Event-Driven Experience เพราะหลงใหลจึงต้องมา เมื่ออิเวนต์เติมเต็มประสบการณ์ท่องเที่ยว

 

 

AGENDA

 

 

เพราะการเดินทางแต่ละครั้งมีเป้าหมายแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางเพื่อคลายความเบื่อหน่าย เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ เพื่อเที่ยวชมธรรมชาติตามฤดูกาล เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมต่างถิ่น เพื่อตามรอยภาพยนตร์ หรือเพื่อตามเชียร์กีฬา “อิเวนต์” คือกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อตอบสนองเป้าหมายเหล่านี้

 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นิยามความหมายของ “อิเวนต์” ว่าหมายถึงรูปแบบกิจกรรมที่มีความเป็นเอกลักษณ์ โดยนำองค์ประกอบที่สำคัญของประเทศมาปรับใช้ในกิจกรรมด้านต่าง ๆ เช่น อาหารไทย มวยไทย ภาพยนตร์ ศิลปะ ดนตรี และความศรัทธา 

 

Editorial credit: nelle hembry / Shutterstock.com

 

 

“อิเวนต์” จึงมักจะเต็มเปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศและท้องถิ่นนั้น ๆ อิเวนต์นับเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรม MICE (Meetings, Incentive Travel, Conventions, Exhibition) ซึ่งสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้ไทยสูงถึง 2 แสนล้านบาท

 

แต่ในช่วงเกิดโรคระบาด COVID-19 ส่งผลให้รัฐบาลออกกฎห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัวของผู้คนจำนวนมาก รวมทั้งการห้ามและควบคุมการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้หลายกิจกรรมถูกยกเลิกหรือเลื่อนจัดเป็นระยะเวลานาน ผลคืออุตสาหกรรมอิเวนต์ทั่วโลกได้รับผลกระทบมากที่สุดในรอบ 30 ปี มูลค่าลดลงถึง 70.4% เหลือเพียง 165,823 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 559,840 ล้านบาท

 

ในตอนนี้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกสามารถปรับตัวเข้ากับ New Normal ได้แล้ว สถานการณ์จึงค่อย ๆ ฟื้นตัวและผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้หลายพื้นที่ตื่นตัวเพื่อเตรียมพร้อมกลับมาจัดงานอิเวนต์และเทศกาล ร้านค้าหรือธุรกิจที่อาศัยการท่องเที่ยวในการสร้างรายได้ เริ่มวางแผนเพื่อดึงดูดเหล่านักท่องเที่ยวที่จะกลับมาเดินทางอีกครั้ง 

 

โดยประเภทของงานอิเวนต์สำคัญที่เป็นดาวเด่นในยุคใหม่ ได้แก่ “อิเวนต์ด้านดนตรี” ซึ่งมีมูลค่าโดยรวม 33.83 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.17 ล้านล้านบาท) และ “อิเวนต์ด้านกีฬา” มีมูลค่าโดยรวม 28.97 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1 ล้านล้านบาท) สองดาวเด่นนี้จึงเป็นที่น่าจับตาสำหรับการท่องเที่ยวในยุค New Normal นี้

 

 

 

ขับเคลื่อนการเดินทางด้วยเสียงดนตรี

 

งานเทศกาลดนตรี คือการรวมตัวกันของศิลปินมากมายเพื่อแสดงดนตรีในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นดนตรีสด ดนตรีพื้นบ้าน การโชว์เพลงมิกซ์จากดีเจ ฯลฯ โดยบางงานอาจมีหลายเวที หรือจัดขึ้นหลายวันก็ได้ 

 

นักท่องเที่ยวไม่ได้ถูกดึงดูดด้วยศิลปินในดวงใจ เพลงโปรด การได้ใช้เวลากับเพื่อน หรือการได้พบเจอกับเพื่อนใหม่ที่มีรสนิยมทางดนตรีที่คล้ายคลึงกันเท่านั้น แต่ยังถูกดึงดูดจากการได้สัมผัสประสบการณ์ที่หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว เพราะมันจะเกิดขึ้น ณ เวลาที่รายล้อมไปด้วยเสียงดนตรีและผู้คนในตอนนั้นเท่านั้น

 

รูปภาพจาก Unsplash | Andrew Ruiz

 

Coachella การรวมตัวของดนตรี แฟชั่น และศิลปะ

 

งานดนตรี Coachella ผสมผสานความหลงใหลในดนตรี ศิลปิน แฟชั่น และศิลปะ เข้าด้วยกันอย่าลงตัวและยิ่งใหญ่ แต่ละปีงานนี้จะรวบรวมศิลปินจากทั่วโลกเพื่อดึงดูดเหล่าแฟนเพลง พร้อมแนวดนตรีที่หลากหลาย ทั้งร็อก ป็อป อินดี้ ฮิปฮอป และอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ 

 

Coachella จัดขึ้นทุกปี ณ Empire Polo Club เมืองอินดิโอ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ช่วงสัปดาห์ที่ 2 และ 3 ของเดือนเมษายน มีเวทีหลัก 5 เวที คือ Coachella Stage, Outdoor Theatre, Mojave, Gobi และ Sahara พ่วงด้วยเวทีพิเศษที่จะเพิ่มขึ้นมาในแต่ละปี

 

งานดนตรีนี้ยังเป็นเสมือนพื้นที่หลอมรวมวัฒนธรรม ที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตั้งแต่แนวดนตรี การแต่งกาย สังคม ฯลฯ แบรนด์ดังระดับโลกต่างเห็นโอกาสในการตอกย้ำตัวตนของแบรนด์ผ่านงานนี้ ตัวอย่างเช่น การร่วมมือของ H&M กับนางแบบ Gigi Hadid และการเปิดตัวรองเท้ารุ่นใหม่ของ Adidas เป็นต้น 

 

ความพิเศษของ Coachella สะท้อนผลลัพธ์ผ่านรายได้ที่สูงเป็นอันดับต้น ๆ ในกลุ่มงานประเภทดนตรีของโลก ในปี 2022 ที่ผ่านมา Coachella สร้างรายได้ไปราว 704 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท) และมีผู้เข้าร่วมงานมากถึง 750,000 คน 

 

รูปภาพจาก jazz.dk

 

โคเปนเฮเกน เมืองแห่งเทศกาลดนตรี

 

“เดนมาร์ก” เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จสูงสุดทางด้านอิเวนต์ดนตรีที่มีมูลค่าถึง 311.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท) โดยมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดอิเวนต์ดนตรีของเดนมาร์กจะเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 25.6% ในปี 2023 ด้วยแนวดนตรีที่หลากหลาย ประกอบกับความน่าไปเยือนของโคเปนเฮเกน เมืองหลวงของเดนมาร์กที่เต็มไปด้วยสถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม ดึงดูดให้เหล่านักท่องเที่ยวคอดนตรีเลือกที่จะมาเยือนเทศกาลดนตรีที่เมืองแห่งนี้

 

ข้อมูลจาก Denmarks Statistik เผยว่าในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2021 มีผู้คนกว่า 1.8 ล้านคน ได้พักค้างคืนในเดนมาร์ก ซึ่งเพิ่มขึ้น 13% จากปี 2020 ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวค้างคืน 1.1 ล้านคน นับเป็นแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดีหลังวิกฤต Covid-19 

 

อิเวนต์ดนตรีที่โดดเด่นของโคเปนเฮเกน ได้แก่

 

เทศกาล COPENHELL งานเทศกาลเพลงร็อกและเมทัลที่ใหญ่ที่สุดของเดนมาร์ก ที่ผู้ชมสามารถเร้าใจไปกับเสียงเพลงและดนตรีที่ดังกระหึ่มอย่างมิอาจอยู่นิ่งได้

 

เทศกาล Distortion เทศกาลเพลงแนวอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ที่จัดต่อเนื่องนาน 5 วัน เป็นปาร์ตี้เคลื่อนที่ขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยคอนเสิร์ตกว่า 300 รายการ มีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันเข้ามามากกว่า 100,000 คนต่อวัน 

 

เทศกาล Copenhagen Jazz Festival งานเทศกาลดนตรีแจซโคเปนเฮเกน ที่มีการแสดงดนตรีแจซจากศิลปินมากมายตลอดทั้ง 10 วัน มีทั้งการแสดงกลางแจ้งที่เปิดให้เข้าชมฟรีและการแสดงที่ต้องซื้อบัตรเข้าชม จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “ซูเปอร์มาร์เก็ตดนตรี” มีผู้เข้าร่วมงานปีละกว่า 250,000 คน 

 

เทศกาลดนตรีมีส่วนช่วยส่งเสริมบรรยากาศความสนุกสนานของเมือง และเชื้อเชิญนักท่องเที่ยวจากทั้งในและนอกประเทศให้มาเยี่ยมเยือน หากนึกถึงโคเปนเฮเกน งานเทศกาลดนตรีอันโดดเด่นเหล่านี้จะเป็นภาพแรกที่โผล่ขึ้นมาในความคิดของใครหลายคนอย่างแน่นอน

มหกรรมการเดินทาง มหกรรมเชียร์กีฬาระดับโลก

 

เสียงเชียร์และโห่ร้อง เสียงปรบมือและความเงียบงันในจังหวะที่ลุ้นการทำคะแนน กีฬา นอกจากจะเป็นยาวิเศษด้านสุขภาพให้แก่คนเล่นแล้ว ยังเป็นยาวิเศษด้านจิตวิญญาณให้แก่ผู้ที่ชื่นชอบและหลงใหลด้วยเช่นกัน

 

มหกรรมกีฬาจึงเป็นอิเวนต์อีกรูปแบบหนึ่งที่เหล่าแฟนกีฬารอคอย แม้ไม่ใช่แฟนตัวยงก็ยังต้องจับตามอง เพราะมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วัฒนธรรม การแสดงตระการตา เป็นต้น สอดแทรกอยู่ด้วยเสมอ

 

ภาพจาก ebico / Shutterstock.com

 

Olympics 

 

โอลิมปิก คือมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นการแข่งขันกีฬาหลากหลายชนิดที่หลายประเทศเข้าร่วมแข่งขัน จัดขึ้นทุก 4 ปี เหล่านักกีฬา นักลงทุน และสปอนเซอร์ทั้งหลาย เลือกใช้พื้นที่นี้เพื่อโปรโมตตนเองหรือแบรนด์สินค้าไปทั่วโลก ที่สำคัญการคว้าเหรียญทองทุกครั้งยังแสดงถึงการเป็นมหาอำนาจในกีฬาชนิดนั้น ๆ และยังเชื่อมโยงไปถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นผู้ชนะได้อีกด้วย 

 

อย่างโอลิมปิก “Rio 2016” ที่ประเทศบราซิลได้ใช้โอกาสนี้ในการประชาสัมพันธ์ประเทศให้กับชาวต่างชาติ ผ่านการสร้างความสะดวกสบายและความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว เช่น บริการรับส่งนักท่องเที่ยวฟรีจากสนามบิน ฯลฯ ทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 6.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.8% จากปี 2015 สร้างรายได้รวมกว่า 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.14 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 6.2% จากปี 2015 ทำให้ร้านอาหารและโรงแรมภายในเมืองมียอดขายและยอดเข้าพักเพิ่มมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นจากการจัดการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ยังทำให้ตำแหน่งงานเพิ่มขึ้น 82% และรายได้ของคนจนเพิ่มขึ้นถึง 29.3% 

 

หรืองานโอลิมปิก “Tokyo 2020” ที่แม้จะประสบปัญหา COVID-19 แพร่ระบาดอย่างหนักจนต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน บัตรเข้างานขายไม่ออก แต่เจ้าภาพอย่างประเทศญี่ปุ่นยังมีรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ประมาณ 3.4 หมื่นล้านบาท) แถมยังได้ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์จากญี่ปุ่น โดยเฉพาะการ์ตูนอนิเมะ อย่างเช่น ONE PIECE, DRAGONBALL และ ATTACK ON TITAN ให้ไปอยู่ในสายตาผู้ชมทั่วโลกกว่า 1,000 ล้านคนอีกด้วย

 

ภาพจาก DOUG MILLS/THE NEW YORK TIMES

 

Super Bowl 

 

ซูเปอร์โบวล์ การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศประจำปีของทีมอเมริกันฟุตบอลอาชีพ National Football League (NFL) ที่จัดขึ้นทุกปีในวันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมกราคม หรือวันอาทิตย์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ สร้างมูลค่าเศรษฐกิจและรายได้มหาศาล รวมทั้งยังสร้างกระแสทางวัฒนธรรมได้อีกด้วย

 

ในแต่ละครั้ง ซูเปอร์โบวล์จำหน่ายบัตรเข้าชมได้กว่า 70,000 ใบ และยังมียอดผู้ชมถ่ายทอดสดทะลุ 114.4 ล้านคนในอเมริกา นับเป็นเรตติ้งทางโทรทัศน์ที่สูงที่สุด และเป็นรายการถ่ายทอดสดที่มีผู้ชมมากที่สุดในโลก สร้างรายได้จากการโฆษณามากกว่า 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท) รวมทั้งยังสามารถสร้างรายได้จากการแย่งชิงแอร์ไทม์ของเหล่าสปอนเซอร์และผู้ซื้อพื้นที่โฆษณา โดยมูลค่าในการแข่งขันอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 173 ล้านบาท) ต่อ 30 วินาที และมีอัตราที่เพิ่มขึ้นทุกปี 

 

ด้วยยอดผู้ชมที่สูงที่สุดในโลกเช่นนี้ ทำให้ศิลปินที่แม้จะโด่งดังระดับโลก ต่างก็อยากมาเป็นแขกรับเชิญในคอนเสิร์ตช่วงพักครึ่งของซูเปอร์โบวล์โดยไม่คิดค่าตัวตามเรตปกติ ไม่ว่าจะเป็น Rihanna, The Weeknd, Taylor Swift หรือ Adele ซึ่งโฆษกจาก NFL เคยให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2016 ว่า “เราไม่ได้จ่ายค่าตัวให้ศิลปิน แต่ช่วยออกค่าใช้จ่ายในการทำโชว์และค่าโพรดักชันให้” โชว์ของงานนี้จึงเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่ตื่นตา และเป็นที่จดจำทุกปี

 

การจัดการแข่งขันซูเปอร์โบวล์ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวของสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเกือบ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.73 หมื่นล้านบาท) ด้วยการหลั่งไหลเข้ามาของผู้ชมซูเปอร์โบวล์ สามารถเพิ่มจำนวนการเข้าใช้บริการธุรกิจขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก เช่น ร้านอาหาร บาร์ และร้านค้าปลีกอื่น ๆ นําไปสู่ยอดขายและผลกําไรที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะร้านค้าที่อยู่ใกล้กับพื้นที่จัดงาน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายเพื่อเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถทำงานร่วมกับเจ้าของธุรกิจรายใหญ่ และกระตุ้นให้เกิดการริเริ่มทำธุรกิจใหม่อีกด้วย

 

 ภาพจาก SLSK Photography / Shutterstock.com

 

FIFA World Cup

 

การได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก หรือ FIFA World Cup ทำให้มีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาชมฟุตบอลและท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้ให้แก่ประเทศมหาศาล จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมประเทศต่าง ๆ ที่มีศักยภาพจึงทุ่มทุนเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ

 

การขายบัตรเข้าชมเป็นเพียงผลตอบแทนระยะสั้น เมื่อครั้งที่รัสเซียเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2018 นั้น มีรายได้จากการขายบัตรราว 782 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท) แต่ในระยะยาวรัสเซียมองว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวตลอด 10 ปี เฉลี่ย GDP เติบโตปีละ 4% ตั้งแต่เริ่มเตรียมการจัดงานในปี 2013 ไปจนถึงปี 2022 สร้างงานกว่า 220,000 ตําแหน่ง แม้จะคาดการณ์นี้จะสะดุดในปีท้าย ๆ ด้วยเรื่องไม่คาดฝันอย่าง COVID-19 แต่รัสเซียก็มองว่าการได้พัฒนาสาธารณูปโภคต่าง ๆ ในประเทศนั้นคุ้มค่าและเป็นผลดีต่อประชาชน เช่น การปรับปรุงถนนและโครงสร้างพื้นฐานด้วยวงเงิน 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6.27 แสนล้านบาท)

 

การเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกยังเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากรรัสเซียให้ขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับประชากรยุโรป คือเพิ่มจาก 10,608 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี เป็น 16,650 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือให้คนรัสเซียมีเงินเพิ่มขึ้นอีกปีละประมาณ 2 แสนบาทต่อคน

 

อย่างไรก็ตาม การทุ่มทุนแบบไม่คิดหน้าคิดหลังก็อาจสร้างความเสียหายได้ อย่างประเทศกาตาร์ที่จ่าย 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.2 ล้านล้านบาท) เพื่อคว้าโควตาเจ้าภาพฟุตบอลโลกในราคาแพงที่สุดในประวัติศาสตร์การจัดงาน สร้างเมืองใหม่ทั้งเมืองขึ้นมา 1 แห่งรอบสนามที่จะใช้จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ สร้างสนามใหม่ 7 แห่ง สร้างโรงแรมใหม่อีกนับ 100 แห่ง ซึ่งมียอดผู้ลงทะเบียนซื้อบัตรล่วงหน้าทั้งหมด 1.33 ล้านคน และขายบัตรเข้าชมได้มากกว่า 2.95 ล้านใบ แต่ด้วยกฎระเบียบอันเคร่งครัดในประเทศ ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การเป็นเจ้าภาพของกาตาร์อย่างหนาหู และมีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศเพียง 765,859 คน ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการแข่งขัน

งานอิเวนต์ไทย กับเสน่ห์ที่ยังส่งเสริมได้อีก

 

อิเวนต์และเทศกาลของไทยนั้นเปี่ยมไปด้วยเสน่ห์และเอกลักษณ์ที่โดดเด่นยากจะเทียบเคียง ทั้งอาหาร ภาษา ศิลปะ ดนตรี วิถีชีวิต ฯลฯ ที่ล้วนแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น ความหลากหลายเหล่านี้เองที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกอยากเข้ามาสัมผัส

 

ถึงแม้ว่าไทยจะมีจุดแข็งด้านวัฒนธรรมที่โดดเด่นและหลากหลาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเลือกเดินทางมาอิเวนต์และเทศกาลต่าง ๆ นั้นเกี่ยวพันกับความพร้อมในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานอย่างสาธารณูปโภคในแหล่งท่องเที่ยว โครงข่ายการคมนาคมที่เชื่อมโยงและครอบคลุม หรือสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ฯลฯ รวมไปถึงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมของเมืองและผู้คนให้เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยว ทั้งในด้านภาษา ความปลอดภัย และการไม่เอารัดเอาเปรียบ 

 

นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมดังกล่าวแล้ว การส่งเสริมและสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็มีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนางานอิเวนต์ของไทยให้ทันต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงของโลกไปพร้อม ๆ กับรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมอันทรงคุณค่าเอาไว้ รวมทั้งยกระดับงานอิเวนต์ให้มีมาตรฐานและเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น

 

ที่มา

10 Best Festivals in Copenhagen – Unique Copenhagen Celebrations You Won’t Find Anywhere Else – Go Guides, https://th.hotels.com/go/denmark/best-festivals-copenhagen

“ศึกษา ‘โตเกียวโอลิมปิก’ กับความคุ้มค่าเศรษฐกิจญี่ปุ่น.” Bangkok Bank SME, https://www.bangkokbanksme.com/en/tokyo-olympics-value-japanese-economy

“ ‘รัสเซีย’ เจ้าภาพฟุตบอลโลก การลงทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ.” workpointTODAY, 13 July 2018, https://workpointtoday.com/รัสเซีย-เจ้าภาพฟุตบอล/

“ยอดชมศึกซูเปอร์โบวล์แตะ 113 ล้านราย อานิสงส์ความปัง “ริฮานนา” โชว์พักครึ่ง : อินโฟเควสท์.” สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 14 February 2023, https://www.infoquest.co.th/2023/275704.

“สงกรานต์คึกคัก คนไทย-ต่างชาติแห่เล่นน้ำหลังอั้นมา 3 ปี ดันเงินสะพัด 1.85 หมื่นลบ.” Matichon, 5 April 2023, https://www.matichon.co.th/economy/news_3911729

“อีเวนท์ฟื้นแล้ว! อินเด็กซ์ฯ รายได้กลับมาโต 54% เดินหน้าทรานส์ฟอร์มเปิดรับพันธมิตรดิจิทัลร่วมทุน เตรียม IPO.” Brand Buffet, 7 July 2022, https://www.brandbuffet.in.th/2022/07/index-creative-village-transforming-new-business-real-and-digital-experience/

“บอลโลกกาตาร์มีนักท่องเที่ยวเพียง 765,000 คน ต่ำกว่าคาดการณ์เกือบ 50%.” กรุงเทพธุรกิจ, 7 December 2022, https://www.bangkokbiznews.com/world/1041988

“อุตสาหกรรมเพลงในอเมริกาเติบโตขึ้น 9.2% ในปี 2020 แม้จะเจอกับวิกฤตโควิด-19 ส่วนยอดขายแผ่นเสียงไวนิลเพิ่มขึ้น 29.2% – THE STANDARD.” The Standard, https://thestandard.co/streaming-riaa-83-percent-spotify-apple-music-industry-info/

“เทศกาลดนตรี “Coachella” ปลุกเศรษฐกิจทะเลทรายแคลิฟอร์เนีย.” กรุงเทพธุรกิจ, 17 April 2022, https://www.bangkokbiznews.com/world/999584

“เปิดรายได้ Coachella เทศกาลดนตรีที่แทบไปไม่รอดสู่การอัดฉีดเม็ดเงินหลายพันล้านบาทเข้าเมือง Indio.” Brand Inside, 17 April 2023, https://brandinside.asia/coachella-gross/

““COVID-19” สะเทือนอีเวนต์รวม ตลาด 2.3 แสนล้านสะดุด วูบสุดรอบ 30 ปี.” ผู้จัดการออนไลน์, 10 May 2020, https://mgronline.com/business/detail/9630000048699

“ฟุตบอลโลก “เจ้าภาพ-FIFA” ใครได้? ใครเสีย? ประเทศกำลังพัฒนาลงทุนมากแต่ได้น้อย.” ThaiPublica, 15 June 2018, https://thaipublica.org/2018/06/world-cup-2018-fifa-russia-economic-impact/

“MICE หนึ่งในอุตสาหกรรมทำรายได้เข้าประเทศ พาผู้ประกอบการรายใหญ่ และเล็กเติบโต.” ไทยรัฐออนไลน์, 1 October 2021, https://www.thairath.co.th/money/economics/analysis/2206616

“Music Events – Worldwide.” Statista, https://www.statista.com/outlook/dmo/eservices/event-tickets/music-events/worldwide

“Sport Events – Worldwide.” Statista, https://www.statista.com/outlook/dmo/eservices/event-tickets/sport-events/worldwide 

“ทำไม Super Bowl จึงเป็นการแข่งกีฬาที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก.” The Momentum, https://themomentum.co/gameon-super-bowl/ 

“Tokyo 2020 ทำเศรษฐกิจญี่ปุ่น ‘เจ็บ’ แค่ไหน? กับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ที่ขอบสนามโล่งที่สุดในประวัติศาสตร์ – THE STANDARD.” The Standard, 7 August 2021, https://thestandard.co/olympic-tokyo-2020-japanese-economic/ 

Share This Story !

7 min read,Views: 2181,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    กรกฎาคม 5, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    กรกฎาคม 5, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    กรกฎาคม 5, 2024