จานนี้มีไมตรี: Gastrodiplomacy
พัชรวรรณ วรพล
“อาหาร” เป็นสิ่งสำคัญกับผู้คนทุกเพศวัย ทุกตำแหน่งการงานอาชีพ อาหารมีส่วนช่วยเพิ่มอรรถรสในการพูดคุย อาหารมีอิทธิพลในการสร้างความประทับใจและมิตรภาพอันดี ในการประชุมระดับชาติยังต้องมีการเลี้ยงอาหารรับแขกบ้านแขกเมือง จนสามารถกล่าวได้ว่า รสชาติ รูปลักษณ์ของอาหารแต่ละจาน วัฒนธรรมการกินอยู่ มีส่วนไม่น้อยในการสร้างบรรยากาศในวงสนทนา แม้จะต่างพื้นที่ต่างวัฒนธรรม ก็ทำให้การสื่อสาร เจรจาต่อรองทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับโลกเป็นไปอย่างราบรื่น เช่น ในปี 1972 ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสันของสหรัฐฯ สามารถใช้ตะเกียบในงานเลี้ยงอาหารค่ำกับนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ของจีน ซึ่งชาวตะวันตกน้อยคนนักจะใช้ตะเกียบเป็น สิ่งนี้นับเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนในขั้นหนึ่งแล้ว
นักวิชาการด้านการทูตระหว่างประเทศชาวอเมริกัน พอล ร็อคคาวเวอร์ (Paul Rockower) ได้คิดศัพท์ใหม่อย่าง “Gastrodiplomacy หรือ การทูตผ่านอาหาร” หรือ Culinary Diplomacy และ Food Diplomacy ว่าเป็นหนึ่งใน “การทูตภาคประชาชน” “การทูตสาธารณะ” (Public Diplomacy หรือ People’s Diplomacy) โดยกล่าวถึงไทยว่า เป็นประเทศแรกที่เริ่มทำการทูตผ่านอาหาร (Gastrodiplomacy) จากแคมเปญ Global Thai ในปี 2002 ที่มีเป้าหมายเพิ่มจำนวนร้านอาหารไทยในต่างแดน และตามด้วยโครงการ “ครัวไทยสู่โลก” ซึ่งส่งผลให้ร้านอาหารไทยมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 5,000 กว่าร้าน จนปัจจุบันนี้เป็น 20,000 กว่าร้านทั่วโลก กลายเป็นการสร้างแบรนด์ให้กับประเทศ (Nation Branding) และเป็นแบรนด์ที่กินได้ (Edible Nation Branding) ใครจะไปคาดคิดว่า “อาหาร” นั้นจะเป็นตัวสร้าง “แบรนด์” ให้กับประเทศได้
นอกจากนี้ผลพลอยได้ที่ตามมาคือ การลงนามข้อตกลงให้พ่อครัวแม่ครัวชาวไทยได้วีซ่าไปทำงานง่ายขึ้น การสร้างสัญลักษณ์ “Thai Select” ขึ้นเพื่อรับรองร้านอาหารว่าใช้พ่อครัวแม่ครัวชาวไทย ใช้วัตถุดิบและเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารที่นำเข้าจากประเทศไทย ซึ่งเมื่อก่อนนั้นจะเห็นได้ว่ารสชาติอาหารไทยผิดเพี้ยนไปมาก เนื่องจากส่วนประกอบและเครื่องปรุงหายาก เช่น น้ำปลา น้ำมะขามเปียก ที่หาได้แต่ในประเทศไทยเท่านั้น เมื่อต้องให้รสชาติคงอัตลักษณ์ความเป็นไทย เพียงแต่รู้จักการปรับรสชาติให้เข้ากับคนในพื้นถิ่น ทำให้ธุรกิจการส่งออกผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบเกี่ยวกับอาหารรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก สร้างมูลค่าและเม็ดเงินมหาศาลให้กับประเทศ โดยส่วนใหญ่จะมาจากเครื่องเทศและสมุนไพร เช่น มะกรูด ข่า ซึ่งปลูกในไทย เพราะในต่างประเทศก็เริ่มเป็นที่นิยมเนื่องจากใช้เป็นสมุนไพรเพื่อสุขภาพ รวมถึงบริษัททำบรรจุภัณฑ์ที่ต้องออกแบบให้สวยงามเพื่อดึงดูดใจผู้ซื้อ ต้องแข็งแรงทนทานเพื่อสะดวกในการขนส่ง นอกจากเรื่องธุรกิจการค้าแล้ว แน่นอนว่านี่คือการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยไปในตัวอีกด้วย
Gastrodiplomacy จึงเป็น Soft power ที่เผยแพร่วัฒนธรรมและพัฒนาภาพลักษณ์ของแต่ละชาติผ่านอาหาร ทำให้ผู้คนได้รู้จักสินค้านั้น ๆ ผ่านคุณสมบัติที่เป็นรสชาติและหน้าตาที่จดจำได้ง่าย บวกกับสื่อสังคมออนไลน์และอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมโยงผู้คนจากทุกมุมโลก ก็ทำให้เรื่องราวของอาหาร ส่วนผสม ผลิตภัณฑ์ แนวคิด เชฟชื่อดังจากประเทศต่าง ๆ เป็นที่รู้จักของเหล่าบรรดานักชิมทั่วโลกได้อย่างง่ายดาย จนทำให้เกิดการสนใจสั่งซื้อสินค้าและการเดินทางท่องเที่ยว
หลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับการนำอาหารมาเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เช่น
ไต้หวัน เปิดตัวแคมเปญที่นำเสนอประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางสำหรับผู้ที่ชื่นชอบอาหารจีน การทำให้ชานมไข่มุกไต้หวันมีชื่อเสียงและนิยมไปทั่วโลก
เกาหลีใต้ รัฐบาลเกาหลีใต้ยอมลงทุนกว่า 77 ล้านดอลลาร์กับ “Korean Cuisine to the World” หรือ “Global Hansik” เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์และทำให้คนรู้จักอาหารเกาหลีมากขึ้น เพิ่มจำนวนร้านอาหารเกาหลีทั่วโลก เปิดตัวสถาบันกิมจิให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล รวมถึงสนับสนุนภาคเอกชน เช่น โครงการ Kimchi Bus ให้ออกเดินทางเพื่อนำเสนอกิมจิแก่ชาวต่างชาติกว่า 30 ประเทศให้ได้ลองชิม
เลบานอน จัดแคมเปญ “Tasty Lebanon” เพื่อแสดงให้เห็นถึงการทำอาหารแบบดั้งเดิมของชาวเลบานอนพลัดถิ่น
อินเดีย จัดแสดงงานฝีมือและอาหารจากทั้ง 28 รัฐของอินเดียในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง Dilli Haat ซึ่งเป็นตลาดสไตล์ชนบท
ไทย โฆษณาของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่นำเสนอเมนู “ผัดไทย” ผ่านการเล่าเรื่องของวัตถุดิบแต่ละชนิดว่ามาจากที่ใดบ้างนั้น เหมือนได้พาผู้ชมไปรู้จักสถานที่ท่องเที่ยว วัฒนธรรมประเพณีที่น่าสนใจของไทยมากมาย อีกทั้งผัดไทยยังมีรสชาติกลมกล่อมถูกปากชาวต่างชาติ ร้านอาหารไทยในต่างแดนแทบทุกร้านต้องมีผัดไทย ทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก แถมปัจจุบันนี้ยังทำกินเองได้ไม่ยาก เพราะมีผลิตภัณฑ์น้ำปรุงรสผัดไทยจำหน่ายไปทั่วโลก
การผลักดันอาหารประจำชาติ “วาโชกุ” ของญี่ปุ่น และ “Street Food” ของสิงคโปร์ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การยูเนสโก รวมถึงผลโพล 50 อันดับอาหารที่คนชื่นชอบที่สุดในโลกปี 2021 โดยซีเอ็นเอ็นทราเวล (CNN Travel) ที่พบว่า “แกงมัสมั่น” ของไทยมาเป็นที่หนึ่ง ต้มยำกุ้งอันดับ 8 และส้มตำอันดับที่ 46 ทำให้นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยเดินทางมาประเทศไทย โดยหนึ่งในเหตุผลหลักคือ ต้องการมาชิมอาหารไทยด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการปรับภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลกในเชิงบวกว่าเมืองไทยไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยวทางเพศหรือแค่มาดูช้าง แต่เมืองไทยคือสวรรค์ของนักชิม
เพราะฉะนั้น “อาหาร” จึงไม่ใช่แค่เรื่องปากท้อง แต่ยังเป็นการสร้างความรู้สึกผูกพันและความภาคภูมิใจในอาหารพื้นเมืองของตน ซึ่งมีความสำคัญทางสังคมและวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง การให้ผู้คนแต่ละชุมชนรู้จักเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาวัฒนธรรม ปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐาน สร้างสรรค์กิจกรรม เพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์ ต่างมีส่วนส่งเสริมทางอ้อมให้กับเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของแต่ละพื้นที่ รวมถึงการสนับสนุนและให้ความร่วมมือจากภาครัฐทั้งเม็ดเงินและนโยบาย ล้วนมีความสำคัญเป็นอย่างมากในการส่งเสริม Gastrodiplomacy เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติรายใหม่ ๆ และผลักดันให้ประเทศเป็นจุดหมายปลายทางด้านอาหารอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
ที่มา:
https://www.finedininglovers.com/article/gastro-diplomacy
https://www.youtube.com/watch?v=fAnrkQR0fmY
https://www.thestructure.live/
http://www.gastrodiplomacy.net/gd-explanation
https://www.confluxcenter.org/eastern-gastrodiplomatic-efforts/
https://perfectlink.co.th/wp-content/uploads/2022/05/Storytelling-200522.pdf
https://www.brandbuffet.in.th/2016/02/padthai-noodle-how-to-cook/
https://www.thestorythailand.com/07/02/2022/54557/