เทคโนโลยีที่ช่วยให้เราใช้ชีวิตสีเขียวได้

 

 

นพพล อนุกูลวิทยา

 

 

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อุณหภูมิความร้อนทำสถิติสูงสุดในหลายพื้นที่ทั่วประเทศไทย ความร้อนในระดับนั้นทำให้หลายคนเริ่มตระหนักในปัญหาภูมิอากาศโลกแปรปรวนมากขึ้น และกังวลว่าจะร้อนขึ้นกว่านี้ในปีต่อไปหรือไม่ แล้วเราจะใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างไร ทำให้เราต้องเริ่มกลับมาสำรวจตัวเองกันอีกครั้งว่า เรากำลังเป็นส่วนหนึ่งของปัญหานี้ และจะช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่

 

ด้วยภาระของแต่ละคน อาจไม่ได้หมายความว่าเราต้องออกไปช่วยกันดับไฟป่า เก็บขยะในแม่น้ำ หรือพากันออกไปปลูกป่า แน่นอนว่ามันคงจะดี ถ้าเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือภารกิจเหล่านั้นได้ แต่หากไม่สามารถทำได้ เพียงแค่เราพยายามลดการเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการบริโภคอุปโภคในสิ่งที่ไม่จำเป็น เช่น เริ่มจากการแยกขยะ ลดการใช้หลอด ลดการใช้พลังงาน เป็นต้น ซึ่งในทุกวันนี้ก็มีเทคโนโลยีหรือเครื่องมือ ที่ช่วยให้เราทำได้ง่ายขึ้นอีกด้วย จึงอยากลองพาทุกคนไปดูเทคโนโลยีใกล้ตัวทั่วโลกที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมกัน

การจัดการขยะ 

คนไทยเราสร้างขยะเฉลี่ยมากกว่า 400 กิโลกรัมต่อปี แม้ไม่ได้สูงติดอันดับโลก แต่การที่ทุกคนสามารถจัดการขยะให้ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลดปริมาณหรือนำไปรีไซเคิล ย่อมช่วยให้ปัญหาขยะที่กระทบสิ่งแวดล้อมลดลงได้มาก ในประเทศไทยเรามีแพลตฟอร์มที่ชื่อ Trash Lucky ที่ให้เรารวบรวมขยะรีไซเคิลที่เป็นแก้ว พลาสติก กระดาษ และโลหะ แล้วนำส่ง โดยสามารถลุ้นโชคเป็นรางวัลสร้อยคอทองคำทุกเดือน ยิ่งส่งมากยิ่งมีโอกาสมากขึ้น

การเดินทางขนส่งที่ยั่งยืน

อันที่จริงแล้ว การเดินทางที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมคือการใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ อย่างในหลายประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีการวางระบบขนส่งมวลชนที่ครอบคลุมและต่อเนื่อง ทั้งรถประจำทางและรถไฟราง ไม่เพียงแค่การใช้ระบบขนส่งมวลชน แต่การปรับเปลี่ยนมาใช้พาหนะที่เป็นพลังงานสะอาดอย่าง EV แทนก็มีส่วนช่วยได้บ้างแล้ว 

 

นอกจากนี้ ยังมีทางเลือกที่น่าสนใจ อย่างในประเทศอังกฤษมีแอปพลิเคชันที่ชื่อ BlaBlaCar เป็นแพลตฟอร์ม Carpool สำหรับทางเดียวกันไปด้วยกัน โดยหากเรามีแผนจะเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปพัทยาในวันเวลาใด เราก็ไปลงข้อมูลไว้ หากมีคนจะติดรถไปด้วยกัน ก็สามารถเลือกจองและแชร์ค่าน้ำมันด้วยกันได้ โดยได้มีการศึกษาว่าในสหรัฐอเมริกานั้น หากทุกคนใช้ Carpool ด้วยกัน อาจจะช่วยลดการบริโภคน้ำมันได้มากถึง 300 ล้านลิตรต่อปีเลยทีเดียว


การติดตามสภาพอากาศ

ในความเป็นจริงแล้ว เพียงแค่การติดตามคุณภาพอากาศอย่าง AirVisual ที่คอยแจ้งระดับมลพิษ PM2.5 ในอากาศ หรือ Weather ที่เป็นแอปพลิเคชันติดตามสภาพอากาศ ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น และอื่น ๆ นั้น ไม่ได้ช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น หากเพียงแต่ช่วยให้เราตระหนักถึงความรุนแรงของสภาพอากาศที่เลวร้ายและมีผลกระทบใกล้ตัวโดยตรงกับเรามากขึ้น และในปัจจุบันแอปพลิเคชันเหล่านี้ ก็มีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นเชิงลึกและละเอียดมากขึ้นอีกด้วย

 

เมื่อสิบกว่าปีก่อน ในจังหวัดเชียงใหม่ยังไม่ได้ตระหนักถึงฝุ่นควันที่เกิดขึ้น บางครั้งคนในพื้นที่คิดว่าเป็นหมอก แม้หลังจากมีการค้นพบว่าเป็นฝุ่นพิษ PM2.5 ผู้คนก็ยังไม่ได้ตื่นตัวมากนัก แต่เมื่อมีการใช้แอปพลิเคชันที่แจ้งเตือนระดับความรุนแรงของฝุ่น PM2.5 อย่างแพร่หลายมากขึ้น ผู้คนจึงรู้สึกถึงความรุนแรงและรู้สึกว่าเป็นสิ่งใกล้ตัว จึงมีการตื่นตัวค้นหาต้นตอของปัญหา หรือแม้กระทั่งการเข้าแอปพลิเคชัน Weather ใน iOS ก็จะพบว่า มีการนำข้อมูลสถิติอุณหภูมิย้อนหลังเฉลี่ยมานำเสนอ ผู้คนจึงเริ่มตระหนักว่า ในปีนี้อากาศร้อนกว่าที่ผ่านมามากถึง 2 องศาเซลเซียส สร้างความตื่นตัวเกี่ยวกับปัญหาภูมิอากาศแปรปรวนมากยิ่งขึ้นด้วย

การระดมทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม

แม้ว่าภารกิจในบางเรื่องเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอาจจะยากเกินไปจากภาระที่เรามีอยู่ โลกใบนี้ก็ยังไม่สิ้นหวัง เพราะยังมีคนที่มีไอเดียดี ๆ และพร้อมจะลงแรงไปกับโปรเจกต์เพื่อสิ่งแวดล้อมอีกจำนวนมาก จนบางโปรเจกต์เรา อาจจะอยากมีส่วนช่วยบางอย่าง หรืออย่างน้อยแค่ได้สนับสนุนเงินทุนให้กับโปรเจกต์เหล่านั้นก็ยังดี

 

แพลตฟอร์มอย่าง GofundMe.com ที่ให้คนที่มีพลังและไอเดียดี ๆ ได้มีพื้นที่ระดมทุนเพื่อทำให้ไอเดียนั้นเกิดขึ้นจริง ซึ่งไอเดียเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก และอาจเป็นแค่โปรเจกต์เล็ก ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ระดมทุนเพื่อต่อสู้กับการวางผังเมืองที่กระทบต่อป่าไม้ดึกดำบรรพ์ใน Isle of Wight ทางตอนใต้ของประเทศอังกฤษ หรือการระดมทุนเพื่ออนุรักษ์สัตว์ป่าในประเทศนามิเบีย เป็นต้น 

 

หรือแพลตฟอร์มอย่าง kickstarter.com ที่มีคนที่มีไอเดียผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่น่าสนใจ โดยเราสามารถเข้าไป สนับสนุนเงินทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การสนับสนุนเงินทุนอย่างเดียว หรือสนับสนุนให้ถึงยอดเงินหนึ่ง และเมื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สำเร็จแล้ว เราก็จะได้ผลิตภัณฑ์นั้นมาด้วย โดยตัวอย่างไอเดียผลิตภัณฑ์ เช่น นำอวนจับปลาที่ไม่ใช้แล้วมาพัฒนาเป็น Skateboard, ลำโพงพกพาที่ผลิตจากถุงพลาสติกและแบตเตอรี่ของจักรยานไฟฟ้ารีไซเคิล หรือแม้แต่การ์ดเกมที่ช่วยให้รักษ์โลกมากขึ้น

 

โลกเรากำลังเผชิญกับสภาวะอากาศที่แปรปรวนอยู่ใช่หรือไม่? น่าจะเป็นคำถามที่ทุกคนตอบได้ตรงกันที่สุดจนแทบจะเป็นเอกฉันท์ ทุกคนกำลังเผชิญกับผลกระทบของมันมากขึ้นเรื่อย ๆ เราต่างเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา และก็เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาได้เหมือนกัน และแม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีหรือเครื่องมือที่ช่วยให้เราเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาได้ แต่ถ้าเรายังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเองเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือผัดวันประกัน พรุ่งไปเรื่อย ๆ ก็คงไม่อาจทำให้โลกของเราดีขึ้นได้ เพราะเราอาจคิดว่าบ้านเราน้ำยังไม่ท่วม ร้อนก็มีแอร์ หนาวก็มีผ้าห่ม แต่อีกไม่นาน โลกของเราจะเดินผ่านจุดที่ไม่อาจแก้ไขให้ดีขึ้นได้แล้ว ในวันนั้น บ้านยกสูง แอร์ตัวใหญ่ ๆ ผ้าห่มหนา ๆ ก็ไม่อาจช่วยให้เราอยู่อย่างสบายได้อีกต่อไป 

 

มาเริ่มต้นจากเทคโนโลยีหรือเครื่องมือง่าย ๆ เหล่านี้กันตั้งแต่วันนี้กันเถอะ 

Share This Story !

0.9 min read,Views: 1413,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    มกราคม 26, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    มกราคม 26, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    มกราคม 26, 2025