
ทรัมป์ถอดหมด
พัชรวรรณ วรพล
เมื่อนาฬิกาวันสิ้นโลก (Doomsday Clock) ได้ถูกตั้งค่าเวลาใหม่เมื่อ 28 มกราคม 2568 โดยปรับให้เข็มนาฬิกามาอยู่ที่ 89 วินาทีก่อนเที่ยงคืน ซึ่งจะเร็วขึ้น 1 วินาทีจากปีก่อนและมันคือเวลาที่โลกจะล่มสลาย หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมมันถึงไม่ได้บอกเวลาเหมือนนาฬิกาปกติอื่น ๆ ทั่วไป นั่นก็เป็นเพราะมันถูกทำขึ้นมาใช้ในเชิงสัญลักษณ์ว่าโลกมีความเสี่ยงจะเข้าใกล้หายนะมากน้อยแค่ไหน ยิ่งนับถอยหลังเข้าใกล้เวลาเที่ยงคืนเร็วขึ้นเท่าไหร่ ก็จะยิ่งใกล้สู่วันสิ้นโลกมากขึ้นเท่านั้น โดยการปรับเข็มนาฬิกาจะเป็นไปตามสถานการณ์โลก ซึ่งคราวนี้ได้ปรับเพราะมีหลายสาเหตุคือ จากปัญหาสภาวะโลกร้อน จากสงครามยูเครนที่มีโอกาสบานปลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ และจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เป็นภัยต่อมนุษยชาติ ก็นับว่าเป็นการเตือนชาวโลกแบบกลาย ๆ ว่าหายนะเหล่านี้ก็มาจากมนุษย์เองนั่นแหละ
ผู้นำประเทศหลายคนให้คำมั่นว่าจะ “รักษาระดับอุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสให้คงอยู่” ซึ่งเป็นการอ้างอิงถึงเกณฑ์อันตรายของภาวะโลกร้อน นักลงทุนหลายสถาบันกล่าวว่าพวกเขามีเป้าหมายไปที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เหล่ามหาเศรษฐีสัญญาว่าจะปลูกต้นไม้หนึ่งล้านล้านต้น แต่ในตอนนี้หลาย ๆ คนที่เคยให้คำมั่นสัญญาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังถอนคำมั่นสัญญาของตนออกไป
จากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รุมเร้าอย่างฝุ่น pm 2.5 ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ควันจากไฟป่าที่มาจากการฝ่าฝืนเผาป่าเผาไร่ หรือที่เห็นชัด ๆ เป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลกอย่างเหตุไฟป่าที่สร้างหายนะให้ลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกานั้น สาเหตุย่อมเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างเลวร้ายด้วยนั่นเอง ทว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา นายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับประกาศจะถอนสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Paris Agreement ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติเพื่อลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้น้อยกว่า 2 องศาเซลเซียส แถมทรัมป์ยังประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานระดับชาติ” ขยายอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ โดยมีนโยบายอันแน่วแน่ว่าจะ “เจาะ เจาะ และเจาะ” เพื่อหาเชื้อเพลิงฟอสซิล จากการที่ทรัมป์ได้เน้นย้ำว่า “เรามีถ่านหินมากกว่าใคร ๆ เรามีน้ำมันและก๊าซมากกว่าใคร ๆ” เป็นการยืนยันว่าต้องมีการทำอุตสาหกรรมถ่านหินเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากมีแนวคิดที่ว่าถ่านหินที่สหรัฐฯ มีนั้นมีคุณภาพดีและสะอาด สามารถนำมาใช้เป็นแหล่งพลังงานสำรองได้หากท่อส่งก๊าซและน้ำมันเกิด “ระเบิด” ขึ้นมา โดยสหรัฐฯ นั้นเป็นผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ที่สุดในโลก และมีปริมาณถ่านหินสำรองมากกว่าประเทศอื่น ๆ รวมถึงเป็นผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่เป็นอันดับที่ 4 รองจากจีน อินเดีย และอินโดนีเซีย
โดยทรัมป์ต้องการเปิดพื้นที่ในเขตคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติอาร์กติก ที่ยังคงความบริสุทธิ์และมีความหลากหลายทางชีวภาพ นักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มได้เน้นว่า “อาร์กติกมีระบบนิเวศที่เปราะบางมาก” การขุดเจาะในบริเวณดังกล่าวจะรบกวนพื้นดินและทะเล เนื่องจากมีอุณหภูมิต่ำ ทำให้การทำความสะอาดการปนเปื้อนหรือการรั่วไหลของน้ำมันในบริเวณดังกล่าวเป็นไปได้ยากกว่า ซึ่งอาจทำให้สัตว์หลายชนิดต้องสูญพันธุ์ รวมถึงวาฬและเต่าทะเล
นอกจากนี้ยังจะยกเลิกการอุดหนุนเรื่องพลังงานสีเขียว เพิกถอนหรืออยู่ระหว่างการทบทวนกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ 100 ข้อ ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนกฎเกณฑ์การปล่อยมลพิษสำหรับโรงไฟฟ้า การลดการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำมากกว่าครึ่งหนึ่งของสหรัฐฯ ถอนเหตุผลทางกฎหมายในการจำกัดการปล่อยสารปรอทจากโรงไฟฟ้า อีกทั้งยัง “ยกเลิกข้อบังคับเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งมีเป้าหมายว่า 50% ของจำนวนรถทั้งหมดจะต้องเป็นรถยนต์ไฟฟ้าภายในปี 2573 ซึ่งเป็นความพยายามที่จะล้มเลิกกฎระเบียบที่ควบคุมมลพิษจากรถยนต์และมาตรฐานการประหยัดเชื้อเพลิง โดยทรัมป์อ้างว่าสิ่งเหล่านี้เป็นการจำกัดทางเลือกของผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรม นโยบายเหล่านี้ของทรัมป์อาจเพิ่มปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์อีก 4,000 ล้านตัน เทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯ ภายในปี 2573 เลยทีเดียว
แต่ในทิศทางตรงกันข้ามก็ยังคงมีหลายองค์กรในสหรัฐฯ และหลายประเทศที่ยังเลือกเส้นทางที่แตกต่างออกไป แม้ว่าถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซจะยังคงเป็นพลังงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่กระแสการใช้พลังงานสะอาดอย่างพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมทั่วโลกกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น สหภาพยุโรปได้พยายามลดการใช้ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ โดยในปีที่แล้ว มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวคิดเป็น 11 เปอร์เซ็นต์ของการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มประเทศยุโรป 27 ประเทศ ขณะที่อังกฤษปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งสุดท้ายเมื่อปีที่แล้วและรัฐบาลของอังกฤษประกาศว่าจะไม่ออกใบอนุญาตขุดเจาะใหม่ในทะเลเหนือ ด้านนอร์เวย์ก็สนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยรถยนต์ใหม่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ที่ขายได้ในปี 2567 เป็นรถยนต์ไฟฟ้า แม้แต่ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ยังตั้งเป้าหมายที่จะผลิตไฟฟ้าครึ่งหนึ่งจากพลังงานหมุนเวียนภายในปี 2573
จีน ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้พลังงานถ่านหินมากกว่าประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก ทำให้จีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดความร้อนแก่โลกมากที่สุดในโลก แต่ในขณะเดียวกัน จีนก็มีนโยบายโครงการพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม อีกทั้งจีนยังสามารถผลิตแผงโซลาร์เซลล์ราคาถูกได้ ส่งผลให้ราคาพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกลดลง และบริษัทต่าง ๆ ของจีนยังตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในต่างแดน เช่น ประเทศไทยและบราซิล
ทุกวันนี้ทั่วโลกเผชิญกับพายุเทอร์นาโด พายุเฮอริเคน ไฟป่า ฝุ่น pm 2.5 จากสภาพอากาศแปรปรวนแบบสุดขั้ว แต่ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อน ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปีที่แล้วถือเป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยเป็นปีแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้นกว่า 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม เราก็คงต้องจับตามองในอนาคตข้างหน้าว่า สภาพภูมิอากาศของโลกนั้นจะเป็นอย่างไร เข็มนาฬิกาวันสิ้นโลกจะถูกปรับไปในทิศทางไหน แต่ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในประวัติศาสตร์ หากว่าโลกร้อนขึ้นอย่างไม่สามารถกลับคืนมาได้.
ที่มา
“การถอนตัวจากความตกลงปารีสของสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบต่อความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศของอาเซียนหรือไม่.” Law for ASEAN, 11 Jul 2017, https://lawforasean.krisdika.go.th/Content/View?Id=283&Type=1
“Climate and Environment.” The New York Times, https://www.nytimes.com/international/section/climate
Dick Polman. “Trump dumps on a top guy in God squad. Sad!” whyy.org, 10 May 2016, https://whyy.org/articles/trump-dumps-on-a-top-guy-in-god-squad-sad/
“Doomsday Clock.” Bulletin of the Atomic Scientists, https://thebulletin.org/doomsday-clock/
“News and Stories – Earth Day.” EarthDay.org, https://www.earthday.org/news-and-stories/
“Trump considers using rare panel to override wildlife protections.” Environmental Health News, 29 January 2025, https://www.ehn.org/trump-considers-using-rare-panel-to-override-wildlife-protections-2671013750.html
WALLING, MELINA. “What to know about Trump’s first executive actions on climate and environment.” AP News, 27 January 2025, https://apnews.com/article/trump-executive-orders-climate-change-environmental-policy-e4fb2b2495c0bcf880fab46605936b09