
สถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศ (เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566) และสรุปภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศปี 2566
โดย งานวิเคราะห์ตลาดในประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด
จัดทำเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2566
ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศ เดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566
สถานการณ์การท่องเที่ยวตลาดในประเทศเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2566 มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (ทอน) 48.11 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 220,069 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เนื่องจากเป็นช่วงปิดภาคเรียนในเดือนตุลาคม เป็นฤดูท่องเที่ยวและมีช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องทั้งในเดือนตุลาคม-ธันวาคม ส่งผลให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวหรือเดินทางกลับบ้าน ผนวกกับภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวตามยอดดอยยอดภูเริ่มมีอากาศที่เย็นลง เหมาะกับการท่องเที่ยวพักผ่อน จึงเป็นแรงกระตุ้นให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยว อีกทั้งยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจาก ททท. ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตร ดังนี้
- กิจกรรมส่งเสริมทางการตลาดจาก ททท. และพันธมิตร อาทิ โครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน, เทศกาลลอยกระทง, งานวิจิตรเจ้าพระยา 2566 “Vijit Chao Phraya 2023”, กิจกรรมส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2567 (Amazing Thailand Countdown 2024), การท่องเที่ยวเสริมสิริมงคลกลุ่มสายมูของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง, งานเทศกาลดนตรีแจ๊ส และเทศกาลพลุนานาชาติเมืองพัทยา, เส้นทางเที่ยวรถไฟลอยน้ำเขื่อนปากสัก ชมทุ่งทานตะวันของการรถไฟแห่งประเทศไทย, การเปิดสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ “บาหลี น่าน BALI NAN” (น่าน)
- การเพิ่มจำนวนเที่ยวบินและทำโพรโมชันราคาบัตรโดยสารของสายการบินภายในประเทศอย่าง AirAsia อาทิ เส้นทางที่เพิ่มจำนวนเที่ยวบินได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ-เชียงราย สำหรับการทำโพรโมชันราคา 40% จากราคาปกติ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางในประเทศตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2567 อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ-อุดรธานี, กรุงเทพฯ–อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-บุรีรัมย์, กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-น่าน, กรุงเทพฯ–พิษณุโลก
- กระแสการท่องเที่ยวตามรอยละคร “พรหมลิขิต” ทำให้แหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานในหลายจังหวัด อาทิ พระนครศรีอยุธยา สมุทรปราการ พิษณุโลก ลพบุรี ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวคนไทยมากขึ้น ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ค่าครองชีพ และราคาพลังงานที่สูง ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยว แต่อย่างไรก็ดี ความต้องการออกท่องเที่ยวของคนไทยจะทำให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับกำลังซื้อที่มี ทั้งในรูปแบบลดจำนวนวันเดินทางให้น้อยลง เลือกเที่ยวระยะใกล้ และใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น
โดยแต่ละภูมิภาคมีสถานการณ์ท่องเที่ยวดังนี้
กรุงเทพมหานคร
มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน คาดว่ามีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (ทอน) 7.56 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 41,744 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่ภาครัฐ ททท. และเอกชนร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เทศกาลลอยกระทง, งานวิจิตรเจ้าพระยา 2566 “Vijit Chao Phraya 2023”, กิจกรรมส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ 2567 (Amazing Thailand Countdown 2024) ในพื้นที่ต่าง ๆ ได้แก่ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ศูนย์การค้า Central World ศูนย์การค้า ICON SIAM ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ และสี่แยกราชประสงค์ รวมทั้งงาน “Awakening Bangkok 2023” ครั้งที่ 6 กับธีม “Time Passage – ทางของเวลา” ในย่านพระนคร-ปากคลองตลาด กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังได้รับอานิสงส์จากการจัดคอนเสิร์ต แฟนมีตติ้ง ประจำเดือนตุลาคม 2566 อย่าง SAM SMITH GLORIA the Tour in Bangkok 2023, P1HARMONY Live Tour in Bangkok ทำให้เหล่า FC จากจังหวัดต่าง ๆ เดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมงานคอนเสิร์ตเป็นจำนวนมาก ซึ่งจากปัจจัยสนับสนุนที่กล่าวมาส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีจำนวนและรายได้เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา
ภาคกลาง (รวมภาคตะวันตก)
มีการเติบโตที่ดี คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (ทอน) 16.18 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 42,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 ทั้งนี้ส่วนหนึ่งมาจากกระแสเที่ยวตามรอยละคร “พรหมลิขิต” ทำให้แหล่งท่องเที่ยวโบราณสถานในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา และสถานที่ถ่ายทำละครอย่างเมืองโบราณ สมุทรปราการ ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นคนไทย ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเป็นชาวเกาหลี จีน และกลุ่มยุโรป อีกทั้งกรมศิลปากรได้ขานรับกระแสละครดัง โดยเปิดบริการให้นักท่องเที่ยวเข้าชมวัดไชยวัฒนารามได้จนถึงเวลา 22.00 น. ในช่วงวันศุกร์-อาทิตย์ ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวและเกิดการพักค้างในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นฤดูท่องเที่ยวของแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี ผนวกกับได้รับแรงหนุนจากความได้เปรียบของระยะเวลาในการเดินทางที่เที่ยวง่ายเที่ยวสั้น ค่าใช้จ่ายไม่สูงสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ จึงทำให้ภาคกลาง (รวมภาคตะวันตก) มีจำนวนการเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
ภาคตะวันออก
ยังคงมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจำนวนและรายได้ คาดว่ามีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (ทอน) 6.17 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 42,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลายเหมาะกับการเที่ยวในแต่ละฤดูกาล ทำให้สามารถเที่ยวได้ตลอดทั้งปี ผนวกกับมีปัจจัยสนับสนุนจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมตลาด อาทิ กิจกรรมนั่งรถไฟ KIHA 183 ย้อนรอยประวัติศาสตร์เมืองแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งได้รับความนิยมจากคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะกลุ่ม GenY, การจัดกิจกรรมกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยววันธรรมดา “Rayong Weekday Special วันธรรมดา…ที่ไม่ธรรมดา”, เทศกาลดนตรีแจ๊สเมืองพัทยา (Pattaya International Jazz Festival 2023) โดยมี KENNY G พร้อมศิลปินแจ๊สชื่อดังทั้งไทยและต่างประเทศ เป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่ม Hi-end ให้เข้ามาใช้จ่ายในพื้นที่จังหวัด, “เทศกาลพลุนานาชาติพัทยา (Pattaya International Fireworks Festival 2023, บางแสน 42 ชลบุรี มาราธอน 2023 จากกิจกรรมที่กล่าวมาส่งผลให้ทุกจังหวัดในภูมิภาคภาคตะวันออกมีการเติบโตสูง
ภาคใต้
มีการเติบโตเพิ่มขึ้น คาดว่ามีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (ทอน) 5.03 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 28,316 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 25 เนื่องจากเข้าสู่ฤดูกาลเที่ยวทะเลฝั่งอันดามันอย่าง ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง ระนอง และสตูล กอปรกับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวแข่งขันทำโพรโมชันราคาแพ็กเกจกิจกรรมดำน้ำชมปะการังในพื้นที่ท่องเที่ยวดังกล่าว รวมทั้งได้แรงหนุนจากสายการบิน AirAsia เพิ่มจำนวนเที่ยวบินและจัดทำโพรโมชันบัตรโดยสารลดราคา 40% จากราคาปกติ ในเส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต, กรุงเทพฯ–กระบี่ ยิ่งช่วยสร้างแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางเข้าพื้นที่ทะเลฝั่งอันดามันเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการจัดกิจกรรมสำคัญอย่างการแข่งขันลากูน่า ภูเก็ต ไตรกีฬา ครั้งที่ 29 (Laguna Phuket Triathlon 2023) มีนักไตรกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันมากกว่า 1,000 คน จาก 53 ประเทศทั่วโลกรวมคนไทย โดยกิจกรรมดังกล่าวสามารถสร้างรายได้หมุนเวียนในพื้นที่ภูเก็ตและพื้นที่ใกล้เคียงอย่างพังงาเป็นเม็ดเงินจำนวนกว่า 43 ล้านบาท นอกจากนี้ กระแสนั่งรถไฟเที่ยวในกลุ่มนักท่องเที่ยว GenY ยังคงแรงต่อเนื่องในเส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่, กรุงเทพฯ-กันตัง (ตรัง) และเส้นทางรถไฟ 3 จังหวัดชายแดนใต้ รวมทั้งการจัดโครงการ The story of Railway Journey “เที่ยวแบบสับ (จับเรื่อง) ราง” พร้อมเปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโดยรถไฟอย่างยั่งยืน อาทิ เส้นทางสวี จ.ชุมพร และเส้นทางกันตัง จ.ตรัง ส่งผลให้ภาพรวมท่องเที่ยวภาคใต้มีการเติบโตเพิ่มขึ้นตลอดทั้ง 3 เดือน
ภาคเหนือ
มีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ามีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (ทอน) 6.09 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 46,026 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ที่แหล่งท่องเที่ยวตามยอดดอยยอดภูเริ่มมีสภาพอากาศที่เย็นลง ผนวกกับมีปัจจัยส่งเสริมจากกิจกรรมของ ททท. ร่วมกับพันธมิตร อาทิ กิจกรรมมนต์เสน่ห์เชียงใหม่ เมืองดอกไม้งามภาคเหนือ 2566, Chiang Mai Design Week 2023, กิจกรรมขึ้นดอยจิบชา กาแฟ ชมวิวสวยในเส้นทางเชียงราย เชียงใหม่ และน่าน, กิจกรรม Weekdays เสน่ห์น่าน ที่กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวไทยออกเดินทางไปเที่ยวน่านในวันธรรมดา, การแสดงขบวนศิลปะร่วมสมัย Chiang Rai 2023 Art Carnival, การจัดโครงการ The story of Railway Journey “เที่ยวแบบสับ (จับเรื่อง) ราง” พร้อมเปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนโดยรถไฟอย่างยั่งยืน อาทิ เส้นทางนครลำปาง, เส้นทางแพร่–ลำปาง, รวมทั้งกิจกรรมลอยกระทง และกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2567 จ.เชียงใหม่ รวมทั้งยังได้รับแรงหนุนจากสายการบิน AirAsia ด้วยการจัดทำโพรโมชันบัตรโดยสารลดราคา 40% จากราคาปกติในเส้นทางเมืองหลัก-เมืองรองอย่าง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-เชียงราย, กรุงเทพฯ-น่าน เพื่อกระตุ้นให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้สถานการณ์ท่องเที่ยวภาคเหนือมีการเติบโตเพิ่มขึ้นสูง อย่างไรก็ดี มีประเด็นต้องติดตามคือ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่มักจะเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี ซึ่งในช่วง 3 เดือนนี้ (ตุลาคม-ธันวาคม 2566) สถานการณ์ฝุ่นยังไม่รุนแรงและไม่เกินค่ามาตรฐาน จึงไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อการทำกิจกรรมท่องเที่ยว แต่หากปริมาณฝุ่นมีค่าเกินมาตรฐานความปลอดภัยเฉกเช่นเดียวกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา คาดว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวภาคเหนือจะชะลอตัวลง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีการเติบโตเพิ่มขึ้น คาดว่ามีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (ทอน) 7.09 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 18,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 โดยปัจจัยสนับสนุนหลัก ๆ ยังคงมาจากกระแสความศรัทธาต่อเนื่องของกลุ่มสายมู ผนวกกับได้รับแรงหนุนจาก ททท. ร่วมกับพันธมิตร จัดกิจกรรมเสริมบุญสุดปัง ไหว้พระประจำวันเกิด@นครพนม, บินรับบุญ เสริมมงคลกับอาจารย์คฑาเส้นทางนครพนม รวมทั้งสายการบิน AirAsia จัดโพรโมชันบัตรโดยสารกับทริปมูปลายปี โชคดีรับปีใหม่เส้นทางกรุงเทพฯ-อุดรธานี และกรุงเทพฯ-นครพนม อีกทั้งยังจัดโพรโมชันบัตรโดยสารลดราคา 40% จากราคาปกติในเส้นทางเมืองหลัก-เมืองรองอย่าง กรุงเทพฯ-ขอนแก่น, กรุงเทพฯ-อุดรธานี, กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี, กรุงเทพฯ-ร้อยเอ็ด และกรุงเทพฯ-บุรีรัมย์ เพื่อกระตุ้นให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่ จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้จำนวนการเดินทางท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเติบโตเพิ่มขึ้นสูง
สรุปภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศปี 2566
มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย (ทอน) 164.26 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 794,754 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24 ซึ่งทิศทางการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นนี้เป็นผลมาจากปัจจัยสนับสนุนจากการทำกิจกรรมของ ททท. ร่วมกับภาครัฐและเอกชน อาทิ การส่งเสริมเที่ยวในประเทศได้ทุกวันผ่านโครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน, การจัดโพรโมชันร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรมที่พัก, การเพิ่มจำนวนเที่ยวบินและการจัดโพรโมชันราคาของบัตรโดยสารภายในประเทศ, กระแสท่องเที่ยวตามรอยละครดังอย่างพรหมลิขิต, กระแสนั่งรถไฟเที่ยวเส้นทางรถไฟภาคใต้ ตลอดจนการท่องเที่ยวเสริมสิริมงคลกลุ่มสายมูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง, การส่งเสริมกิจกรรมเที่ยววันธรรมดาในภาคตะวันออกและภาคเหนือ
ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ ค่าครองชีพ และราคาพลังงานที่สูง ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งทำให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับกำลังซื้อที่มี ทั้งในรูปแบบลดจำนวนวันเดินทางให้น้อยลง เลือกเที่ยวระยะใกล้ และใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น นอกจากนี้ ความต้องการของคนไทยที่จะออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ผนวกกับการส่งเสริมการตลาดดึงนักท่องเที่ยวไทยเข้าประเทศของประเทศคู่แข่งอย่างญี่ปุ่น ไต้หวัน เวียดนาม สิงคโปร์ รวมไปถึงค่าเงินเยนที่อ่อนค่า จะเป็นตัวดึงให้คนไทยออกเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยความท้าทายของการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศ