
เมื่ออากาศที่บริสุทธิ์ มีราคาสูงสุด ในการท่องเที่ยว
โดย ปฐวี ธุระพันธ์
If the urban or industrial development is not in line with natural conservation,
it is not good to imagine that the days we have to work to pay for everything
in everyday life will come. From now on, apart from our expenses including
housing, utility and telephone bills, and meals, we need to spare another
portion of money to buy fresh air for breathing.
ตื่นเช้าเปิดหน้าต่าง มองท้องฟ้าที่ขมุกขมัวคล้ายหมอกจางๆ ที่ตั้งใจให้พระอาทิตย์ไปแอบไว้ข้างหลัง ใจนึกไปว่านี่ช่างเป็นสวรรค์ของเราเสียจริง การได้ตื่นเช้ามาพร้อมกับบรรยากาศที่บริสุทธ์ิกับแสงแดดอ่อนๆ ของวันใหม่ที่มีความหวังและแสนงดงาม เริ่มต้นด้วยการสูดลมหายใจเข้าไปจนเต็มปอดจนรู้สึกได้ว่า เหมือนจะหายใจเอาเศษผง เศษทรายคล้ายที่รถบรรทุกเพิ่งวิ่งผ่านถนนลูกรังเข้าไปจนเต็มสองรูจมูก ไม่รู้ว่าจามกับไอ จะทำอะไรก่อนดี หันไปหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเช็กตัวเลขบอกคุณภาพอากาศวิ่งไปถึงตัวสีแดง สามารถบอกได้ว่า คนธรรมดาอย่างเราไม่น่าจะรับมือกับมันได้แน่ๆ คำพูดที่ว่า “ต่อไปคงต้องซื้ออากาศหายใจ” ก็คงไม่ได้ไกลตัวเราสักเท่าไหร่แล้ว
เพราะในยุคที่ทุกที่ในโลกพัฒนาอุตสาหกรรมพัฒนาเมืองกันอย่างต่อเนื่อง ห่างจากบ้านออกไปไม่กี่กิโลเมตร อย่างน้อยก็มีโรงงานอุตสาหกรรมการก่อสร้างตึก คอนโดมิเนียม อย่างน้อยหนึ่งแห่งที่ค่อยๆ ผุด และสร้างมลพิษทางอากาศที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า PM 2.5 ฝุ่นที่มีอนุภาคเล็กจิ๋วชนิดที่สามารถแทรกซึมเข้าสู่ระบบเลือด ไหลเวียนไปสู่ปอดได้อย่างไม่ยากเย็น เรียกว่าแค่เปิดหน้าต่าง มันก็ลอยออรอต้อนรับเราอยู่แล้ว
ไม่ใช่แค่บ้านเรา ประเทศเราหรอก ห่างไกลออกไป บริษัท PMI หรือ Philip Morris International ผู้ผลิตบุหรี่และยาสูบยักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน มีการสำรวจถึงผลกระทบของปัญหาสุขภาพของคนอีก 31 ประเทศ
1 ใน 9 ของผลสำรวจชี้ว่า ปัญหามลพิษทางอากาศมีความน่าเป็นห่วงเทียบเท่ากับปัญหาของคนสูบบุหรี่ จนถูกจัดอันดับว่าเป็นเรื่อง ‘สำคัญมาก’ ถึง 65% จากผู้ที่เข้าทำแบบสำรวจทั้งหมด 10,000 คน สอดคล้องกับ The World Health Organization (WHO) ที่ได้เปิดเผยตัวเลขว่าประมาณ 91% ของเมืองทั่วโลก หรือ 43,000 เมือง ใน 108 ประเทศ กำลังประสบปัญหาคุณภาพทางอากาศ
ในขณะที่ไฟป่าลุกลามทั่วทวีปออสเตรเลีย, รัฐแคลิฟอร์เนีย ในสหรัฐอเมริกา, ประเทศอินโดนีเซีย, ปอดโลกอย่างป่าแอมะซอนในประเทศบราซิล, การเผาสวนเผาไร่ของชาวอินเดียหลังฤดูเก็บเกี่ยวที่ทำให้เมืองนิวเดลี กลายเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก และล่าสุดที่ภูกระดึง จังหวัดเลย เพลิงไฟได้ทำลายป่าไปอีกหลายร้อยหลายพันไร่ นอกจากพื้นที่ที่เสียไป ยังมีมลภาวะทางอากาศที่ลอยขึ้นไป พร้อมที่จะส่งต่อไปยังเมืองต่างๆ เท่าที่กระแสลมจะพัดพา แถมเมืองท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ก็กลายเป็นเมืองที่อากาศอันตรายต่อการหายใจเป็นอันดับที่ 5 ของโลก
ทางด้านของทวีปยุโรป ก็ไม่ได้น้อยไปกว่าข้อมูลข้างต้น The European Environment Agency’s 2019 รายงานว่ามีชาวยุโรปกว่า 412,000 คน ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยปัญหาของฝุ่นละออง ปัญหาฝุ่นที่เกิดขึ้นในสถานีรถไฟใต้ดินของเมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่มีระดับเกินกว่ามาตรฐานที่ The World Health Organization กำหนดไว้ถึง 10 เท่า คนเดินเท้าตามเมืองได้รับการสูดดมไนโตรเจนที่เป็นพิษต่อร่างกายและการประกาศขายบ้านที่ราคาถูกกว่าปกติถึง 20% ในย่านที่มีอากาศเป็นพิษ
แล้วเราเลือกอะไรได้ไหม เลือกที่จะไม่หายใจได้หรือเปล่า?
ไม่ใช่แค่หน้าต่างบ้านผม หรือหน้าต่างบ้านคุณเท่านั้นที่เปิดออกมาแล้วพบกับบรรยากาศสีน้ำตาลอ่อนไปทางคล้ำแบบนี้ ทุกที่ในโลกก็เช่นเดียวกันอากาศที่บริสุทธิ์ได้กลายเป็นสิ่งที่มีมูลค่า หน้ากากกันฝุ่นกลายเป็นปัจจัยที่ 6 ต่อจากโทรศัพท์มือถือ
ผู้คนเริ่มออกเดินทาง ออกไปเที่ยว เพื่อหลีกหนีสภาพปัจจุบันที่พบเจอ แต่พวกเขาไม่ได้ตามหาเมืองที่มีตึกที่สูงที่สุด เมืองที่เต็มไปด้วยศิลปะ เมืองที่มีอาหารรสเลิศ เมืองที่มีการคมนาคมขนส่งที่ยอดเยี่ยมไร้ที่ติ ตราบใดที่แต่ละเมืองยังแข่งขันการพัฒนาเพื่อไปถึงที่สุดในด้านต่างๆ โดยไม่ได้มีการเตรียมการและป้องกันปัญหาเหล่านี้ เมืองเหล่านั้นก็จะไม่ใช่เป้าหมายในการเดินทางของพวกเขาอีกต่อไป สถานที่ที่หรูหรา ไม่ใช่ทางออกสำหรับคนในยุคที่อากาศเป็นแบบนี้อีกแล้ว ตึกที่สวยงาม ไม่ได้ตอบโจทย์เท่ากับป่าที่สูงใหญ่ เราเริ่มหันไปหาสถานที่ที่เราเคยเดินหนีเมืองที่ไม่เจริญ ตอนนี้กลับกลายเป็นสถานที่ที่เราอยากเอาปอดเข้าไปฟอก เอาร่างกายเข้าไปเยียวยา ความหรูหราของพวกเขาคืออากาศที่สดชื่น
เมืองไหนยิ่งมีต้นไม้เยอะ ร่มเงาที่มีไว้ให้นั่งเล่น เอนกาย มีความคงสภาพเดิมของธรรมชาติ ยิ่งกลายเป็นเป้าหมายใหม่ถัดไปของนักท่องเที่ยวที่ไม่อยากเปิดหน้าต่างมาพบเจอกับมลพิษทางอากาศ
ปัญหาดังกล่าวทำให้ทั่วโลกเริ่มตื่นตัว กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส วางแผนว่าจะปลูกป่าเพิ่มขึ้นใน 4 พื้นที่ของเมืองประวัติศาสตร์ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ วางแผนว่าจะปลูกต้นไม้ และสร้างสวนเพิ่มมากถึง 2,000 สวน ส่วนประเทศออสเตรเลีย ที่เมืองเมลเบิร์น วางแผนที่จะปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นให้ได้ 40% ภายในปี 2040 และเมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เตรียมปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านต้น หลังจากคำนวณแล้วว่านี่คือความต้องการที่น่าจะเพียงพอสำหรับเมืองนี้
กลายเป็นว่าทุกๆ ที่เริ่มที่จะทำให้ตัวเองกลับกลายไปเป็นเช่นธรรมชาติแบบแรกที่เคยเป็นมา เริ่มมีการแข่งขันว่าเมืองไหนมีเปอร์เซ็นต์ของต้นไม้มากที่สุดเพื่อเป็นการดึงดูดลูกค้า ซึ่งทาง Treepedia เว็บไซต์ที่มีการเปรียบเทียบปริมาณป่าและเมืองได้ออกมาบอกว่า เมืองที่มีอัตราส่วนของป่าและเมืองที่ดีที่สุด 3 เมือง ได้แก่ รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา (36.1%), สิงคโปร์ (29.3%), ออสโล ประเทศนอร์เวย์ (28.8%) ซึ่งน่าประหลาดใจที่ประเทศไทยเราก็ยังไม่พบอยู่ในฐานระบบของเว็บไซต์นี้
แต่ถ้าเข้าไปค้นหาข้อมูลของ airvisual.com/Thailand เพื่อที่จะหาบริเวณที่มีอากาศบริสุทธิ์ เหมาะกับการเอาปอดตัวเองไปฟอกสักหนึ่งสัปดาห์ใกล้บ้าน พบว่าพื้นที่ที่อากาศอยู่ในระดับที่เป็นสีเขียวส่วนใหญ่จะอยู่ทางภาคใต้ ไล่ลงไปตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานีหรือลงไปอีกจนถึงจังหวัดสตูล
คิดแล้วก็เป็นเรื่องตลกร้ายที่สุดท้ายแล้ว ความปกติธรรมดาของธรรมชาติ สิ่งที่เราพยายามดัดแปลงมันให้เปลี่ยนไปสู่นวัตกรรมต่างๆ บนโลกใบนี้
กำลังทำให้เราต้องกลับมาจ่ายเพื่อออกเดินทางไปยังสิ่งที่ไม่ได้ปรุงแต่งอะไรเลย ซึ่งกว่าจะรู้ว่าองค์ประกอบไหนในการท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าอย่างแท้จริง เราก็เสียเวลา เสียเงินกันไปไม่น้อยเลยทีเดียว แต่จะต้องเดินทางออกไปไกลแค่ไหน จะต้องสร้างอะไรขึ้นมาทดแทนมากเท่าไหร่ เราถึงจะได้อากาศบริสุทธิ์มาหายใจให้ฉ่ำปอด แล้วเมื่อทุกคนต่างออกเดินทางเพื่อไปที่นั่น สถานที่แห่งนั้นยังจะบริสุทธิ์ในแบบที่ธรรมชาติควรจะเป็นอยู่ไหม หรือสุดท้ายคุณภาพของอากาศที่ดีคือการซื้อเครื่องฟอกอากาศแพงๆ มาเปิดในสถานที่แห่งนั้นให้รู้ว่า ที่จริงมันไม่ใช่ แต่ก็น่าจะใช้ได้อยู่เหมือนกัน บอกตัวเองว่าปอดสดชื่น ในขณะที่นอกหน้าต่างบานนั้น คือสถานที่อันตรายที่แค่หายใจก็อาจจะถึงแก่ความตายเอาได้
ความคิดที่ว่าเราจะต้องซื้ออากาศหายใจ จึงไม่ได้เป็นเรื่องไกลจากเราเลย เพราะล่าสุด มีบาร์แห่งหนึ่งในประเทศอินเดีย ผุดไอเดียใหม่ที่ให้คุณได้เข้ามาซื้ออากาศบริสุทธิ์ โดยออกซิเจนที่นำมาขายมีความบริสุทธิ์อยู่ที่ 80-90% ค่าบริการครั้งละ 300 รูปี หรือประมาณ 126 บาท มีหลายกลิ่นให้เลือกสรร ไม่ว่าจะเป็น ตะไคร้ ยูคาลิปตัส หรือลาเวนเดอร์ มาถึงก็เลือกกลิ่นที่คุณชอบ แล้วเขาก็จะมีสายยางเส้นเล็กๆ มาพาดที่บริเวณจมูก นอนเอนให้สบายตัวบนโซฟา คล้ายผู้ป่วยที่ต้องการอากาศหายใจในโรงพยาบาล แต่สภาพและสถานที่รอบๆ ตัวดูดีกว่า เพราะเราเองก็ยังไม่ได้ป่วย เมืองต่างหากที่ป่วย ธรรมชาติต่างหากที่ถูกทำจนทุกอย่าง มันออกอาการกลายเป็นอากาศแบบนี้ แบบที่ทำให้พวกเขาเหล่านั้น (รวมถึงเราในอนาคต) ต้องเดินหน้าเข้ามาที่บาร์แห่งนี้ เพื่อหาอากาศดีๆ ถึงแม้เพียง 15 นาทีก็ยังดี
ผมเองก็ไม่แน่ใจว่า บาร์ลักษณะนี้จะเดินทางมาถึงประเทศเราเมื่อไหร่ แต่อนาคตอันใกล้ มันจะมีบริการลักษณะนี้เกิดขึ้นแน่นอน ถ้าคุณภาพอากาศยังเป็นแบบที่เราพบ ถ้าการพัฒนาเมืองหรืออุตสาหกรรมไม่ได้สอดคล้องไปกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไม่อยากจะนึกเลยว่า
วันที่เราต้องทำงานเพื่อซื้อทุกอย่างเพื่อดำรงชีวิตกำลังจะเดินทางมาถึง
ต่อจากนี้เราต้องแบ่งเงินเป็นค่าบ้าน ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่ากินอยู่ แล้วแถมยังต้องมีค่าอากาศที่จะเป็นอีกหนึ่งอย่างที่ต้องเตรียมเงินเอาไว้ และคงจะมีบาร์หรือคาเฟ่ที่แข่งกันทำคอนเซปต์ว่า ที่ไหนมีอากาศที่บริสุทธิ์มากกว่ากันผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด แล้วสนนราคาที่จะเกิดขึ้นจะพุ่งไปอยู่ที่กี่บาทต่อกี่นาที คิดแล้วขนลุก แต่ถ้ามันจะเกิดขึ้นจริงๆ เพราะไม่มีใครเลยที่เห็นว่ามันคือความเป็นความตาย และความยากลำบากในการมีชีวิตเป็น เรื่องที่ต้องแก้ไข เราเองก็คงต้องเก็บเงินเอาไว้มากๆ เผื่อว่าวันหนึ่ง อากาศดีๆ จะไม่มีอยู่จริง และกลายเป็นสิ่งปกติใหม่ที่เราต้องยอมรับมัน