Festival Tourism

 

 

โตมร ศุขปรีชา

 

 

 

 

ไม่ได้ไป ‘เก็บ’ เป้าหมายปลายทาง – แต่คือการเก็บเกี่ยวประสบการณ์

 

สำหรับนักเดินทางมือใหม่ หลายคนออกเดินทางไปตามสถานที่ที่เป็นปลายทางยอดนิยมเพื่อ ‘เก็บ’ สถิติของตัวเอง ว่าเคยเดินทางไปที่ไหนมาแล้วบ้าง เมืองใหญ่หลายแห่งจึงเป็นปลายทางยอดนิยม ปารีส ลอนดอน นิวยอร์ก โตเกียว หรือไม่ก็เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องความงามหรือประวัติศาสตร์ เช่น เวนิส ฟลอเรนซ์ แอลเอ เกียวโต

 

การเดินทางประเภทนี้เป็นที่นิยมก็จริงอยู่ แต่ส่วนใหญ่แล้ว ‘ถูกวางแผน’ ตามความสะดวกของผู้เดินทาง เช่น ลาหยุดได้ในช่วงไหนก็ไปช่วงนั้น มันคือการเดินทางเพื่อไป ‘เห็น’ เมืองในสภาวการณ์ปกติ ซึ่งแม้แต่ละเมืองจะแตกต่างกัน แต่โลกาภิวัตน์ทำให้ความต่างนั้นหดแคบลงเรื่อย ๆ จนหากใครเดินทางบ่อย ๆ อาจรู้สึกขึ้นมาก็ได้ว่านิวยอร์ก ลอนดอน โตเกียว และที่อื่น ๆ ไม่ค่อยจะต่างกันสักเท่าไหร่

 

แต่ยังมีการเดินทางอีกแบบหนึ่ง ที่จะทำให้คุณได้พบเห็น ‘จิตวิญญาณ’ ของดินแดนปลายทางที่แตกต่างออกไป เพราะเมืองแต่ละเมือง สถานที่แต่ละแห่งในโลก จะมี ‘ช่วงเวลา’ แห่งการงดเว้นธรรมเนียมปฏิบัติตามปกติ เพื่อ ‘เผยแสดง’ น้ำเนื้อภายในของที่แห่งนั้นออกมาอย่างแท้จริง

 

เราเรียกช่วงเวลาอย่างที่ว่า – ว่าเทศกาล

 

นักท่องเที่ยวจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ เริ่ม ‘เลือก’ การเดินทางจาก ‘เทศกาล’ เพราะการเดินทางแบบนี้จะทำให้เราได้เห็นโฉมหน้าของจุดหมายปลายทางในอีกรูปแบบหนึ่ง แตกต่างไปจากโฉมหน้าปกติในช่วงเวลาปกติ

 

นักเดินทางที่ยึดเอาเทศกาลเป็นเป้าหมาย จึงเริ่มต้นการเดินทางด้วยการ ‘ถ่อมตัว’ ไม่เอากำหนดการชีวิตของตัวเองเป็นตัวตั้ง แต่ต้องใช้ ‘กำหนดการ’ ของเทศกาลเป็นตัวตั้ง 

 

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ช่วงเวลาออกเดินทางของนักท่องเที่ยวเชิงเทศกาลนั้น จะ ‘ถูกกำหนด’ จากเหตุการณ์ที่เป้าหมายปลายทาง ซึ่งมักเกี่ยวพันกับฤดูกาล วิถีชีวิต และวัฒนธรรม จึงทำให้นักเดินทางท่องเที่ยวได้รับรู้ถึง ‘ประสบการณ์’ ที่ลึกซึ้งกว่าเพียงการได้ไปเห็น

 

 

การท่องเที่ยวเชิงเทศกาล (Festival Tourism) เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในยุคก่อน COVID-19 ผู้คนเริ่มรู้สึกว่าไม่อยากไปเพียงเพราะต้องไปเท่านั้น ทว่ามีการ ‘ออกแบบ’ การเดินทาง เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์การเดินทางครั้งนั้น ๆ ให้ได้มากที่สุด หลายคนเลือกเดินทางไปญี่ปุ่นในฤดูใบไม้ผลิเพื่อชมซากุระและเรียนรู้วิถีชีวิตในช่วงนั้น บางคนเลือกเดินทางไปนิวอิงแลนด์ในสหรัฐอเมริกาช่วงฤดูใบไม้ร่วง เพื่อชมสีสันของฤดูใบไม้ร่วงที่เฮนรี เดวิด ธอโร กล่าวเอาไว้ว่าสดใสแสบสันไม่เหมือนที่ใดในโลก และบางคนก็เลือกเดินทางมาเมืองไทยในช่วงเวลาสงกรานต์ เพื่อซึมซับประสบการณ์ในแบบที่ไม่สามารถหาได้ในช่วงเวลาอื่น

 

การเดินทางตามเทศกาลนั้น ถ้าว่ากันตาม ‘ประเภท’ ของการท่องเที่ยว ต้องบอกว่าเป็นการท่องเที่ยวประเภท ‘จ่อมจม’ (Immersive Travel) ประเภทหนึ่ง เพราะเทศกาลทำให้เราต้อง ‘ถูกกัก’ อยู่ใน ‘กาละ’ และ ‘เทศะ’ แบบพิเศษที่มีลักษณะเฉพาะ และการเข้าออกก็มักจะยากกว่าปกติ เนื่องจากในยามเทศกาล มักมีผู้ใช้บริการต่าง ๆ เป็นจำนวนมากในสถานที่ที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก ตัวอย่างเช่น ถนนข้าวสารในช่วงสงกรานต์ย่อมไม่ใช่สถานที่เดียวกันกับถนนข้าวสารในเดือนมิถุนายน เป็นต้น

 

โดยนิยามทางมนุษยวิทยาแล้ว คำว่า ‘เทศกาล’ หมายถึงช่วงเวลาพิเศษที่ ‘ข้อห้าม’ ต่าง ๆ ได้รับการยกเว้น ผู้คนจึงลุกขึ้นมาทำอะไรผิดแผกไปจากช่วงเวลาอื่น ตัวอย่างเช่นเทศกาลสงกรานต์ ผู้คนในไทยลุกขึ้นมาสาดน้ำใส่กันเป็นที่อึกทึกครึกโครม โดยส่วนใหญ่ไม่มีใครว่าอะไรใครเพราะถือว่าเป็น ‘ข้อยกเว้น’ ในช่วงเทศกาล แต่ถ้าในเดือนมิถุนายน มีใครสักคนเอาน้ำไปไล่สาดคนบนท้องถนน ก็อาจถูกตำรวจจับได้

 

ด้วยเหตุนี้ นักท่องเที่ยวยามเทศกาลจึงต้องตระหนักเอาไว้เสียก่อนว่า เขาและเธอจะไม่ได้ไปเห็น ‘เมือง’ หรือจุดหมายปลายทางอย่างที่มันเป็นตลอดปี แต่จะได้ไปเห็นปลายทางในช่วงเวลาพิเศษไม่เหมือนช่วงเวลาอื่น ซึ่งแน่นอนว่าอาจเต็มไปด้วยข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น เมื่อเข้าเมืองไปแล้วอาจจะออกไม่ได้ หรือเสื้อผ้าอาจเลอะเทอะเปรอะเปื้อนเนื่องจากทั้งเมืองเล่นปามะเขือเทศใส่กัน หรือสาดสีใส่กัน และอีกสารพันอย่าง

 

แต่นักท่องเที่ยวจำนวนมากก็ยินดี ‘แลก’ ข้อจำกัดเหล่านั้นกับประสบการณ์การได้ลิ้มรสสิ่งที่ต่างออกไป

 

 

 

นักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลจะมีลักษณะแตกต่างไปจากนักท่องเที่ยวทั่วไป เพราะในขณะที่นักท่องเที่ยวทั่วไปมีลักษณะเป็น ‘ผู้ดู’ (Spectators) คือไปพบเห็นสิ่งสวยงามต่าง ๆ ในสถานที่ปลายทาง นักท่องเที่ยวช่วงเทศกาลจะมีสถานะเป็น ‘ผู้เข้าร่วม’ (Participants) กับเหตุการณ์นั้น ๆ ด้วย (เช่น ถูกสาดน้ำ ถูกสาดสี หรือถูกปามะเขือเทศใส่) นักท่องเที่ยวเชิงเทศกาลจึงต้องทำความเข้าใจวัฒนธรรมเหล่านี้เอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งถ้าเข้าใจแล้วจะก่อให้เกิดประสบการณ์ไม่รู้ลืมเลือนขึ้นมาได้

 

การท่องเที่ยวเชิงเทศกาลนั้น ผูกพันร้อยรัดแน่นหนาอยู่กับ ‘วัฒนธรรม’ จนมีผู้กล่าวว่า การได้ท่องเที่ยวช่วงเทศกาล คือการได้เปิด ‘กล้องขยาย’ ให้เห็นวัฒนธรรมที่ปกติแล้วไม่อาจเห็นได้ จากเทศกาลโฮลีของอินเดีย จนถึงเทศกาลเรือมังกรในฮ่องกง หรือเทศกาลฉลองนักเขียนดังชาวไอริชอย่างเจมส์ จอยซ์ ที่ผู้คนลุกขึ้นมาแต่งกายเหมือนเมื่อสองศตวรรษก่อน สิ่งเหล่านี้คือ ‘ประตู’ พาเราเข้าสู่หัวใจและจิตวิญญาณของวัฒนธรรมนั้น ๆ โดยตรง ทั้งยังมีเรื่องของอาหาร ที่หลายชนิดมีการรังสรรค์ขึ้นเฉพาะเทศกาลนั้น ๆ เท่านั้น เทศกาลจึงเผยให้เห็น ‘ร่าง’ ที่เคยถูก ‘พราง’ เอาไว้ เนื่องจากโลกาภิวัตน์ทำให้ทุกหนทุกแห่งในโลกมีลักษณะที่ ‘เหมือนกันไปหมด’ ยกเว้นเมื่อถึงช่วงเทศกาล จึงก่อเกิดเป็น Immersive Experience ขึ้นมา

 

การ ‘ยกเว้น’ ข้อห้ามต่าง ๆ ในช่วงเทศกาล ทำให้เทศกาลเลือก ‘ขยาย’ การรับรู้ (Amplifying the Senses) บางอย่างให้ ‘ใหญ่โต’ ขึ้น แต่ในบางด้านที่เป็นด้านปกติทั่วไปของชีวิต (Mundane) มักถูกละเลยหรือลดความสำคัญลงไป ตัวอย่างเช่น ตลาดหรือร้านขายของชำอาจจะปิดตัวในช่วงเทศกาล (เช่นในเทศกาลตรุษจีน) ทำให้หาซื้อข้าวของในชีวิตประจำวันตามปกติลำบาก แต่ผู้คนจะแห่แหนกันไปสร้าง ‘ความเข้มข้นเชิงวัฒนธรรม’ ในมิติอื่น ๆ แทน เทศกาลจึงมักเต็มไปด้วยสีสัน รสชาติ กลิ่น เสียง และอารมณ์อันเข้มข้นผิดไปกว่าช่วงเวลาปกติ มีทั้งเทศกาลที่เกิดขึ้นเพราะปรากฏการณ์ธรรมชาติ อย่างเช่นเทศกาลหิมะของซัปโปโร ซึ่งเกิดขึ้นเพราะอิทธิพลของฤดูกาล ทำให้มนุษย์ต้องยอมจำนนกับธรรมชาติ และสุดท้ายก็หันมา ‘เล่นสนุก’ กับการยอมจำนนนั้นไปเลย หรือเทศกาลที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น เทศกาลโคลน Boryeong Mud Festival ในเกาหลีใต้ ที่ทุกอย่างจะกลายเป็นเรื่องของโคลนไปหมด มีทั้งมวยปล้ำในโคลน การเล่นเลื่อนกับโคลน ฯลฯ โดยมีจุดกำเนิดจากความเชื่อที่ว่าโคลนของเมืองมีคุณสมบัติในการสร้างความสวยความงามให้ร่างกาย

 

 

ความเข้มข้นในระดับ ‘เปิดผัสสะ’ ที่ว่ามานั้น จะเห็นได้ชัดที่สุดในเทศกาลดนตรี นับตั้งแต่เทศกาลดนตรีในอดีตอย่าง Woodstock ไล่มาจนถึงเทศกาลดนตรีในอังกฤษอย่างกลาสตันเบอรี อันเป็นเทศกาลที่เราจะได้เห็นการรวมตัวทางดนตรีครั้งยิ่งใหญ่ หรือเทศกาลดนตรีสมัยใหม่อย่าง Coachella ในสหรัฐอเมริกา ที่คนรุ่นใหม่ไปรวมตัวกันสร้างวัฒนธรรมใหม่ทางดนตรี เทศกาลเหล่านี้สร้างความเข้มข้นได้เหนือสภาวะปกติมาก

 

ที่สำคัญ เทศกาลเหล่านี้มักจะมี ‘การแสดง’ ที่ไม่ใช่แค่การขึ้นเวทีแสดง (Performance) เท่านั้น แต่รวมไปถึง ‘การแสดงออก’ (Performity) ในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย เช่น การแต่งกาย หรือในหลายกรณี ผู้คนถึงกับเปลี่ยน ‘วิธีสื่อสาร’ ของตัวเองไปเลย เช่น พูดจาโดยใช้ภาษาอีกแบบหนึ่ง เช่นในวัน Bloomsday ของชาวไอริชที่เฉลิมฉลองนักเขียนอย่างเจมส์ จอยซ์ เราจะเห็นคนหันไปหยิบงานวรรณกรรมเก่าแก่นับร้อยปีมาอ่านและพูดจาระหว่างกันด้วยภาษาเก่าแก่เหล่านั้น

 

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ – เทศกาลคือ ‘เวที’ โดยตัวของมันเอง ที่เปิดโอกาสให้คนได้พบปะแลกเปลี่ยนและ ‘ปลดปล่อย’ ตัวตนออกมา เทศกาลอย่างเกย์มาร์ดิกราส์ในซิดนีย์ หรือเทศกาล Edinburgh Festival Fringe ซึ่งเป็นเทศกาลศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลก ล้วนเป็นที่รวมตัวของผู้ที่มีความสามารถทางศิลปะอย่างเอกอุ หรือเทศกาล Burning Man ในเนวาดา คุณก็จะได้พบกับประสบการณ์ศิลปะแนวเหนือจริงในท่ามกลางบรรยากาศทะเลทราย เทศกาลเหล่านี้จึงเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้ ‘แสดงออก’ ในแบบที่ไม่สามารถแสดงออกได้ใน ‘กาละ’ และ ‘เทศะ’ อื่น ๆ เพราะไม่อย่างนั้นอาจถูกมองว่า ‘ประหลาด’

 

อย่างไรก็ตาม ความ ‘ประหลาด’ เหล่านี้ไม่ได้เพียงแค่แปลกหูแปลกตาหรือหาไม่ได้ในช่วงเวลาอื่นเท่านั้น ทว่ายังช่วย ‘ฟูมฟัก’ อารมณ์ความรู้สึกของนักท่องเที่ยวแนวเทศกาลที่เดินทางไปรวมตัวกันด้วย ผู้คนที่อัดแน่นอยู่ในเทศกาลดนตรีย่อมมีปฏิสัมพันธ์กันได้ง่ายกว่าคนทั่วไป เพราะอย่างน้อยที่สุดพวกเขาก็รู้สึกว่าตัวเองเป็น ‘คอเดียวกัน’ เช่น นักอ่านที่ไปเดินในเทศกาลหนังสือ นักเล่นบอร์ดเกมที่ไปเทศกาลบอร์ดเกมที่เมือง Essen ในเยอรมนี คอเบียร์ที่ตระเวนไปชิมเบียร์ใน Oktoberfest ที่มิวนิค ฯลฯ นักท่องเที่ยวแนวเทศกาลจึงสามารถ ‘ต่อติด’ กันได้มากกว่าปกติ ส่งผลให้การท่องเที่ยวในแนวทางนี้มี ‘แฟน’ ที่เหนียวแน่น สร้างความสัมพันธ์ในแบบประชาคมโลก (Cosmopolitanism) ทั้งยังช่วยเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนักท่องเที่ยวกับท้องถิ่นได้ด้วย

 

แน่นอน การเชื่อมสัมพันธ์ที่ว่าย่อมไม่ได้มีแต่ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมเท่านั้น แต่อีกมิติหนึ่งที่สำคัญก็คือความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวแนวเทศกาลมีบทบาทสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นสูงมาก รวมทั้งยังช่วยสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ให้กับท้องถิ่น และต่อยอดเปิดโอกาสให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นได้อีกหลากหลายด้วย เพราะหากคนจากต่างที่เห็นคุณค่าของเทศกาล คนในท้องที่ก็ย่อมต้องพยายามอนุรักษ์หรือรักษามรดกเหล่านั้นเอาไว้ให้ได้นานที่สุด

 

การท่องเที่ยวเชิงเทศกาลจึงเป็นเหมือนประตูสู่การสำรวจโลกที่ต่างออกไปจากช่วงเวลาปกติ เปิดโอกาสให้เราได้จ่อมจมลงสู่ความรุ่มรวยทางวัฒนธรรม เพื่อสร้างประสบการณ์อันยากจะลืมเลือน เต็มไปด้วยภาพ เสียง รสชาติ และการพบปะกับผู้คนที่จะปลุกเร้าผัสสะต่าง ๆ ให้เรา และเชื่อมโยงเราเข้ากับเป้าหมายปลายทาง

 

การท่องเที่ยวในแนวทางนี้กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งเมื่อการท่องเที่ยวกลับมาอีกครั้งหลัง COVID-19 แต่ละจุดหมายปลายทางจึงควรต้องพิจารณาว่าตัวเองมี ‘ของดี’ ในเทศกาลต่าง ๆ อย่างไร และจะปรับตัวเพื่อเสริมส่งเทศกาลเหล่านั้นให้สอดรับกับความเป็นพลเมืองโลกอย่างไร โดยต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ‘เทศกาล’ คือวาระแห่งการยกเว้นข้อห้ามหรือบรรทัดฐานทางสังคมต่าง ๆ เทศกาลจึงจะสนุกสนาน มีสีสัน และเผยให้เห็น ‘ตัวตน’ แท้จริงของจุดหมายปลายทางนั้น ๆ ออกมาได้

 

 

 

Share This Story !

1.6 min read,Views: 2948,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ตุลาคม 4, 2024