จับตา 6 วิกฤติสิ่งแวดล้อม ภัยใกล้ตัว น่ากลัวกว่าที่คิด

โดย ด้านนโยบายและแผน ททท.

 

หากเอ่ยถึงวิกฤตทางด้านสิ่งแวดล้อม เราคงจะนึกถึงปัญหาเด่น ๆ อย่างภาวะโลกร้อน การสูญเสียชั้นโอโซน การตัดไม้ทำลายป่า หรือมลพิษทางอากาศ ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นที่จับตามองและเฝ้าระวังในไทยและทั่วโลก แต่ก็เกิดขึ้นมาจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มากเกินไปตามจำนวนประชากรและความต้องการที่เพิ่มขึ้น  

 

แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า ทั้งหมดนี้เป็นเพียงภาพกว้างของปัญหาที่ธรรมชาติแบกรับอยู่เท่านั้น เพราะในตอนนี้ประเทศไทยกำลังเกิดปัญหา ‘การสูญเสียความหลากหลากหลายทางชีวภาพ’ ซึ่งเป็นผลกระทบที่รุนแรงและผู้คนยังไม่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้มากนัก

 

ประเทศไทยถือเป็นแหล่งที่อุดมไปด้วยระบบนิเวศที่สมบูรณ์ มีสายพันธุ์พืชมากกว่า 14,000 ชนิด และเพิ่งค้นพบสายพันธุ์ใหม่อีก 202 ชนิด แต่ในช่วงปี 2557-2563 พันธุ์พืชกว่า 999 ชนิดถูกคุกคาม และ สูญพันธุ์ไปแล้ว 3 ชนิด สะท้อนให้เห็นว่าความหลากหลายทางชีวภาพกำลังเข้าขั้นวิกฤต ไม่ใช่เพียงพันธุ์พืชเท่านั้น แต่พันธุ์สัตว์และระบบนิเวศก็ถูกคุกคามและค่อย ๆ สูญพันธุ์ไปเช่นกันจากวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์

 

#WOWTHAILAND มองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นน่าสนใจและสำคัญไม่แพ้ประเด็นอื่น ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น จึงรวบรวมทั้ง 6 วิกฤตสิ่งแวดล้อม ภัยเงียบใกล้ตัว มาให้ทุกคนได้ดูกันค่ะ

 

1. วิกฤตน้ำมันรั่วลงทะเลระยอง 

 

ในเดือนมกราคม กลางทะเลมาบตาพุด จ.ระยอง พบน้ำมันดิบกว่า 47,000 ลิตร รั่วไหลออกมา ซึ่งสร้างผลเสียรุนแรงให้กับทั้งระบบนิเวศและผู้คนในชุมชน และยังกลับมาเกิดขึ้นอีกเป็นครั้งที่สองในเดือนถัดมา ด้วยน้ำมันกว่า 5,000 ลิตร รั่วไหลออกมาที่จุดเดิม

 

แน่นอนว่าภาคการประมงนั้นได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งไม่สามารถออกทะเลจนขาดรายได้และรอการเยียวยาจากรัฐ ส่วนร้านค้าต่าง ๆ โดยรอบก็ได้รับความเดือดร้อนไม่ต่างกัน จากการที่ผู้บริโภคโดยทั่วไปเริ่มไม่มั่นใจในความปลอดภัยของอาหารทะเล จนไม่กล้าสั่งอาหารมารับประทาน

 

ดังนั้นการขจัดคราบน้ำมันไปแล้วก็ใช่ว่าปัญหาจะจบลง อาจได้ทัศนียภาพคืนกลับมา แต่ระบบนิเวศทางทะเล รวมไปถึงป่าชายเลนตกอยู่ในภาวะอันตรายและเสียสมดุลในระยะยาว เพราะเกิดมลพิษจากน้ำมันและสารเคมีที่ใช้ขจัด ตามมาด้วยการลดลงของออกซิเจน ส่งผลให้สัตว์น้ำและพืชมีแนวโน้มที่จะสูญพันธุ์ อย่างปะการังเป็นหมัน กว่าจะกลับมาแพร่พันธุ์ได้จะต้องใช้เวลาฟื้นฟูนาน 2-3 ปี แม้จะเพาะพันธุ์ใหม่ก็ใช้เวลากว่า 10 ปี ถึงจะเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ รวมถึงมลพิษและสารเคมีเหล่านี้ยังซัดกลับมาสู่ชายฝั่งที่กระทบกับชีวิตของผู้คนบนฝั่งด้วยเช่นกัน

 

2.วิกฤตไฟไหม้ป่าภัยจากฝีมือมนุษย์

 

41 จังหวัดในไทยต้องประสบกับวิกฤตไฟไหม้ป่าทุก ๆ ปี  และสถิติเผยว่าในปี 2562 สูญเสียพื้นที่ป่าไปจากไฟไหม้ไปมากถึง 151,681.9 ไร่ ทั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติเพียงอย่างเดียว แต่มีสาเหตุมาจากมนุษย์ กว่า 69% เผาเพียงเพราะต้องการเก็บของป่า และขยายพื้นที่ทางการเกษตรรองลงมา

 

เพราะเหตุนี้ป่าพรุโต๊ะแดง’ จึงเป็นป่าพรุที่อุดมสมบูรณ์ผืนสุดท้ายที่เหลืออยู่ในไทย อยู่ในพื้นที่อำเภอเมือง อำเภอตากใบและอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 165,000 ไร่ และนี่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่าปัญหาไฟไหม้ป่านั้นอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว

 

อย่างไรก็ดี เหตุไฟไหม้ป่าไม่ใช่เพียงการสูญเสียพื้นที่ป่า แต่เสียพันธุ์พืชและสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้น รวมไปถึงแหล่งดิน แหล่งน้ำสำคัญของจังหวัดนั้น ๆ อีกด้วย ทั้งยังส่งผลกระทบมาถึงสุขภาพของคนในชุมชนจากมลพิษทางอากาศอย่าง PM 2.5 ที่คร่าชีวิตคนไปมากกว่า 37,500 คนต่อปี ใด ๆ แล้วคงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าความสมดุลของป่าและอากาศจะกลับมาอุดมสมบูรณ์ดังเดิม

 

3.วิกฤตเหมืองถ่านหินอมก๋อย

 

แหล่งที่มีทรัพยากรน้ำและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ อย่างอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ถูกกว้านซื้อที่ดินจากภาคเอกชนตั้งแต่ในปี 2530 มาจนถึงในปี 2543 มีการยื่นใบอนุญาตทำเหมืองถ่านหินอะเบอะดินกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ แต่คนในชุมชนร่วมกันคัดค้าน เพราะว่าสิ่งนี้จะเข้ามาทำลายทั้งสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และพื้นที่ทำการเกษตรที่มีอยู่เดิม

 

ตั้งแต่ช่วงก่อสร้างที่จะทำให้แหล่งน้ำของชุมชนหายไป ไปจนถึงผลเสียจากการทำเหมืองถ่าน ที่ส่งผลให้น้ำและอากาศเกิดมลพิษและเสียความสมดุล ซึ่งเป็นผลเสียต่อสุขภาพของคนทั้งชุมชน ไม่ว่าจะเป็นโรคหอบหืด หัวใจ หลอดลมอักเสบ และปวดบวมที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงการเสียสมดุลที่จะเกิดขึ้นจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม

 

ปัจจุบันคนในชุมชนอมก๋อยยังคงส่งเสียงเพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันว่า ‘ไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน’ รวมถึงประชาชนทั่วไปก็ยังคงเรียกร้องกันทางโซเชียลมีเดียด้วย #saveอมก๋อย และยังคงยืดเยื้อมาจนถึงทุกวันนี้ 

 

4.วิกฤตอาหารเหลือทิ้งทั้งที่ยังกินได้

 

แค่กินอาหารไม่หมดก็กระทบสิ่งแวดล้อมได้ จริงหรือ?

 

ขยะอาหารเป็นสิ่งที่คนอาจหลงลืมไป แต่จากสถิติปี 2560 ประเทศไทยมีปริมาณขยะประเภทนี้ถึง 64% จากขยะทั้งหมด และถ้าเจาะลึกมาดูในกรุงเทพฯ ก็จะพบว่ามีเพียงแค่ 2% เท่านั้นที่นำไปรีไซเคิลต่อ 

 

ไม่จบเพียงเท่านั้น ขยะอาหารอีก 98% ที่เหลือไม่ได้ไปไหนไกล แต่ถูกนำไปขจัดขยะด้วยวิธีที่ผิด อย่างการฝังกลบ พบว่าในแต่ละปีมีมากถึง 1,300 ล้านตัน คิดเป็น 8% ของต้นเหตุก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั้งหมด ส่งผลโดยตรงต่อการเกิดภาวะโลกร้อน อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ที่จะทำให้ คน พืช สัตว์ และระบบนิเวศ ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

 

ทั้งนี้ยังส่งผลต่อเรื่องกลิ่น เพิ่มพาหะนำเชื้อโรคอย่างหนูและแมลงวัน ที่ส่งผลต่อสุขภาพของเราทางตรง ก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ อาการปวดหัว หรือโรคทางเดินอาหารอื่น ๆ ตามมา

 

5.วิกฤตขยะพลาสติกในยุคโควิด

 

เดิมทีขยะพลาสติกในประเทศไทยก็มีจำนวนมากจนติดอันดับที่ 5 ของประเทศที่สร้างขยะสูงที่สุด เมื่อปี พ.ศ. 2559 พบว่ามีมากถึง 4,796,494 ตัน/ปี หรือเฉลี่ย 69.54 กิโลกรัม/คน/ปี 

 

จนถึงช่วงที่สถานการณ์โรคโควิด 19 พุ่งสูงขึ้น ขยะพลาสติกก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 45% ตามไปด้วย สาเหตุหลักมาจากการใช้หน้ากากอนามัยที่สร้างขยะมากถึง 1.5-2 ล้านชิ้นต่อวัน และการปลอดภัยไว้ก่อนที่ผู้คนนิยมสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรี่แทนการนั่งที่ร้าน  

 

ถึงอย่างไรก็ดี การใช้พลาสติกในสถานการณ์เช่นนี้ก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก หากแต่จัดการให้ถูกทางคงส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าที่เป็นอยู่ เพราะยังมีคนจำนวนหนึ่งที่เลือกทิ้งขยะครัวเรือน หรือของเสียจากอุตสาหกรรมลงในแม่น้ำ และสุดท้ายระบบนิเวศทางทะเลก็ต้องรับผลกระทบในปลายทาง ความเสื่อมโทรมที่เกิดขึ้นจากไมโครพลาสติกส่งผลให้สัตว์กว่า 200 ชนิด ทั้งปลาวาฬ หรือเต่าเสียชีวิตด้วยความเข้าใจผิดที่คิดว่าขยะพลาสติกเป็นอาหารของพวกมัน 

 

ระบบนิเวศทางทะเลเสื่อมโทรมนี้ก็สะท้อนผลกลับมายังผู้คนเช่นกัน เราได้รับไมโครพลาสติกโดยไม่รู้ตัวจากอาหารทะเลและการสูดดม และอาจป่วยเป็นโรคมะเร็งหรือโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้ 

 

6.วิกฤตขยะอิเล็กทรอนิกส์ล้นเมือง

 

ด้วยช่วงเวลาที่เปลี่ยนผ่าน เทคโนโลยีมีความก้าวล้ำและนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ถือกำเนิด แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เกิดและพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์วิถีชีวิตและทำให้หลายคนต้องการมีไว้ในครอบครอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ค่านิยมของคนไทยได้เปลี่ยนไป จาก ‘พังแล้วซ่อม’ เป็น ‘พังแล้วซื้อ’ หรือ ‘การเปิดตัวของสินค้ารุ่นใหม่’ ในบางคราวอาจยังไม่พังแต่เราก็เลือกของใหม่และโยนของเดิมทิ้งไป 

 

จนตอนนี้ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 4 แสนตันต่อปี

และปัญหายิ่งทวีคูณขึ้นเพราะถูกนำกลับไปรีไซเคิลเพียง 7.1% เท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคนไทยยังไม่เคยชินกับการแยกขยะ ทำให้ทิ้งขยะชนิดนี้รวมกับขยะมูลฝอยอื่น ๆ ซึ่งยากทั้งต่อการนำไปรีไซเคิล รวมทั้งยังคงใช้การฝังกลบแบบเดิม ๆ  ที่ทำให้สารโลหะหนักปนเปื้อนลงไปยังพื้นดินและแหล่งน้ำ ส่งผลให้วงจรชีวิตของพืชและสัตว์น้ำสั้นลง และเพิ่มความเสี่ยงของการสูญพันธุ์ ส่วนภาคการเกษตรแน่นอนว่าได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กันจากน้ำเสียที่ไม่สามารถใช้เพาะปลูกได้

 

ถึงอย่างนั้น ในชีวิตประจำวันเราก็ได้รับผลกระทบไม่แพ้กันจากสารอันตรายและโลหะหนัก เพราะสามารถทำลายปอดและระบบประสาทในระยะยาวได้ จากการที่ร่างกายของเรานั้นดูดซับมันเข้าไปโดยที่เรานั้นไม่คาดคิด

 

ท้ายที่สุดแล้วการกระทำที่ไม่คำนึงต่อสิ่งแวดล้อมของพวกเรากลับกลายเป็นสิ่งที่จะย้อนกลับมาทำร้ายเราเอง และที่สำคัญส่งผลร้ายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทั้งระดับพันธุกรรม ระดับชนิดพันธุ์ และระดับระบบนิเวศอย่างน่าใจหาย หากพวกเราที่คอยพึ่งพิงธรรมชาติยังนิ่งเฉยและไม่ร่วมมือกันเปลี่ยนแปลง ต่อไปคงเป็นไปได้ยากที่จะกู้ทรัพยากรเหล่านี้กลับคืนมา

 


ที่มา: มูลนิธิสืบนาคะเสถียร, กรุงเทพธุรกิจ, มติชน, Greenpeace, Info center, Testtech, BBC, TDRI, The momentum, Thaipost, Expresso, Thalingchan, Endcoal 

Share This Story !

1 min read,Views: 153469,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤษภาคม 19, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤษภาคม 19, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤษภาคม 19, 2025