จากอดีต  ถึงปัจจุบัน  : ความสัมพันธ์  ญี่ปุ่น-ไทย ไปมาหาสู่  

From Past to Present: Thailand – Japan Tourism Exchange 

In 2018, the Tourism Authority of Thailand  (TAT) opened the latest TAT overseas office  in Fukuoka, Japan. Throughout the past,  Japan has always been an important tourist  market for Thailand with potential to increase growth. 

The process of tourism promotion begins with understanding the target customers, therefore it is important to study the historical background of tourism relation in order to create a common future of tourism exchange.

ในปี 2561 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดสำนักงาน สาขาในต่างประเทศสาขาล่าสุดที่ เมืองฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมา ตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น เป็นตลาดที่มีศักยภาพและน่าจะเป็นตลาดที่มีอนาคตสำหรับประเทศไทย เห็นควรที่จะมุ่งส่งเสริมการตลาด

การส่งเสริมการท่องเที่ยว (Tourism Promotion) คือ การทำความรู้จัก การทำความเข้าใจในประเทศ และกลุ่มคนที่เราสนใจ จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการ ในการนำเสนอสินค้าและบริการที่เรามีสู่กลุ่มลูกค้าเหล่านั้น ดังนั้น มิติที่เราควรจะให้ความสำคัญ นอกจากสถานการณ์ในปัจจุบันแล้ว เราควรจะศึกษา ความเป็นมาในอดีต เพื่อออกแบบภาพอนาคต ด้านการเดินทางท่องเที่ยวร่วมกัน

  1. JAPAN NOW
  • ในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย  1,523,300 คน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 66,590 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 5,353 บาทต่อคนต่อวัน พักเฉลี่ย 8.0 วัน   
  • เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2559 พบว่า มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยว รายได้จากการท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย ยกเว้นวันพักเฉลี่ยที่ต่ำลงเล็กน้อย
  • นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่มาท่องเที่ยวในประเทศไทย ร้อยละ 80 เป็นกลุ่ม เที่ยวซ้ำ (Revisit) และกลุ่มนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ตรงกันข้ามกับ กลุ่มท่องเที่ยวครั้งแรก (First Visit) ที่มีเพียงร้อยละ 20 และมีอัตราเติบโตที่ลดลงทุกปี

  1. JAPAN in the past

2.1 นิยามอดีต (The Past)

  • สยามกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ยาวนานกว่า 600 ปี จากบันทึกประวัติศาสตร์ยืนยันว่า ประมาณ ค.ศ. 1425-1570 สยามกับญี่ปุ่น มีการค้าขายกันตั้งแต่สมัยอยุธยา โดยญี่ปุ่นส่งออกดาบซามูไร  เครื่องเคลือบดินเผา และผ้าคุณภาพดี
  • ในศตวรรษที่ 17 การค้าระหว่างญี่ปุ่นกับอยุธยายังคงดำเนินต่อไป โดยอยุธยาในยุคนั้น นอกจากการค้ากับญี่ปุ่นแล้ว ยังมีการค้าขาย กับชนชาติอื่น เช่น จีน ดัชต์ โปรตุเกส ฝรั่งเศส และอังกฤษ   
  • ชาวญี่ปุ่นที่เป็นบุคคลสำคัญและมีชื่อเสียงที่จำเป็นต้องกล่าวอ้างชื่อท่าน  คือ ยามาดะ นางะมาซะ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็น ‘ออกญาเสนาภิมุข’ และท่านยังเป็นหัวหน้าคนญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ที่หมู่บ้านญี่ปุ่น ซึ่งขณะนั้น มีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่ประมาณ 1,000-1,500 คน และปัจจุบัน หมู่บ้านญี่ปุ่น ได้กลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของอยุธยา   
  • ประเด็นที่น่าสนใจในศตวรรษที่ 17 คือ สินค้าหลักที่ญี่ปุ่นส่งมาขาย  เป็นสินค้าประเภทอาหาร อาทิ ซอสถั่วเหลือง ปลาตากแห้ง และสาหร่าย ในขณะที่สยามส่งข้าวไปขายในโอกินาวา เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต เหล้าอะวาโมริ   

จากการซื้อขายสินค้าในยุคนั้น พอจะอนุมานได้ว่า เริ่มมีการ mingle  กันในเรื่องอาหารแล้ว

  • พ.ศ. 2423 ผู้นำไทยใช้ญี่ปุ่นเป็นต้นแบบในการพัฒนาและปรับปรุง ประเทศ ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ระบุไว้ในแผนพัฒนาการเมืองฉบับแรกของไทย
  •  พ.ศ. 2430 กระทรวงการต่างประเทศสยาม ลงนามในปฏิญญาว่าด้วย พระราชไมตรีและการพาณิชย์ระหว่างประเทศสยามกับประเทศญี่ปุ่น มีการตั้งสถานเอกอัครราชทูตทั้งที่โตเกียวและกรุงเทพฯ

2.2 ขีดเส้นความสัมพันธ์ จากโรงเรียน สู่ โรงไหม

  • พ.ศ. 2453 ญี่ปุ่นส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไหม มาให้ความรู้ในการปรับปรุงคุณภาพไหมไทย จัดตั้งกองช่างไหม และส่งเสริมผลักดันให้โคราชเป็นศูนย์กลางในการเลี้ยงไหม
  • พ.ศ. 2445 รัชกาลที่ 6 สมัยยังดำรงตำแหน่งเป็นมกุฎราชกุมาร เสด็จเยือนประเทศญี่ปุ่น   
  • พ.ศ. 2447 รัฐบาลญี่ปุ่นส่ง มิส ยาซุอิ เท็ทสึ (Yasui Tetsu) มาเป็นครูใหญ่โรงเรียนราชินี พร้อมครูญี่ปุ่น อีก 2 ท่าน โดยสอนภาษาอังกฤษ คำนวณ วิทยาศาสตร์ วาดเขียน เย็บปัก และประดิษฐ์ดอกไม้แห้ง  
  • พ.ศ. 2453-2456 เริ่มมีคนญี่ปุ่นอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากขึ้น มีการตั้งสมาคมชาวญี่ปุ่นในไทย มีการเปิด โรงเรียนประถมศึกษาสำหรับเด็กญี่ปุ่นในไทย นอกจากนั้น ยังมีการตั้งสมาคมญี่ปุ่น-สยาม แห่งเมืองโกเบ  และสมาคมญี่ปุ่น-สยาม แห่งเมืองโอซากา
  • พ.ศ. 2474 รัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระบรมราชินีรำไพพรรณี เสด็จฯ เยือนประเทศญี่ปุ่น   
  • พ.ศ. 2502 ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1 รัฐบาลไทยสนับสนุนให้มีการลงทุนจากต่างประเทศ ในช่วงนั้นมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ จนมีการตั้งนิคมอุตสาหกรรมลำพูน  เมื่อ พ.ศ. 2528

2.3 ถักทอสายใยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในประเด็นด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทย ญี่ปุ่น มีหลายสิ่งที่เกิดขึ้นบนความสัมพันธ์อันดี ในฐานะมิตรประเทศที่เกื้อกูล หนุนเสริม ซึ่งกันและกัน ในโอกาสนี้ จะขอยกประเด็นที่นับว่ามีความสำคัญมาก ดังนี้

 

2.3.1 ศึกษาวิจัย

ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นด้านการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการวางรากฐานการพัฒนาการท่องเที่ยว (Tourism Planning) ตามหลักวิชาการ โดยเฉพาะการมุ่งเน้นศึกษาการวางแผนในพื้นท่ีเมืองหลักทางการท่องเที่ยวของไทย

  • ปี 2521 Japan International Cooperation Agency : JICA ให้ความช่วยเหลือด้านการจัดทำการศึกษา ความเหมาะสม เมืองพัทยา (Feasibility Study PATTAYA Tourism Development)  
  • ปี 2522 Pacific Consultants International Tokyo ร่วมกับ บริษัท Design 103 กรุงเทพ จัดทำการศึกษาแผนหลักและศึกษาความเหมาะสมด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวภูเก็ต (Master Plan & Feasibility  Study Tourism Development of PHUKET)
  • ปี 2531-2532 JICA ดำเนินการจัดทำแผนหลักพัฒนาการท่องเที่ยวภูเก็ตและภาคใต้ (Greater PHUKET  & Southern Thailand)

แผนพัฒนาการท่องเที่ยวในยุคเริ่มต้น มุ่งให้ความสำคัญกับการวางแผนกายภาพ (Physical Planning)  การกำหนดพื้นที่ท่องเที่ยว (Zoning) การใช้ที่ดิน (Land Use) การจัดการของเสีย (Waste) การอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ตลอดจนการเสนอแนะด้านองค์กรและกฎหมายลักษณะพิเศษที่มีประสิทธิภาพ ต่อการพัฒนาการท่องเที่ยว

 

2.3.2 สร้างกลไกงบประมาณ

ตั้งแต่ปี 2521 รัฐบาลไทยสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยเน้นการสร้างสิ่งอำนวย ความสะดวกพื้นฐานขนาดเล็ก ปีละประมาณ 20 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 150 ล้านบาท แต่เนื่องจากพื้นที่ท่องเที่ยวมีจำนวนมากและการพัฒนาหรือบำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยวต้องใช้เงินมากเช่นกัน ททท.จึงเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการเงินกู้กองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเล แห่งประเทศญี่ปุ่น (Overseas Economic Cooperation Fund : OECF)   

รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นความสำคัญเกี่ยวกับการรองรับนักท่องเที่ยว การเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับโครงสร้าง พื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก การรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

ดังนั้นในปี 2531 รัฐบาลญี่ปุ่นสนับสนุนงบประมาณภายใต้โครงการเงินกู้กองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โพ้นทะเลแห่งประเทศญี่ปุ่น (Overseas Economic Cooperation Fund : OECF) งบ OECF ที่ได้รับ การสนับสนุนในช่วงปี 2531-2546 ประมาณ 3,600 ล้านบาท ดำเนินการในเรื่องการพัฒนาและก่อสร้าง โครงข่ายการคมนาคมและสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน เช่น ถนน ท่าเทียบเรือ ระบบประปา ไฟฟ้า  ลานจอดรถ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว รวมทั้งการอนุรักษ์และบูรณะแหล่งท่องเที่ยว

 

2.3.3 เปิดสำนักงานการท่องเที่ยว

ททท. เล็งเห็นศักยภาพและความสำคัญของตลาดนักท่องเที่ยวญี่ปุ่น จึงเปิดสำนักงานการท่องเที่ยว 3 แห่ง  

  • แห่งแรก เปิดเมื่อปี 2514 ที่โตเกียว นับเป็นสำนักงาน ททท. ต่างประเทศแห่งที่ 3 ต่อจาก นิวยอร์ก  และลอสแอนเจลิส (ปัจจุบัน ททท. มีสำนักงานในต่างประเทศ จำนวน 27 แห่ง)
  • แห่งที่ 2 เปิดเมื่อปี 2529 ที่โอซากา   
  • แห่งที่ 3 เปิดเมื่อปี 2535 ที่ ฟุกุโอกะ และปิดสำนักงาน ททท. ฟุกุโอกะ ในปี 2559  

ในขณะที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น หรือ Japan National Tourism Organization :  JNTO เปิดสำนักงานที่กรุงเทพฯ ประมาณปี 2519

2.4 ญี่ปุ่น-ไทย ไปมาหาสู่

  • จากการเปิดสำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งสองประเทศเดินทางไปมาหาสู่กัน  จากสถิติในปี 2559 พบว่า มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางท่องเที่ยวในไทย จำนวน 1.42 ล้านคน (สูงเป็น อันดับที่ 4 รองจาก จีน มาเลเซีย เกาหลีใต้) ในขณะที่มีคนไทยเดินทางท่องเที่ยวในญี่ปุ่น จำนวน 0.97  ล้านคน (สูงเป็นอันดับ 6 รองจาก จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง อเมริกา)
  • ย้อนดูอดีตพบว่า ในช่วงปี 2513 มีนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ประมาณ 13,000 คน  และเพิ่มขึ้นเป็น 110,000 คน ในปี 2528
  • ปี 2541-2544 นักท่องเที่ยวจากญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยสูงเป็นอันดับ 1 เฉลี่ยปีละประมาณ  1.3 ล้านคน
  • ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทย ไปญี่ปุ่น ในปี 2555 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยท่องเที่ยวในญี่ปุ่น 200,673 คน  และเพิ่มขึ้นเป็น 908,702 คน ในปี 2559 เฉลี่ยตั้งแต่ปี 2555-2559 นักท่องเที่ยวไทยเที่ยวญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นถึง ร้อยละ 44.28

2.5 อยู่นานๆ ได้ไหม (การท่องเที่ยวพำนักระยะยาว)

  • ในปี 2544 รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวพำนักระยะยาว (Long Stay) โดยสนับสนุนให้ ชาวต่างชาติมาพำนักในไทยตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไป เพื่อขยายตลาดการท่องเที่ยวผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 50 ปี   
  • ในปี 2529 รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายส่งผู้สูงอายุไปพำนักระยะยาวในต่างประเทศ   
  • กลุ่มนักท่องเที่ยวสูงอายุจากญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในเป้าหมาย และจากการส่งเสริมกลุ่มพำนักระยะยาวดังกล่าว  ได้ทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องมากมาย อาทิ ธุรกิจที่พักอาศัยทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่
  • ปัจจุบันในจังหวัดเชียงใหม่ มีการจัดตั้งชมรมผู้พำนักระยะยาวชาวญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่ และชมรม/ สมาคมอื่นๆ เช่น ชมรมผู้ประกอบการชาวญี่ปุ่นในภาคเหนือ, สมาคมคนญี่ปุ่นในจังหวัดเชียงใหม่    
  • อย่างไรก็ตาม สำหรับการพำนักระยะยาวในปัจจุบันนี้ เราไม่สามารถจำกัดเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น  แต่ยังสามารถตีความครอบคลุมไปในกลุ่มอื่นที่พำนักระยะยาว อาทิ กลุ่ม Expat หรือ Digital nomad เป็นต้น

2.6 ใส่ใจท้องถิ่น OVOP และ OTOP  

  • โครงการ One Village One Product : OVOP เป็นโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นของจังหวัดโออิตะ  เกิดขึ้นในช่วงปี 2522-2546 ผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมมีทั้งผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ และจับต้องไม่ได้ ส่วนหนึ่งจะจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวด้วย
  • ในส่วนของประเทศไทย นำแนวคิดเรื่อง OVOP มาปรับใช้ในประเทศ ภายใต้โครงการ One Tambon One Product : OTOP เริ่มขึ้นในปี 2523 สมัยนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร

  1. เก็บเกี่ยว เรียนรู้ สู่อนาคตร่วมกัน  

Over Tourism ปรากฏการณ์ที่ต้องยอมจ่าย  ไม่ใช่แต่ได้ถ่ายเดียว (Over Tourism : At any  cost)

  • ญี่ปุ่น ไทย และที่ท่องเที่ยวใดๆ ในโลก ต้องรับมือกับปรากฏการณ์  Over Tourism สาเหตุอาจไม่ใช่ China factor อย่างเดียว แต่ยัง รวมไปถึงไลฟ์สไตล์แบบใหม่ของคนบนโลกนี้ที่ให้คุณค่ากับการเดินทาง  และการเรียนรู้โลกผ่านการเดินทางท่องเที่ยว
  • จากการเฝ้าติดตามการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวของญี่ปุ่น  มีประเด็นที่น่าสนใจ และน่าจะเกี่ยวข้องกับประเทศไทยด้วย คือการ ตั้งเป้าหมายให้ปี 2563 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติท่องเที่ยวในญี่ปุ่น  40 ล้านคน และเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคนในปี 2775 จากนั้น เราตามดู สิ่งที่ญี่ปุ่นผลักดัน อาทิ การเป็นเจ้าภาพ Rugby World Cup 2019/ Tokyo 2020 Olympic and Paralympic Games / Kansai World  Masters Games 2021
  • การบริหารจัดการการท่องเที่ยวในฐานะ ‘เจ้าบ้านที่ดี’ ของญี่ปุ่น  เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าจับตามอง การลงทุนในเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยว และสิ่งที่สำคัญและ ต้องจัดการไปพร้อมๆ กันคือ คนญี่ปุ่น ในฐานะเจ้าของบ้าน จะได้รับ ผลกระทบทางลบใดบ้างจากจำนวนและพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว  ถ้าศึกษาอดีต ก็จะพบว่า ญี่ปุ่น เคยมีนโยบายส่งคนสูงวัยไปพำนัก ระยะยาวในต่างประเทศ
  • สำหรับปรากฏการณ์ Over Tourism ในไทยนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้น ในเมืองหลัก และแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ดังนั้น เราจึงเสนอแคมเปญ  12 เมืองต้องห้ามพลาด ซึ่งหมายถึง การเที่ยวเมืองรอง เพื่อลด แรงกดดันในพื้นที่

 

การเผชิญหน้ากับบรรยากาศแห่งความกลัว  (Climate of Fear)

  • เราปฏิเสธไม่ได้ว่า โลกในอนาคต เราต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคาม  ทั้งภัยการเมือง ภัยก่อการร้าย พิบัติภัย และภัยจากโรคระบาด และโรคอุบัติใหม่ อนาคตเราต้องอยู่กับภัยคุกคามดังกล่าว  และภัยคุกคามชุดนี้ มันสร้างให้เกิดบรรยากาศแห่งความกลัว และเป็นอุปสรรคขัดขวางการเดินทางท่องเที่ยว
  • การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหา และลดอุปสรรคในภัยคุกคาม ดังกล่าว เป็นความหวังที่น่าจะเป็นจริงได้ไม่ยาก

มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน  

รัฐบาลไทยเน้นย้ำในการขับเคลื่อนประเทศใน 20 ปีข้างหน้า ด้วยแนวคิด มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งแนวคิดนี้  สามารถปรับใช้กับทุกประเทศ เพราะนัยของมันคือการให้ความสำคัญกับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการดำรงไว้ซึ่งความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม

  • ญี่ปุ่นกำหนดยุทธศาสตร์เกี่ยวกับ Soft Power โดยยืนยันในจุดยืนเรื่อง  ความงามบนความสมถะ เรียบง่ายและไม่สมบูรณ์แบบ ญี่ปุ่นส่งออก ‘ความเป็นญี่ปุ่น’ ผ่าน Sony Walkman, Hello Kitty, Doraemon,  TOYOTA, บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, มวยปล้ำ, ซูชิ, X-Japan, J-pop จนถึง AKB 48
  • สำหรับไทย เราส่งออก ‘ความเป็นไทย’ ในฐานะที่เป็น Soft Power  ผ่าน มวยไทย ต้มยำกุ้ง สตรีทฟู้ด ภาพยนตร์ไทยเรื่อง พี่มากพระโขนง   ละคร บุพเพสันนิวาส (เพลง ออเจ้าเอย และ เพียงสบตา ที่มีการ cover เป็นภาษาญี่ปุ่น โดยศิลปิน Yuru) การเชื่อมโยงทางสังคมระหว่าง บุคคลสองประเทศมีมากขึ้น และจะมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะ การใช้อาวุธที่เรียกว่า Soft Power    
  • คนแก่สูงวัย เกษียณอายุจากญี่ปุ่นเข้ามาพำนักในประเทศไทย มากขึ้นในรูปแบบ Long Stay   
  • คนหนุ่มสาว, คนรุ่นใหม่, Expat, Freeter, Digital nomad จากญี่ปุ่น จะเป็นกลุ่ม Long Stay ใหม่ในเมืองไทยในอนาคต
  • นักเรียนไทยเรียนภาษาญี่ปุ่น สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก  
  • คนไทยเที่ยวญี่ปุ่นเหมือนเป็นบ้านที่สอง  
  • ไทย-ญี่ปุ่น รู้สึกต่อกันเหมือนเป็นญาติมิตร

 

ความสัมพันธ์ทางสังคมเช่นนี้ เป็นสะพานเชื่อม นำไปสู่การเรียนรู้ร่วมกันในหลายมิติ การเผชิญกับสังคมคนแก่  การจัดการมลภาวะ ภัยพิบัติ และการเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม

การเดินไปสู่อนาคตภายใต้เงื่อนไขความสัมพันธ์ทางสังคมที่เหนียวแน่นมากขึ้นเช่นนี้ จึงประกันได้ว่า ทั้งสองประเทศ และสองสังคมจะแผ้วถางทางเดินไปสู่สังคมที่งดงามได้

 

เอกสารอ้างอิง ประกอบการยกร่างบทบรรยาย  

  1. ความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 600 ปี
  2. 130 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น
  3. ความท้าทายในอนาคต หลัง 6 ศตวรรษความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น
  4. 5 ทศวรรษท่องเที่ยวไทย บนการเปลี่ยนผ่านแนวคิดและเศรษฐกิจโลก
  5. Feasibility Study PATTAYA Tourism Development
  6. Master Plan & Feasibility Study Tourism Development of PHUKET
  7. Greater PHUKET
  8. สถิตินักท่องเที่ยวญี่ปุ่นเที่ยวไทย ปี 2000-2016
  9. สถิตินักท่องเที่ยวไทยเที่ยวญี่ปุ่น 2012-2016
  10. หนังสือ Japanization ของ อรรถจักร สัตยานุรักษ์
  11. หนังสือ ปัญญาญี่ปุ่น ของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
  12. Cool Japan เล่ม 1 และ 2 โดย สำนักพิมพ์ Little Thoughts

 

เรื่องโดย : กองบรรณาธิการ

 

    

Share This Story !

5.7 min read,Views: 6866,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    เมษายน 20, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    เมษายน 20, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    เมษายน 20, 2025