
End of the Office? จากอดีตสู่อนาคตของการทำงานในออฟฟิศ
ชญานิน วังซ้าย
- การทำงานโดยไม่มีออฟฟิศ (WFH) ส่งอิทธิพลทั้งเชิงบวกและลบต่อการทำงานอย่างไร
- การทำงานแบบไม่มีออฟฟิศหรือแบบ Hybrid อาจทำให้เกิดการเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business travel) ในรูปแบบใหม่
Looking Back : Office ในอดีต
นับตั้งแต่ช่วงเวลาประมาณ 60-70 ปีที่ผ่านมาจนถึงต้นปีที่แล้ว กิจวัตรประจำวันของมนุษย์ในโลกอุตสาหกรรมจำนวนมากถูกกำหนดจังหวะด้วยระบบการทำงานที่เรียกว่า ‘ออฟฟิศ’ นั่นคือการที่หน่วยงานแต่ละที่ ไม่ว่าหน่วยงานรัฐหรือบริษัทเอกชน จะมีสถานที่ตั้ง ซึ่งพนักงานทุกคนจะต้องเข้ามาอยู่พร้อมหน้ากันเป็นประจำ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นสัปดาห์ละ 5 วัน วันละประมาณ 8 ชั่วโมง ระหว่าง 9 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น จนเป็นที่รู้กันว่าการทำงาน ‘9 to 5’ ก็คือการทำงานออฟฟิศนั่นเอง
การทำงานในออฟฟิศส่งอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของมนุษย์ในศตวรรษที่ 20 และ 21 (จนถึงปี 2020) เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการต้องเดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่ใจกลางเมืองพร้อมกัน ทำให้เกิดปรากฎการณ์ที่เรียกว่า ‘รถติด’ การนั่งทำงานทุกวันที่โต๊ะประจำ การเดินไปคุยกันที่ตู้กดน้ำ การมีเวลาพักผ่อนเพื่อไปเที่ยวกับครอบครัวได้เฉพาะในวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดที่ทางการกำหนด (Bank Holiday) กล่าวได้ว่า ที่ผ่านมาจังหวะชีวิตของมนุษย์ทำงานทั่วไปดำเนินไปภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดโดยออฟฟิศ
ออฟฟิศยังมีอิทธิพลถึงในระดับประเทศ การพัฒนาศูนย์กลางทางเศรษฐกิจหรือใจกลางเมือง (Urban Center) ซึ่งเป็นที่ตั้งของออฟฟิศส่วนใหญ่ การสร้างระบบคมนาคม ทั้งถนน รถไฟ รถไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางเข้ามายังพื้นที่ศูนย์กลางดังกล่าวได้ การพัฒนาเมืองส่วนใหญ่ดำเนินไปภายใต้สมมติฐานว่าออฟฟิศจะอยู่คู่กับเราตลอดไป
ด้วยความสะดวกและความคุ้นชิน ทำให้การเข้าทำงานในออฟฟิศยังเป็นรูปแบบการทำงานกระแสหลัก แม้ว่าการพัฒนาทางเทคโนโลยีและการเชื่อมโยงอย่างทั่วถึงของระบบอินเทอร์เน็ตในหลายปีที่ผ่านมาจะทำให้คนงานประเภท Knowledge Worker สามารถทำงานของตนเองได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศ นอกจากนี้ ระบบ E-Banking หรือ Mobile Banking ยังทำให้ธุรกิจสามารถดำเนินการได้ 24 ชั่วโมง โดยไม่ต้องอาศัยพื้นที่สำนักงานเลยแม้แต่น้อย แต่ก่อนจะเกิดวิกฤต COVID-19 บริษัทที่ใช้ระบบ Flexible Office ทั่วโลกยังมีสัดส่วนเพียงประมาณ 5% เท่านั้น
WFH ไม่ต้องเข้าออฟฟิศก็ทำงานได้
สำหรับมนุษย์ทำงานทั่วไป การระบาดของไวรัสโคโรนาหรือ COVID-19 ในปีที่ผ่านมาส่งผลให้กิจวัตรประจำวันของการ ‘เข้างาน’ ถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิง มาตรการ Lockdown และการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค ทำให้บริษัทและหน่วยงานแทบทุกแห่งประกาศให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) แทนการเข้าออฟฟิศโดยติดต่อกันผ่านโทรศัพท์ อีเมล หรือการประชุมออนไลน์เท่านั้น
มาตรการ Work From Home ทำให้หลายบริษัทค้นพบว่า การทำงานไม่ได้เท่ากับการเข้าออฟฟิศ และการเข้าออฟฟิศอาจไม่จำเป็นต่อการดำเนินงานของบริษัท David Mattin นักวิเคราะห์ประจำสำนักวิจัย TrendWatching และผู้เชี่ยวชาญด้าน Strategy and Futures Research สภาเศรษฐกิจโลก ได้เขียนใน E-newsletter New World, Same Human ของเขาว่า ‘เหตุการณ์ Lockdown ทำให้พวกเราตระหนักว่า รูปแบบและระบบโครงสร้างของการทำงานที่ผ่านมาเป็นเพียงสิ่งประดิษฐ์ทางสังคม ซึ่งหากคนส่วนมากเห็นตรงกัน ระบบนี้อาจถูกยกเลิกและถูกทดแทนด้วยสิ่งอื่นได้’
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะบอกลากับออฟฟิศอย่างถาวร เรามาดูกันว่าการทำงานโดยไม่มีออฟฟิศ (WFH) ส่งอิทธิพลทั้งเชิงบวกและลบต่อการทำงานรวมทั้งพนักงาน อย่างไรบ้าง
WFH = Work From Hell ?
เริ่มจากข้อดี Harvard Business Review และ The Economist รายงานถึงการสำรวจก่อนเหตุการณ์ COVID-19 ซึ่งเปรียบเทียบระหว่างพนักงานที่ทำงานจากที่บ้านและที่ทำงานจากออฟฟิศในประเทศจีน จัดทำโดยนักวิจัยจาก Stanford University ผลสำรวจพบว่าพนักงานที่ทำงานจากที่บ้านมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่าคนที่ทำงานจากบริษัทถึง 13% นอกจากนี้ พนักงานที่ทำงานที่บ้านยังมีวันลาป่วยน้อยกว่า แม้ว่าการศึกษาดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้กับงานทุกประเภท (ในการศึกษาเป็นพนักงาน Call Center) แต่เป็นไปได้ว่าการทำงานบางอย่างจะมีประสิทธิภาพมากกว่าถ้าทำจากที่บ้านนอกจากนี้ Harvard Business Review รายงานว่าจากการสัมภาษณ์พนักงานที่ทำงานในบริษัทที่มีนโยบาย ‘ทำงานจากที่ไหนก็ได้’ (Work From Anywhere) ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา พบว่าพนักงานส่วนใหญ่พอใจกับรูปแบบการทำงานดังกล่าว โดยข้อดีที่สุดของการทำงานโดยไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศเป็นประจำ คือสามารถเลือกพื้นที่และช่วงเวลาในการทำงานได้อย่างอิสระ สำหรับพนักงานที่มีอายุน้อย การทำงานแบบ Work From Anywhere ทำให้สามารถเดินทางท่องเที่ยวต่างจังหวัดหรือต่างประเทศได้ไม่ต้องลางาน สำหรับพนักงานที่มีภาระทางบ้าน เช่น ต้องดูแลผู้ป่วย การทำงานแบบ Flexible เป็นทางออกที่ทำให้พวกเขาสามารถรับผิดชอบการงานพร้อมกับหน้าที่อื่น ๆ ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน
สำหรับข้อเสียของการ Work From Home ผลสำรวจความเห็นของพนักงานที่ต้องทำงานที่บ้านในภูมิภาคอเมริกาและยุโรป เนื่องจากมาตรการ Lockdown หลายชิ้นพบว่า พนักงานส่วนใหญ่ใช้เวลาในการทำงานนานกว่าเดิมเมื่อต้องทำงานจากที่บ้าน โดยในการศึกษาหนึ่งพบว่าเวลา Log off โดยเฉลี่ยของพนักงานที่ WFH จะนานกว่าเวลาที่ทางบริษัทกำหนดถึง 2 ชั่วโมง นอกจากนี้ งานวิจัยอีกชิ้นพบว่าพนักงานชาวอังกฤษ 44% รู้สึกว่าต้องทำงานหนักขึ้นเมื่อต้อง Work From Home ซึ่งการทำงานอย่างไร้ขอบเขตนี้ อาจมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความรู้สึกไม่มั่นคงในอาชีพเนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้พนักงานรู้สึกว่าต้องสร้างผลงานเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันการถูกเลิกจ้าง
แม้ว่าในภาวะปกติ การ Work Form Home จะทำให้พนักงาน โดยเฉพาะพนักงานผู้หญิงสามารถที่จะทำงานพร้อมกับดูแลภาระทางบ้านได้ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ COVID-19 ผู้หญิงในสหรัฐฯจำนวน4.2 ล้านคนต้องลาออกจากงานเนื่องจากไม่สามารถดูแลลูก ๆ ที่ต้องเรียนหนังสือที่บ้านไปพร้อม ๆ กับทำงานได้ โดย Oxfam รายงานว่าในปี 2020 ผู้หญิงทั่วโลกสูญเสียรายได้รวมกัน 800 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในแง่ของประสิทธิภาพในการทำงาน การสำรวจที่ผ่านมาพบว่าการพูดคุยปฎิสัมพันธ์กันอย่างไม่เป็นทางการ (Spontaneous, Informal Communication) ส่งผลดีต่อความสร้างสรรค์และการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ภายในบริษัท จึงไม่แปลกที่ผู้บริหารของบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ จะแสดงความกังวลว่าการ Work From Home ในระยะยาวจะส่งผลเสียต่อคุณภาพงานของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปัน แลกเปลี่ยนข้อมูล การสอนงาน หรือแม้แต่การประเมินผลการดำเนินงาน สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยการสื่อสารที่ดีซึ่งทำได้ยากขึ้นเมื่อทุกคนต้องทำงานที่บ้าน
เมื่อบริษัท Gensler ทำการสำรวจพนักงานที่ Work From Home จำนวน 10,000 คน ในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา พบว่าพนักงานมากกว่าครึ่งบอกว่า อยากกลับไปทำงานที่ออฟฟิศแต่ในลักษณะผสมผสาน (Hybrid) นั่นคืออาจมีการทำงานที่ออฟฟิศร่วมกับการทำงานที่บ้านบางเวลา หรืออาจเข้าออฟฟิศเฉพาะเมื่อมีวัตถุประสงค์บางอย่างเป็นครั้งคราว โดยผู้ตอบในทุกประเทศกล่าวว่าการเข้าออฟฟิศกระตุ้นให้เกิดการทำงานร่วมกับผู้อื่นในลักษณะ Collaboration มากกว่าการทำงานจากที่บ้านเพียงอย่างเดียว
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าเป็นห่วงว่า ผลวิจัยพนักงาน 31,092 คนจาก 31 ประเทศทั่วโลกโดยบริษัท Microsoft ในเดือนมกราคม 2021 พบว่าพนักงานประมาณ 40% อยากลาออกในอนาคตอันใกล้ โดยสาเหตุหลักมาจากอาการ Digital Burnout หรือความเหนื่อยล้าจากการทำงานผ่านหน้าจอตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะพนักงานรุ่นใหม่ หรือ Gen Z (อายุระหว่าง 18-25 ปี) ซึ่งมีอัตราอยากลาออกสูงถึง 54% ซึ่งการปรับเปลี่ยนการทำงานเป็นแบบ Flexible หรือ Hybrid ระหว่างการเข้าออฟฟิศกับ Remote Work ซึ่งดึงจุดแข็งของทั้ง 2 ระบบใช้เพื่อสร้างความร่วมมือและการเรียนรู้ในการทำงาน ตลอดจนส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน น่าจะเป็นทางออกสำหรับปัญหานี้ได้
WFH = โอกาสของ Business Travel ในอนาคต ?
บริษัทวิจัยด้านการท่องเที่ยว Skift วิเคราะห์ว่าการทำงานแบบ Work From Home หรือในลักษณะ Hybrid ระหว่างการเข้าออฟฟิศและ Work From Home อาจทำให้เกิดโอกาสทางการตลาดใหม่ ๆ สำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยว
นอกเหนือจากกลุ่ม Remote Worker หรือ Digital Nomad ซึ่งสามารถเดินทางไปทั่วโลกเมื่อไหร่ก็ได้ รวมทั้งสามารถอยู่ในต่างประเทศแบบระยะยาว การทำงานแบบไม่มีออฟฟิศหรือแบบ Hybrid อาจทำให้เกิดการเดินทางเพื่อธุรกิจ (Business Travel) ในรูปแบบใหม่ โดยในอนาคตบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดกลางอาจเลือกที่จะไม่มีพื้นที่สำนักงานเลยแต่อาจมีการรวมตัวของพนักงานบางทีมหรือทั้งองค์กรเป็นครั้งคราว เช่นเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งอาจมีพนักงานทั้งแบบที่เข้าออฟฟิศและแบบ Remote Worker ซึ่งอาจมีการจัดประชุมนอกสถานที่ในต่างจังหวัดหรือต่างประเทศก็ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่บริษัทมีพนักงานจากหลายประเทศทั่วโลก
การจัดประชุมเหล่านั้นเป็นโอกาสที่ดีของภาคการท่องเที่ยว โดยเครือโรงแรมบางแห่ง เช่น Marriott Hilton และ Accor ได้เริ่มออกแบบแพกเกจการประชุมและ Work From Hotel เพื่อดึงกลุ่มตลาดดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ความสำเร็จของแผนธุรกิจดังกล่าว ขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ด้วย
Looking Forward : End of The Office หรือ Work From Hybrid ?
อนาคตของออฟฟิศและการทำงานในโลกยุคหลัง Pandemic จะเป็นอย่างไร แม้ว่ารัฐบาลและภาคธุรกิจจะอยากให้เรากลับไปทำงานแบบปกติ หรือ Back to the office อย่างเร็วที่สุด การทำงานในอนาคตอาจไม่ใช่ทั้งการย้อนกลับไปเหมือนอดีต 100% แต่ก็ไม่ใช่การยกเลิกระบบการทำงานแบบเดิมอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นการทบทวนข้อดี-ข้อจำกัดของทางเลือกแต่ละอย่าง และหาทางเดินไปข้างหน้าอย่างดีที่สุด การทบทวนข้อดี-ข้อจำกัดของทางเลือกแต่ละอย่าง และหาทางเดินไปข้างหน้าอย่างดีที่สุด
ที่มา :
- The Pandemic Revealed How Much We Hate Our Jobs. Now We Have a Chance to Reinvent Work. Joanne Lipman. TIME. 27 May 2021. https://time.com/6051955/work-after-covid-19/
- The Coming War Between Labour and Capital The Global North is ready to return to work. But trouble is looming. David Mattin. New World Same Humans Weekly Newsletter. 2 May 2021. nwsh@substack.com
- How Travel Benefits From the Future Decentralized Workplace. Cameron Sperance. Skift.com. 17 March 2021. https://skift.com/2021/03/17/how-travel-benefits-from-the-future-decentralized-workplace/
- The Work from Anywhere Future. Harvard Business Review. November-December 2020
- Office Politics The fight over the future of work. The Economist. September 12th-18th 2020
- Survey: 40% of employees are thinkly of quilty their jobs. World Economic Forum 02 June 2021