยวสูงที่สุดในภูมิภาค อีกทั้งเป็นตลาดศักยภาพ ติด Top 3 ตลาดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยสูงสุด และอันดับ 4 ตลาดที่มีรายได้ทางการท่องเที่ยวสูงสุดในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567

ตลาดขนาดเล็กในภูมิภาคที่มีการเติบโตดีและจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวกลับมาสูงกว่าปีก่อนวิกฤต COVID-19 ปี 2562 ได้แก่ ศรีลังกา เพิ่มขึ้นร้อยละ 108 และปากีสถาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง มีดังนี้

  • จุดหมายทางการท่องเที่ยวไทยได้รับความนิยมมากที่สุดจากนักท่องเที่ยวอินเดีย สื่อโทรทัศน์ทรงอิทธิพลที่สุดของอินเดียประกาศรางวัล Best Cities to Visit in Southeast Asia โดยให้ “กรุงเทพมหานคร” ครองอันดับ 1 เมืองน่าเยือนที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนฮานอย กัวลาลัมเปอร์ บาหลี และมะนิลา อยู่อันดับ 2-5 ตามลำดับ
  • การยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) เพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจ และการทำงานระยะสั้น สิทธิพำนักในไทยได้สูงสุด 60 วัน ส่งเสริมความสะดวกในการเดินทางเข้าไทยและเพิ่มระยะเวลาพำนักในไทยได้นานขึ้น
  • ฤดูงานแต่งงานของชาวอินเดีย ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่ชาวอินเดียนิยมจัดงานแต่งงาน โดยการเดินทางมาจัดงานแต่งงานในไทยมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการจัดงานในอินเดีย สามารถช่วยเพิ่มรายได้และกระตุ้นการท่องเที่ยวไทยในระยะสั้น
  • จำนวนที่นั่งบนเครื่องบิน (Seat Capacity) และเส้นทางบินใหม่ 
    • Seat Capacity มีจำนวนรวม 1,154,418 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 31 จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 หรือฟื้นตัวร้อยละ 95 ของจำนวนที่นั่งปี 2562
    • การกลับมาเปิดให้บริการเส้นทางบินใหม่เข้าไทย จากตลาดอินเดีย เนปาล และศรีลังกา โดยบินตรงเข้าสู่กรุงเทพฯ และภูเก็ต โดยสายการบิน Thai Air Asia, Indigo, Thai Lion Air, Druk Air และ Thai Airways
  • การดำเนินกิจกรรมด้านตลาดการท่องเที่ยวของ ททท. ร่วมกับพันธมิตร เพื่อกระตุ้นการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียใต้ อาทิ
    • ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทย จัดกิจกรรมกระตุ้นการขาย รายการนำเที่ยว สินค้า และบริการทางการท่องเที่ยวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ร่วมกับ Make My Trip, Goibibo, Yatra และ Ease My Trip 
    • สร้างการรับรู้และกระตุ้นการเดินทางเข้าไทย จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในการส่งเสริมการขายร่วมกับสายการบิน Air Asia นำนักท่องเที่ยวอินเดียประมาณ 6,500 คน เดินทางมายังประเทศไทยในเส้นทางบินเปิดใหม่ คือ เจนไน-ภูเก็ต และ ไฮเดอราบาด-กรุงเทพฯ
    • ส่งเสริมการเดินทางของกลุ่มครอบครัว โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับบริษัท D’Pauls เพื่อนำเสนอการท่องเที่ยวไทยผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อออนไลน์ Banner และเว็บไซต์

 

ภูมิภาคโอเชียเนีย 

คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคโอเชียเนียเดินทางเข้าไทยเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 จำนวน 2.60 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 15,494 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยทั้งด้านจำนวนและรายได้มีอัตราการเติบโตมากกว่าปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 

ตลาดออสเตรเลีย เป็นตลาดหลักของภูมิภาคที่มีจำนวนและรายได้ทางการท่องเที่ยวสูงที่สุด และติดอันดับ 10 ตลาดศักยภาพของไทยที่มีรายได้ทางการท่องเที่ยวสูงสุด ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง มีดังนี้

  • การเติบโตของตลาด Outbound ในออสเตรเลียปี 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 เทียบกับปี 2566 โดยเฉพาะตลาดเอเชียที่มีการเติบโตสูงที่สุด (ททท. สำนักงานซิดนีย์, ธ.ค. 2567) 
  • ประเทศไทย ติดอันดับ 10 ประเทศจุดหมายท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวออสเตรเลียเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุดในปี 2567 ในขณะที่จุดหมายท่องเที่ยวต่างประเทศ 3 อันดับแรก คือ นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา และอินโดนีเซีย (ที่มา: ForwardKeys, วันที่ 17 ธ.ค. 2567)
  • จำนวนที่นั่งบนเครื่องบิน (Seat Capacity) และเส้นทางบินใหม่ 
    • Seat Capacity มีจำนวนรวม 260,879 ที่นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 49 จากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2566 และมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 เทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤต COVID-19
    • การกลับมาให้บริการเที่ยวบินจากตลาดออสเตรเลียของสายการบิน JetStar, Thai Airways และ Thai AirAsiaX ในเส้นทางเพิร์ท-กรุงเทพฯ เพิร์ท-ภูเก็ต ซิดนีย์-กรุงเทพฯ และบริสเบน-กรุงเทพฯ
  • การดำเนินกิจกรรมด้านตลาดการท่องเที่ยวของ ททท. ร่วมกับพันธมิตร เพื่อกระตุ้นการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคโอเชียเนีย 
    • มุ่งเน้นเจาะตลาดกลุ่มท่องเที่ยวเชิงหรูหรา (Luxperience) โดยนำผู้ประกอบการเอกชนเข้าร่วมงานส่งเสริมการขาย Luxperience 2024 เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวระดับ Luxury ของประเทศไทย วันที่ 19-22 พฤศจิกายน 2567 ณ นครซิดนีย์ ออสเตรเลีย
    • กิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับสายการบิน / Travel Agent & Fam Trip 
      • ททท. สำนักงานซิดนีย์ ร่วมกับ EVA Air นำ Travel agents จากเมือง Brisbane และใกล้เคียงเข้ามาร่วมกิจกรรม Agent Fam Trip และ Business Matching ในเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ เพื่อเจรจาทางธุรกิจกับผู้ประกอบการและต่อยอดการเสนอขายสินค้าและบริการประเทศไทย ระหว่างวันที่ 15-21 กันยายน 2567 
      • ททท. สำนักงานซิดนีย์ นำ Golf Agents และ Golf Media เข้ามาร่วมงาน Thailand Golf Travel Mart (TGTM) 2024 เพื่อเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวด้านกีฬากอล์ฟ รีสอร์ตและโรงแรมที่พักของไทย สร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงกีฬา และสุขภาพระดับโลก (World Class Sports and Health & Wellness Destination) ณ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 17-19 กันยายน 2567 

ภูมิภาคตะวันออกกลาง 

คาดว่า มีนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคตะวันออกกลางเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 จำนวน 2.69 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 46 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 20,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 54 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยตลาดภูมิภาคตะวันออกกลางมีการฟื้นตัวด้านจำนวนสูงที่สุด เมื่อเทียบกับภูมิภาคตลาดอื่น ๆ คิดเป็นร้อยละ 160 ของจำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงเดียวกันปี 2562

 

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง มีดังนี้

  • นักท่องเที่ยวแสวงหาประสบการณ์ใหม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางมาประเทศไทยครั้งแรก (First Visit) อาทิ Gen-Y ในตลาดซาอุดีอาระเบียที่มีความสนใจ ต้องการสัมผัสบรรยากาศงานเทศกาลประเพณีไทย เช่น เทศกาลลอยกระทง เป็นการเปิดประสบการณ์ท่องเที่ยวไม่ซ้ำใครผ่าน “5 Must Do in Thailand” ในมิติของ MUST See
  • วันหยุดพิเศษของตลาด UAE ช่วงสิ้นปี 2567 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศวันหยุดยาว “EID AL ETIHAD เฉลิมฉลองครบรอบ 53 ปีของการก่อตั้งประเทศ” ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 30 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2567 ซึ่งตรงกับวันหยุดสุดสัปดาห์ที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ลาหยุดพักผ่อนต่อเนื่องไปจนถึงวันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม 2567 เป็นแรงหนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ
  • การเปิดเที่ยวบินตรงของสายการบิน SAUDIA จากเมืองริยาดและเจดด้า เข้าภูเก็ต ในเดือนธันวาคม 2567 เป็นต้นไป รวมถึงการเพิ่มความถี่ของสายการบิน Air Arabia เส้นทางบินชาร์จาห์-กรุงเทพฯ 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์ จาก 10 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ในช่วง Winter Break ซาอุดีอาระเบีย 
  • ยอดจองบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้ามายังประเทศไทยอยู่ในทิศทางดี เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 โดยในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 พบว่า ยอดจองฯ ภูมิภาคตะวันออกกลาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ตลาดที่มียอดจองฯ เพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาค ได้แก่ โอมาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 และซาอุดีอาระเบีย เพิ่มขึ้นร้อยละ 42 (ที่มา: ระบบ ForwardKeys)
  • การจัดกิจกรรมมุ่งเน้นเจาะกลุ่มตลาด Luxury อย่างต่อเนื่องของ ททท. สำนักงานดูไบ คาดว่าจะสร้างโอกาสทางธุรกิจและต่อยอดการขายประเทศไทย อาทิ
    • กิจกรรม “The Middle East Luxury Trade Meet 2024” วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 เจรจาธุรกิจกับ UAE Luxury Buyers จำนวน 80 ราย 
    • กิจกรรม TAT-Saudia Inaugural Flight Media FAM Trip นำคณะสื่อมวลชนจากซาอุดีอาระเบีย เดินทางไปภูเก็ตและกรุงเทพฯ เพื่อประชาสัมพันธ์เส้นทางบินใหม่จากซาอุดีอาระเบียเข้าภูเก็ต

สำหรับตลาดอิสราเอลเดินทางเข้าไทย มีจำนวนประมาณ 8.77 หมื่นคน ขยายตัวร้อยละ 184 และสร้างรายได้การท่องเที่ยวประมาณ 7,806 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 191 โดยได้แรงหนุนจาก

  • ประเทศไทยยังคงเป็นเป้าหมายจุดหมายปลายทางระยะไกล อันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวอิสราเอล 
  • สายการบิน El Al Israel Airlines เที่ยวบินตรงเข้ากรุงเทพฯ และภูเก็ต ประเทศไทยให้บริการปกติ แม้เป็นช่วงที่มีสถานการณ์ความไม่สงบของสงครามในพื้นที่ 
  • นักท่องเที่ยวต้องการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้นในช่วงสิ้นปี 2567 จากข้อมูลการจองบัตรโดยสารเครื่องบินล่วงหน้าเข้าประเทศไทยในระบบ ForwardKeys พบว่า 
    • ตลาดอิสราเอล มียอดจองฯ ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 101 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 
    • มีแนวโน้มจองฯ เพิ่มขึ้นสูงโดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ของอิสราเอลตลอดทั้งเดือนตุลาคม ได้แก่ Rosh Hashana (3-6 ตุลาคม 2567) Yom Kippur (11-13 ตุลาคม 2567) Sukkot (17-20 ตุลาคม 2567) และ Shemini Atzeret (24-27 ตุลาคม 2567) 
    • ในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 (21 ธันวาคม 2567 – 1 มกราคม 2568) พบว่า มียอดจองฯ จากตลาดอิสราเอล เพิ่มขึ้นร้อยละ 153 เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า

 

ภูมิภาคแอฟริกา 

คาดว่า สถานการณ์ตลาดแอฟริกาเข้าไทยคึกคักขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 โดยเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2567 คาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยประมาณ 5.93 หมื่นคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 50 สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 2,892 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 55 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 

ตลาดหลักแอฟริกาใต้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวประมาณ 2.33 หมื่นคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 โดยนักท่องเที่ยวชาวแอฟริกาใต้เลือกเดินทางด้วยเที่ยวบินผ่านไนโรบีมายังประเทศไทย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าการบินตรงจากแอฟริกาใต้ไปยังกรุงเทพฯ ในขณะที่ตลาดอื่น ๆ ในภูมิภาคแอฟริกา มีจำนวนประมาณ 3.59 หมื่นคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง มีดังนี้

  • ประเทศไทย อันดับ 3 จุดหมายปลายทางท่องเที่ยวสำหรับวันหยุดฤดูร้อนปลายปี 2567 ของชาวแอฟริกาใต้ รองจากมอรีเชียสและเคปทาวน์ ผลสำรวจโดย Travel News Digi mag 
  • เศรษฐกิจประเทศ Emerging ในภูมิภาคแอฟริกาเติบโตดีหนุนการเดินทางท่องเที่ยวของตลาดดาวรุ่งเคนยาและเอธิโอเปีย นักท่องเที่ยว Outbound ทั้ง 2 ตลาดกำลังเติบโตต่อเนื่อง และประเทศไทยจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะไกลยอดนิยม โดยได้รับแรงผลักดันจากการเติบโตทางเศรษฐกิจและชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น 
  • การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยวชาวเอธิโอเปีย กลุ่มทัวร์และแพ็กเกจท่องเที่ยวได้รับความนิยมในหมู่นักท่องเที่ยวชาวเอธิโอเปีย โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางไปประเทศไทยครั้งแรก นอกจากนี้นโยบายวีซ่า/ความสะดวกในการขอวีซ่าเข้าไทยสำหรับพลเมืองเอธิโอเปียมีผลสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางในการเดินทาง
  • กิจกรรมการส่งเสริมการตลาดของ ททท. สำนักงานดูไบ ร่วมกับพันธมิตร มุ่งเน้นกลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬา นำคณะผู้แทนบริษัทนำเที่ยวและสื่อมวลชนเข้าร่วมกิจกรรม Thailand Golf Travel Mart (TGTM) 2024 สำรวจสินค้าและบริการเกี่ยวกับกีฬากอล์ฟในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล วันที่ 16-20 กันยายน 2567

 

Share This Story !

9.6 min read,Views: 2568,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    เมษายน 27, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    เมษายน 27, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    เมษายน 27, 2025