Extreme Weather ร้อน…หนาว สุดขั้ว

พัชรวรรณ วรพล

 

  • ความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของ Climate Change ส่งผลให้หลายพื้นที่บนโลกต้องพบกับสภาพอากาศที่ทั้งร้อนและหนาวสุดขั้ว
  • สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วนี้ หากเกิดขึ้นตามธรรมชาติอาจใช้เวลานับล้านปี แต่มันกลับเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วโดยใช้เวลาไม่กี่สิบปีจากน้ำมือของมนุษย์

 

ในช่วงเดือนมกราคมจนถึงเดือนสิงหาคมของปี 2021 หลายพื้นที่บนโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจนผิดไปจากอุณหภูมิปกติเดิมที่ผู้คนสัตว์ สิ่งก่อสร้าง และธรรมชาติคุ้นเคย ทำให้เกิดผลกระทบมากมายจากสภาพอากาศที่ร้อนและหนาวอย่างหนักหนาสาหัส โดยหลายสำนักข่าวต่างรายงานถึงสถานการณ์นี้กันไม่เว้นในแต่ละวัน

 

ทำลายสถิติ

 

เดือนมิถุนายนที่ผ่านมาดูจะเป็นเดือนที่ร้อนเป็นพิเศษในหลายเขตแถบทวีปอเมริกาเหนือ อย่างประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกาที่ต้องเผชิญหน้ากับคลื่นความร้อน (Heat Wave) เช่น หมู่บ้านลิททัน (Lytton) ในเขตบริติชโคลัมเบียของแคนาดา มีอุณภูมิสูงเกือบแตะ 50 องศาเซลเซียส ซึ่งนับว่าเป็นสถิติอุณหภูมิสูงที่สุดในรอบ 84 ปี หุบเขามรณะ (Death Valley) ในสหรัฐอเมริกามีอุณหภูมิที่ร้อนที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้อยู่ที่ 54.4 องศาเซลเซียส ขณะที่ข้อมูลจากดาวเทียมขององค์การนาซาล่าสุดนั้นบ่งบอกว่า ทะเลทรายลุตหรือดาชต์เอลุต (Dasht-e Lut) ในประเทศอิหร่าน คือสถานที่ที่อุณหภูมิสูงที่สุดของโลก ด้วยสถิติ 80.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิในกรุงคูเวตซิตี เมืองหลวงของคูเวต ขึ้นสูงไปกว่า 50 องศาเซลเซียส และพุ่งสูงถึง 70 องศาเซลเซียส ในบริเวณกลางแจ้งรับแสงแดดโดยตรง ประเทศรัสเซียก็เช่นเดียวกัน การเผชิญกับอากาศที่ร้อนที่สุดในรอบ 140 ปี โดยมีอุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส ตามข้อมูลของสำนักงานอุตุนิยมวิทยามอสโก และยังมีโอกาสที่จะร้อนขึ้นไปกว่านี้ได้อีก ซึ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศรัสเซียต้องประสบกับอุณหภูมิที่สูงจนเกิดเป็นสถิติใหม่ขึ้นมาหลายครั้ง 

 

ส่วนในทวีปเอเชีย โตเกียวโอลิมปิกก็ประสบปัญหา “สภาพอากาศที่ร้อนชื้นที่สุดในประวัติศาสตร์โอลิมปิก” โดยเจ้าภาพคณะผู้จัดงานออกมายอมรับว่ามีพนักงาน และอาสาสมัครกว่า 30 คนต้องล้มป่วย รวมถึงนักกีฬาหลายรายที่ถึงกับล้มและหมดสติในระหว่างการแข่งขัน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนระอุ แม้จะมีการแก้ปัญหาโดยการจัดการแข่งขันหลายชนิดกีฬาในช่วงเย็นและกลางคืน หรือย้ายสถานที่การแข่งขันวิ่งมาราธอนไปจัดที่เมืองซัปโปโร ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่นแทนเพื่อให้นักกีฬาได้แข่งขันในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ซึ่งตามปกตินั้น กรุงโตเกียวมีอากาศร้อนเป็นพิเศษอยู่แล้วในช่วงฤดูร้อนเนื่องจากสภาพภูมิประเทศของเมือง ทว่าสภาพอากาศร้อนที่ทำลายสถิติกันเป็นว่าเล่นในหลาย ๆ ประเทศนั้นกลับเชื่อมโยงกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศโลก

 

 

สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว: Extreme Weather Event

 

ความร้อนที่พุ่งสูงในแต่ละพื้นที่นั้นหาใช่การเพิ่มของอุณหภูมิแบบปกติทั่วไป แต่มันเป็นสภาพอากาศร้อนจัดที่เกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change อันมีผลต่อวิกฤติสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Crisis

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change นั้น ทำให้เกิด “สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้ว” หรือ Extreme Weather Event เป็นความแปรปรวนของสภาพอากาศที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนก่อให้เกิดสภาพอากาศร้อนจัด หนาวจัด ลมพายุที่รุนแรงบ่อยครั้ง ฝนตกหนักกว่าปกติ และในฤดูหนาวมีอุณหภูมิลดต่ำลง หิมะตกเพิ่มขึ้น เกิดอากาศหนาวเย็นอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ดังจะเห็นได้จากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงและถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ไฟไหม้ป่าอย่างรุนแรงในหลาย ๆ ประเทศ น้ำท่วมยุโรป ภัยแล้งจัดในประเทศบราซิลและประเทศจีน เป็นต้น 

 

ร้อนสุดขั้ว

 

จากการวิจัยอย่างยาวนานของกรีนพีซ ทำให้พบว่ามากกว่าร้อยละ 80 ของ 57 เมืองในทวีปเอเชีย วันแรกของฤดูร้อนจะมาถึงเร็วขึ้น เช่น ที่กรุงโตเกียวและกรุงโซล วันแรกที่มีอากาศร้อนมาถึงเร็วขึ้นเฉลี่ย 11 วันในช่วงปี 2011 – 2020 และที่เมืองซัปโปโรของประเทศญี่ปุ่น ฤดูร้อนมาถึงเร็วขึ้นกว่า 23 วัน โดยในวันที่แข่งมาราธอนของโอลิมปิกนั้น อุณหภูมิขึ้นไปแตะ 34 องศาเซลเซียส ซึ่งการมีอุณหภูมิเกินกว่า 30 องศาเซลเซียสนั้นยังยาวนานเป็นสถิติกว่า 16 วันนับตั้งแต่ปี 1924

 

สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วที่เกิดขึ้นนั้น สร้างความวิตกกังวลแก่นักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เพราะมันไม่ได้ค่อย ๆ เกิดขึ้นตามธรรมชาติซึ่งใช้เวลานับล้านปี แต่มันเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การเผาไหม้ถ่านหิน การใช้น้ำมันและก๊าซอย่างรวดเร็ว โดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ หรือ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงว่า 

 

  1. ในระหว่างปี 2011 – 2020 (หรือ 10 ปีที่ผ่านมา) อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นแล้ว 1.09 องศาเซลเซียส ถือเป็นอัตราที่เร็วและน่ากลัวมาก เพราะในอดีตการเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ของอุณหภูมิโลกใช้เวลานานมากกว่านี้ เช่น ช่วง 1850 – 1900 ใช้เวลาถึง 50 ปี ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คือ2015 – 2020 เป็นช่วงที่โลกร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี 1850 ซึ่งเป็นปีที่เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรม

 

  1. อุณหภูมิโลกที่เคยคาดกันว่าอาจสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้หรืออีก 80 ปีข้างหน้า จะเกิดขึ้นเร็วกว่าเดิม คือจะแตะหรือทะลุเพดาน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2040 หรืออีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งโอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นไปได้สูงมาก

 

สภาพอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งส่งผลให้เกิดไฟป่าได้ง่ายและรุนแรงขึ้นดังที่เห็นได้จากประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป อเมริกา และเอเชียประสบอยู่ โดยข้อมูลจาก Center for Climate and Energy Solutions (CCES) ระบุว่า เมื่อน้ำระเหยไปในปริมาณที่มากเป็นเหตุทำให้น้ำในดินหายไปจนเกิดความแห้งแล้ง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า  แม้จะมีหลายคนอ้างว่าไฟป่าสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุก็ตาม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปรากฏการณ์นี้เป็นสาเหตุหนึ่งที่ไม่อาจมองข้าม 

 

ในปี 2020 – 2021 นี้ เหตุการณ์ไฟป่าได้เกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ป่าอเมซอน (Amazon) จนถึงขั้วโลกเหนือ หรือทวีปอาร์กติก (Arctic) ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน เหตุไฟป่าออสเตรเลียในช่วงปี 2019 – 2020 ได้ทำให้สัตว์ป่าต้องตายไปกว่าสามพันล้านตัว ไฟไหม้ป่าหลายจุดแถวเขตแดนของรัฐแคลิฟอร์เนียและรัฐออริกอนจนกินพื้นที่ป่าไปกว่า 3,750 ไร่ ไฟป่าที่เกิดขึ้นในประเทศกรีซที่นอกจากจะลุกลามรุนแรงบนเกาะยูบีอาจนต้องอพยพผู้คนแล้ว ก็ยังเกิดในจุดอื่น ๆ ทั่วประเทศ จุดที่ร้ายแรงที่สุดอยู่ทางตอนเหนือของกรุงเอเธนส์ โดยไฟป่าได้เผาผลาญพื้นที่ของประเทศกรีซไปประมาณ 600,000 ไร่ ซึ่งเหตุไฟป่าของประเทศกรีซเกิดขึ้นจากคลื่นความร้อนอันรุนแรงที่สุดในรอบกว่า 30 ปี ทำให้อุณหภูมิทั่วประเทศพุ่งสูงถึง 45 องศาเซลเซียส สรุปได้ว่าตลอดช่วงเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉลี่ยมีพื้นที่ป่าไม้ขนาดสี่สิบสนามฟุตบอลบนโลกถูกทำลายไปในทุก ๆ หนึ่งนาที 

 

นอกจากนี้สภาพอากาศที่ร้อนจัดบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น และยาวนานขึ้นนั้นมีผลกระทบร้ายแรงทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อระบบนิเวศ ระบบเศรษฐกิจ แหล่งอาหาร ผลผลิตทางการเกษตรที่เสียหายจำนวนมาก สัตว์เลี้ยงตามไร่ปศุสัตว์นับล้านตัวต้องล้มตาย รวมถึงผู้คนที่ล้มป่วยและเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ใช้แรงงาน และผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะสาเหตุจากคลื่นความร้อนที่แผดเผาจนเกินกว่าร่างกายจะรับไหว จากข้อมูลการสำรวจพบว่า อุณหภูมิทั้งร้อนจัดและหนาวจัดแบบสุดขั้ว ได้คร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปถึงปีละราว ๆ 5 ล้านคน 

 

 

หนาวสุดขั้ว

 

ความหนาวเย็นในฤดูหนาวที่ผิดปกติของรัฐเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นการเจอกับอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี รวมถึงเมืองชิคาโกก็เคยเผชิญกับอุณหภูมิต่ำสุดถึงเกือบ -50 องศาเซลเซียส ประเทศสเปนในทวีปยุโรปก็ต้องเจอกับคลื่นความหนาว โดยเฉพาะกรุงมาดริดที่อุณหภูมิลดต่ำลงเหลือ -12 องศาเซลเซียส หิมะตกหนักจากฤทธิ์พายุหิมะ Filomena จนเกิดเป็นสถิติใหม่ขึ้นมาอีกเช่นกัน หลังจากที่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มานับร้อยปี

 

อุณหภูมิในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ลดลงต่ำที่สุดในรอบ 35 ปี โดยสภาพอากาศอยู่ที่ -18.6 องศาเซลเซียส ซี่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1986 ในขณะที่ประเทศจีนก็ต้องเผชิญกับอากาศหนาวเย็นเช่นกัน ซึ่งอุณหภูมิในกรุงปักกิ่งลดลงแตะ -19 องศาเซลเซียส เป็นอุณหภูมิต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี ไม่ต่างกับประเทศญี่ปุ่นที่ต้องบันทึกสถิติความหนาของชั้นหิมะใหม่ อันสร้างความเสียหายแก่ผู้คนและยานพาหนะที่ถูกฝังใต้หิมะนับพันคัน หรือหิมะตกหนักในประเทศเวียดนาม สภาพภูมิอากาศเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าโลกรอดพ้นจากวิกฤติโลกร้อน แต่คือหนึ่งในปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศแปรปรวนจากปรากฏการณ์ที่เรียกว่า กระแสลมวนบริเวณขั้วโลกเหนือ หรือ โพลาร์ วอร์เท็กซ์ (Polar Vortex) ซึ่งตามปกติคือมวลอากาศเย็นที่หมุนทวนเข็มนาฬิกา โดยปกคลุมและเก็บรักษาลมเย็นไว้โดยไม่ให้มวลอากาศอุ่นจากภายนอกเข้ามาเปรียบเสมือนเครื่องปรับอากาศให้กับโลกของเรา แต่หากมีอะไรทำให้สมดุลของระบบกระแสลมนี้เปลี่ยนแปลงไป เช่น เกิดการปะทะกันของมวลอากาศเย็นและมวลอากาศอุ่น การเปลี่ยนทิศทางหรือทำให้กระแสลมแตกเป็นหลายสาย ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของขั้วโลกเหนือสูงขึ้นขณะที่โพลาร์ วอร์เท็กซ์ ที่ไม่สมดุลนั้นพัดพาเอาอากาศที่เย็นจากน้ำแข็งที่ละลายไปยังภูมิภาคอื่นของโลก ส่งผลให้พื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสลมวนที่แปรปรวนนี้มีอุณหภูมิต่ำลง 

 

New Normal?

 

คลื่นความร้อนที่สูงเป็นประวัติการณ์ ไฟป่าที่ยาวนานและรุนแรง พายุและความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นนั้น กลับไม่ได้ทำให้ผู้คนรู้สึกเลยว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดจากภาวะโลกร้อน เพราะความที่มันเกิดบ่อยขึ้นรุนแรงขึ้นจนคิดไปว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้เป็นปกติตามธรรมชาติ เหล่านักวิทยาศาสตร์และองค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อมจึงเกรงว่าสภาพอากาศอันเลวร้ายนี้จะกลายเป็น New Normal ที่คนคุ้นเคยเพราะฉะนั้นการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องสภาพอากาศจากหลาย ๆ องค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงเป็นการย้ำเตือนให้ทุกคนตระหนักว่า ไฟป่าพายุฝนและภัยแล้งที่ถี่และทวีความรุนแรงขึ้นนั้น สามารถสร้างหายนะต่อโลกของเรา อย่าปล่อยให้มันกลายเป็นความปกติ หรือทำให้เกิดสถิติใหม่ ๆ อย่างที่เห็นจนชินตาในทุกวันนี้เลย

 

หากมนุษย์ยังไม่แก้ไขสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น มลพิษจากอุตสาหกรรม การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล การตัดไม้ทำลายป่า และหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังเช่นนาฬิกาสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Clock นาฬิกาที่นับถอยหลังสู่หายนะโลกร้อน จะได้รู้ถึงการควบคุมหรือจำกัดปริมาณของก๊าซเรือนกระจกว่ายังสามารถปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศได้อีกเท่าใด (Carbon Budget) เพื่อช่วยให้โลกเข้าสู่เป้าหมายในการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ ก่อนที่มนุษยชาติจะเผชิญกับหายนะโลกร้อนอย่างไม่มีวันเปลี่ยนให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้

 

ที่มา:

  • https://public.wmo.int/en/media/news/summer-of-extremes-floods-heat-and-fire
  • https://www.voathai.com/a/california-wildfire-advances-as-heat-wave-blankets-us-west/5961513.html  
  • https://www.blockdit.com/posts/6031821d9664610bcab808b1
  • https://www.pptvhd36.com/news
  • https://datacenter.deqp.go.th/knowledge/articlecop/15/
  • https://www.sdgmove.com/2021/04/14/russia-vulnerable-to-climate-change-impacts/
  • https://www.bbc.com/thai/international-58147469
  • https://www.bbc.com/news/science-environment-58073295
  • https://www.edf.org/climate/climate-change-and-extreme-weather
  • https://www.greenpeace.org/thailand/story/11014/climate-hottest-year-2019/
  • https://www.vox.com/22538401/heat-wave-record-temperature-extreme-climate-change-drought

Share This Story !

3.1 min read,Views: 6381,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤศจิกายน 27, 2024