ลบภาพจำ นักท่องเที่ยวชาวเยอรมนีปรับตลาดสู่คุณภาพผ่าน Local Experience

พวกเขาจริงจังกับการพักร้อนมาก มากเสียจนบางทีก็ดูไม่ออกว่าเขาสนุกกันอยู่หรือเปล่า

แอนดรู เอมส์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ germanyiswunderbar.com

1 ภาพจำ และภาพปัจจุบัน

นักท่องเที่ยวชาวเยอรมนีเมื่อเอ่ยถึงคำคำนี้สิ่งที่คนทั่วไปมักจะนึกถึงเป็นอย่างแรกคือภาพนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกนอนอาบแดดนิ่งๆ ทั้งวันอยู่ข้างสระว่ายน้ำ พวกเขาทำงานหนักมาตลอดทั้งปีและต้องการใช้ช่วงเวลาพักร้อนเพื่อการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ภาพจำนี้ประกอบกับภาพเหมารวมหรือ Stereotype ว่าชาวเยอรมันทั่วไปเป็นคนเคร่งขรึมจริงจังไม่มีอารมณ์ขันทำให้นักท่องเที่ยวชาวเยอรมนีมักจะถูกล้อเลียนโดยชาวประเทศอื่นๆที่โดนแย่งที่ข้างสระว่ายน้ำมาโดยตลอดแต่ถึงจะล้อเลียนอย่างไรนักท่องเที่ยวเยอรมนีก็ยังเป็นกลุ่มลูกค้าที่แต่ละประเทศต้องการดึงดูดให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศของตนอยู่ดี สำหรับประเทศไทยแล้ว เยอรมนีเป็นตลาดนักท่องเที่ยวขนาดใหญ่อันดับ 3 ของภูมิภาคยุโรปทั้งด้านจำนวนและรายได้ โดยในปี 2559 มีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมนีเดินทางเข้าไทย 825,496 คน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปี 2558 สร้างรายได้ให้กับประเทศไทย53,390ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ12จึงกล่าวได้ว่าตลาดนักท่องเที่ยวเยอรมนีเป็นตลาดที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย

 

อย่างไรก็ตามในช่วงระยะเวลา5ปีที่ผ่านมาค่าใช้จ่ายต่อทริปของตลาดเยอรมนีมีแนวโน้มเติบโตในระดับคงที่ โดยมีอัตราเติบโตต่ำสุดในกลุ่มยุโรปขนาดใหญ่ หรือไม่เกิน 67,000 บาทต่อคนต่อทริปในแต่ละปี ทำให้เยอรมนีตกอยู่อันดับท้ายสุดของกลุ่มตลาดขนาดใหญ่จากที่เคยมีอันดับการใช้จ่ายติด 1 ใน 3 ของกลุ่มในอดีต หากดูลักษณะของตลาด กล่าวได้ว่าตลาดเยอรมนีเป็น Mature Market หรือตลาดเก่าของประเทศไทย โดยนักท่องเที่ยวชาวเยอรมนีเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง รู้จักประเทศไทยดี มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวเดินทางซ้ำ (Repeater) ประมาณ 2 ใน 3 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวประเภท FIT โดยนักท่องเที่ยวแบบ Group Tour มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น และเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 94) เดินทางมาประเทศไทยด้วยวัตถุประสงค์เพื่อการพักผ่อน

 

หากพิจารณาโครงสร้างของตลาดจะพบว่านักท่องเที่ยวชาวเยอรมนีที่เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยส่วนใหญ่ ร้อยละ 47 เป็นผู้มีรายได้ระดับกลาง (รายได้ส่วนตัวระหว่าง 20,000 ถึง 60,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี) ในขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบน (รายได้มากกว่า 60,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี) เป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ19และมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆดังนั้นความท้าทายของประเทศไทยในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลาดเยอรมนี คือทำอย่างไรเพื่อจะปรับโครงสร้างตลาดไปสู่กลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบน หรือเรียกได้อีกอย่างว่านักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูงและประเทศไทยจะปรับภาพลักษณ์ของตนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพหรือQualityDestinationที่มีความสดใหม่รวมทั้งกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการนำเสนอสินค้าและกิจกรรมใหม่ๆ ที่ตรงกับพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร

 

2 ‘Thailand’s been overdone by now…’


ผลการศึกษาจากโครงการศึกษาตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มคุณภาพสูง เยอรมนี ฝรั่งเศส และสวีเดนจัดทำโดยกองวิจัยการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ บริษัท อินทัช รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด และบริษัท แฮทส์ คอนซัลติ้ง แอนด์ รีเสิร์ช เพื่อประมาณการจำนวน และศึกษาปัจจัยทางการตลาดทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานที่มีต่อการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของ
นักท่องเที่ยวคุณภาพสูง หรือ High-value Travelers ในประเทศเยอรมนี ฝรั่งเศส และสวีเดน พบว่านักท่องเที่ยวคุณภาพสูงชาวเยอรมนีส่วนใหญ่(ร้อยละ63)ประเมินตนเองว่ารู้จักประเทศไทยดีหรือดีมาก โดยสิ่งแรกที่นึกถึงเมื่อมีการกล่าวถึงประเทศไทย คือ ทะเลและชายหาด (ร้อยละ 33) อาหาร (ร้อยละ 16) สภาพอากาศเขตร้อน (ร้อยละ 10) และวันหยุด (ร้อยละ 7)  ซึ่งเป็นการยืนยันว่าสำหรับชาวเยอรมนีแล้ว ประเทศไทยมีภาพลักษณ์เป็น Holiday Destination หรือแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการพักร้อนประเภทหาดทรายชายทะเลที่พวกเขาคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว

 

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงตามการศึกษามีข้อกำหนดว่าต้องเป็นผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เคยเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีรายได้ส่วนตัวสูงกว่า 65,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี นอกจากนี้ยังต้องผ่านการคัดแยกตามคุณลักษณะเฉพาะด้านทางจิตวิทยา เพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง หรือ High-value Travelers อย่างแท้จริง ซึ่งการศึกษาได้ประมาณการว่ามีนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงชาวเยอรมัน จำนวน 5.92 ล้านคน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองศูนย์กลางทางเศรษฐกิจตอนใต้ของประเทศ ได้แก่ มิวนิก ชตุทท์การ์ท แฟรงก์เฟิร์ต และโคโลญ ในจำนวนนี้มีเพียงร้อยละ 9 เท่านั้นที่เคยเดินทางมาประเทศไทย ในขณะที่ร้อยละ91ยังไม่เคยเดินทางมาประเทศไทยเลย

ในการสัมภาษณ์กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงชาวเยอรมันเพื่อทราบความคิดเห็นเชิงลึกเกี่ยวกับการเดินทางท่องเที่ยวผู้ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยกับประเทศไทยโดยมองว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ถูกพัฒนามากเกินไปแออัดไม่มีอะไรใหม่ที่น่าสนใจโดยเฉพาะกรุงเทพฯที่นักท่องเที่ยวมองว่าทุกอย่างเป็นการค้าขายหรือการแสดงถึงขั้นเรียกได้ว่าเป็นโรงงานสำหรับนักท่องเที่ยวหรือ‘TouristFactory’โดยพวกเขาสนใจที่จะเดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวที่มีความแปลกใหม่และน่าค้นหาอย่าง เวียดนาม กัมพูชา มากกว่า ดังนั้นถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีภาพลักษณ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สวยงามสำหรับนักท่องเที่ยว ชาวเยอรมันทั่วไปแต่ปัจจัยดังกล่าวเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้เกิดการเลือกเดินทางมาประเทศไทย โดยส่วนใหญ่ยังไม่มองว่าประเทศไทยเป็นเป้าหมายในฝัน (Bucket List) หรือเป้าหมายอันดับต้นๆ สำหรับการเดินทาง

 

อย่างไรก็ดี การสัมภาษณ์พบว่าประเทศไทยยังมีภาพลักษณ์เชิงบวกทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วัฒนธรรมด้านอาหาร ความเป็นเมืองพุทธ อัธยาศัยไมตรีของคนไทย และที่พักที่มีความหรูหราสะดวกสบาย ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย เปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งทั้งระยะเดินทางใกล้ (Short-haul) และระยะเดินทางไกล (Long-haul) ซึ่งพบว่านอกจากความโดดเด่นในเรื่องทะเลและชายหาดแล้ว ประเทศไทยยังมีภาพลักษณ์ ที่โดดเด่นด้านสปา วิถีชีวิตและวัฒนธรรม กิจกรรมดำน้ำ อาหาร และความมีอัธยาศัยที่ดีของคนท้องถิ่น

นอกจากนี้นักท่องเที่ยวที่เคยเดินทางมาประเทศไทยแล้วมีแนวโน้มที่จะมองภาพลักษณ์ของประเทศไทยดีกว่ากลุ่มที่ไม่เคยเดินทางมาในทุกด้าน โดยเฉพาะในเรื่องกิจกรรมวิถีชุมชน การแต่งงานและฮันนีมูน การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ซึ่งนำไปสู่ข้อเสนอของการศึกษาให้ประเทศไทยผนวกปัจจัยที่เป็นจุดแข็งเหล่านี้ โดยเฉพาะวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่สามารถส่งมอบประสบการณ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นแบบ Local Experienceควบคู่ไปกับการนำเสนอสินค้าประเภทหาดทรายชายทะเลเพื่อสร้างความแตกต่างและเสริมภาพลักษณ์ด้านบวกให้ประเทศไทยเป็นมากกว่าแหล่งท่องเที่ยวประเภท Sea, sand, sun ทั่วไป โดยใช้กระแสการบอกต่อจากคนรู้จัก (Word-of-mouth) หรือการบอกเล่าจากประสบการณ์จริง (Testimonial) เป็นแนวทางกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจเลือกเดินทาง

3 Local Experience, By the way

สำหรับนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันการท่องเที่ยวเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อหลบหนีจากความเครียดและกิจวัตร
ประจำวันแต่แม้ว่าพวกเขาจะให้ความสำคัญกับการพักผ่อนนอนเล่นมากกว่าการออกตระเวนท่องเที่ยวไป
ตามสถานที่สำคัญต่างๆพวกเขาก็ยังต้องการค้นหาประสบการณ์ที่แตกต่างซึ่งจะทำให้เกิดมุมมองหรือ
โลกทัศน์ใหม่ๆ ระหว่างการเดินทางด้วยเช่นกัน ประสบการณ์เหล่านี้อาจเป็นเรื่องราวทางวัฒนธรรม ศาสนา วิถีชีวิตอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น หรือภูมิทัศน์ทางธรรมชาติที่มีความโดดเด่นของแต่ละสถานที่

ทั้งนี้การศึกษาพบว่าปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเลือกจุดหมายทางการท่องเที่ยวต่างประเทศของนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูงชาวเยอรมัน ได้แก่ ความเป็นมิตรของคนท้องถิ่น (ร้อยละ 63) และวัฒนธรรมวิถีชีวิตท้องถิ่น(ร้อยละ63)ซึ่งเป็นปัจจัยที่กลุ่มคุณภาพสูงให้ความสำคัญสูงกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น หากต้องการดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูงชาวเยอรมันให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเราอาจต้องลบภาพจำของนักท่องเที่ยวที่ต้องการแค่การนอนอาบแดดริมชายหาดไปเสียก่อน

 

จากการศึกษาข้างต้น นักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูงชาวเยอรมันมองว่าการสัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่น หรือ Local Experience เป็นองค์ประกอบสำคัญในการเดินทางท่องเที่ยว โดยประสบการณ์ท่องเที่ยววิถีชุมชนต้องเป็นประสบการณ์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นหาไม่ได้จากที่อื่นเป็นวัฒนธรรมจริงแท้ของแต่ละพื้นที่ ไม่ได้เป็นการจัดฉากเพื่อนักท่องเที่ยว หรือทำไปเพื่อหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยพวกเขา
จะปฏิเสธทันทีหากรู้สึกว่ามีการเสแสร้งหรือไม่จริงใจโดยKeywordสำคัญของประสบการณ์วิถีท้องถิ่นที่น่าประทับใจสำหรับนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน คือ เป็นธรรมชาติ (Spontaneous) มีความโดดเด่นที่แตกต่าง (Unique)จริงใจ(Genuine)ทั้งนี้ความสะอาดและปลอดภัยก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกสถานที่ท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันทุกกลุ่ม

ผลการศึกษาสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินงานของททท.ในปี2561ซึ่งมุ่งต่อยอดการท่องเที่ยวแบบวิถีไทยซึ่งเป็นจุดแข็งที่แตกต่าง โดยลงลึกสู่ประสบการณ์วิถีท้องถิ่นไทย หรือ Unique Local Experience โดย กองวิจัยการตลาดททท.ได้ร่วมกับบริษัทแบรนด์เมทริกซ์รีเสิร์ชจำกัดดำเนินการศึกษาแนวโน้มและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มตลาดเฉพาะกลุ่มLocalExperienceเพื่อให้ทราบรูปแบบพฤติกรรมการท่องเที่ยวและปัจจัยด้านจิตวิทยา(CustomerInsight)ด้านการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเพื่อสัมผัสประสบการณ์แบบLocalExperienceผ่านการสัมภาษณ์นักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายมากกว่า 1,400 ราย กระจายตัวตามพื้นที่จังหวัดหลักทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย 10 จังหวัดทั่วประเทศ


นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันที่เดินทางมาประเทศไทยเพื่อประสบการณ์เยี่ยมชมหรือเรียนรู้วิถีชีวิตท้องถิ่น หรือนักท่องเที่ยวกลุ่ม Local Experience ที่ให้สัมภาษณ์ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 61.7) วางแผนมาท่องเที่ยวประเทศไทยเพียงประเทศเดียวในขณะที่ร้อยละ38.3มีแผนการเดินทางท่องเที่ยวประเทศอื่นร่วมด้วย โดยประเทศที่นักท่องเที่ยววางแผนเดินทางต่อ 3 อันดับแรกเป็นประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ลาว เวียดนาม และกัมพูชา

ร้อยละ50มีความต้องการที่จะนอนค้างภายในพื้นที่ชุมชนที่เดินทางท่องเที่ยวโดยส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการพักค้าง 2 คืน สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไม่ประสงค์จะพักค้าง ส่วนใหญ่จะใช้เวลาในการทำกิจกรรมหรือเยี่ยมชมชุมชนประมาณ 4 ชั่วโมง กิจกรรมวิถีชุมชนที่นักท่องเที่ยวนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ เรียนทำอาหารไทย (ร้อยละ 12) เรียนมวยไทย (ร้อยละ 12) ปั่นจักรยาน (ร้อยละ 8) พายเรือหรือนั่งเรือไปตามแม่น้ำลําคลอง (ร้อยละ 5) เดินป่า (ร้อยละ 5) โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการทำ

แต่ละกิจกรรมประมาณ 2,970 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวแบบ Local Experienceมีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยเท่ากับ3,987บาทต่อคนต่อวันซึ่งมากกว่าค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ใช้จ่ายประมาณ3,364บาทต่อคนต่อวัน(ข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยวกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไตรมาสที่ 2 ปี .. 2559 เพื่อให้ตรงกับช่วงเวลาของการเก็บข้อมูลภาคสนาม)

 

ปัจจัย3อันดับแรกที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญในการเลือกแหล่งท่องเที่ยวที่จะเดินทางท่องเที่ยวแบบ
วิถีชุมชน คือ การมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวภายในชุมชน (ร้อยละ 17) ประเภทหรือลักษณะของชุมชน
(ร้อยละ13)สภาพแวดล้อมหรือวิวทิวทัศน์ภายในชุมชน(ร้อยละ11)โดยที่พักที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเลือกคือ เกสต์เฮาส์ (ร้อยละ 30) รองลงมาคือ โฮมสเตย์ (ร้อยละ 27) สิ่งที่นักท่องเที่ยวคำนึงถึงมากที่สุดในการพักค้างภายในพื้นที่ชุมชนคือ ความปลอดภัย ความสะอาด ห้องน้ำสะดวก

 

สิ่งที่นักท่องเที่ยวรู้สึกว่าได้รับจากการมาท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชน ได้แก่ ประสบการณ์ที่น่าประทับใจ น่าจดจำ ซึ่งอาจเป็นประสบการณ์ที่นำไปเล่าต่อให้เพื่อนหรือคนรู้จักฟังได้ (ร้อยละ 84) การได้เพื่อนใหม่ ได้ปฏิสัมพันธ์กับคนท้องถิ่น (ร้อยละ 81) และการได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของพื้นที่ (ร้อยละ 73)

ผลการวิเคราะห์ปัจจัยในการเลือกแหล่งท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชนแบ่งตามลักษณะของการเดินทางท่องเที่ยวพบว่า นักท่องเที่ยวที่ต้องการเพียงแค่เข้าไปเยี่ยมชมหรือสัมผัสวิถีท้องถิ่นโดยไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรม จะให้ความสำคัญกับปัจจัยของความจริงแท้ (Authenticity) ของวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ได้พบเป็นหลัก ซึ่งตรงกับข้อสรุปที่ได้จากการสัมภาษณ์กลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงในโครงการวิจัยก่อนหน้า ในขณะที่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าไปเรียนรู้หรือทำกิจกรรมภายในชุมชนอย่างจริงจัง จะให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านความสะดวกสบายของที่พัก และโครงสร้างพื้นฐานภายในชุมชน (Life & Comfort) และความสามารถในการสื่อสารของคนท้องถิ่นเพื่อให้ได้รับประสบการณ์อย่างแท้จริง (True Experience) ด้วยเช่นกัน

 

4 The Green Link

ในปี 2561 ททท. มีแผนดำเนินการตลาดสำหรับภูมิภาคยุโรป คือโครงการ The Link ซึ่งเป็นนวัตกรรมการทำงานเชิงบูรณาการระหว่างสำนักงาน ททท. ในและต่างประเทศ เชื่อมโยงเมืองที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักในประเทศต่างๆ เข้ากับแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ
ของประเทศไทย อาทิ เลย แม่ฮ่องสอน สมุทรสงคราม โดยแต่ละเมืองมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ สามารถส่งมอบประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบวิถีชุมชนที่เป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นดั้งเดิมอย่างแท้จริงให้กับนักท่องเที่ยวไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านชาวไทยมูเซอท่ามกลางหุบเขาขบวนแห่ผีตาโขนในงานประเพณีบุญบั้งไฟของอำเภอด่านซ้าย หรือการปั่นจักรยานชมสวนมะพร้าวในชุมชนบางพลับ

 

สำหรับตลาดเยอรมนี ททท. สำนักงานแฟรงก์เฟิร์ต ร่วมกับ ททท. สำนักงานพังงา นำเสนอเส้นทาง ‘The Green Link’ ตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสวิถีชีวิตท้องถิ่นแบบ Urban สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวในอำเภอตะกั่วป่าซึ่งเคยเป็นเมืองท่าและแหล่งเหมืองแร่สำคัญในอดีต โดยย่านเมืองเก่าอำเภอตะกั่วป่ามีอาคารบ้านเรือนสไตล์ชิโนโปรตุกีสที่ยังคงสภาพเดิมไว้อย่างสมบูรณ์ มีภาพวาดแบบStreetArtตามอาคารต่างๆโดยนักท่องเที่ยวสามารถทดลองชิมอาหารท้องถิ่นที่เป็นการผสมผสานของวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมพื้นเมืองหรืออาหาร‘Nyonya’อันมีชื่อเสียงสำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเข้าไปเรียนรู้หรือทำกิจกรรมภายในชุมชนแบบ CBT (Community-Based Tourism)สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวชุมชนเกาะยาวน้อยชุมชนชาวมุสลิมที่ทำอาชีพประมงและเกษตรกรรมที่เน้นความยั่งยืนและการอนุรักษ์
สิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวสามารถลองเป็นชาวประมงได้หนึ่งวัน โดยจะออกเรือไปกับชาวประมงท้องถิ่น เรียนรู้วิถีการประมงแบบอนุรักษ์พักค้างที่โฮมสเตย์ภายในหมู่บ้านซึ่งเป็นโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และสัมผัสวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นได้อย่างแท้จริง

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยังมีแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่น่าสนใจ มีสถานที่แปลกใหม่ที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาค้นหา มีกิจกรรมแบบ Once in a lifetime experienceที่ไม่ซ้ำกับที่อื่นใดซึ่งตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูงชาวเยอรมันตามการศึกษา การนำเสนอการท่องเที่ยวแบบวิถีท้องถิ่นไทยจึงน่าจะเป็นวิธีการในการลบภาพจำแบบเดิมๆ ทั้งของประเทศไทย และของนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน ได้เป็นอย่างดี

 

แหล่งที่มา

1 โครงการศึกษาตลาดนักท่องเที่ยว ต่างประเทศกลุ่มคุณภาพสูง:
เยอรมนี ฝรั่งเศส และสวีเดน จัดทำโดย บริษัท อินทัช รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลแทนซี่ จำกัด
เพื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย


2 การศึกษาแนวโน้มและพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มตลาดเฉพาะ:
กลุ่ม Local Experience จัดทำโดย บริษัท แบรนด์ เมทริกซ์ รีเสิร์ช จำกัด
เพื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

3 Germany Performance 2016
จัดทำโดย งานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

4 สถิติจากกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
German Tourists: ‘Arrogant, Boring and Nude’. Oliver Smith. 31 July 2014.
www.telegraph.co.uk/travel/destinations/europe/germany/articles/German-tourists-arrogant-boring-and-nude/

 

เรื่อง : พนักงานวางแผน 5 งานวิจัยกองวิจัยการตลาด ททท.

Share This Story !

Published On: 06/02/2018,2.5 min read,Views: 648,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 3, 2023