Do you know where’re you going to? หลังจากนี้ เราจะไปไหนกัน

โตมร ศุขปรีชา

 

  • จากยุคสมัยที่ดีงามที่สุดยุคหนึ่งของมนุษยชาติ สู่คลื่นแห่งโรคระบาดที่โหมกระหน่ำ จึงเกิดเป็น ‘กระบวนการเรียนรู้’ (Learning Process) ใหม่
  • COVID-19 อาจกลายเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะอยู่กับเราไปจนชั่วชีวิต โดยเฉพาะชีวิตในศตวรรษที่ 21 เลยก็เป็นได้

 

 

ใน TAT Review สามฉบับหลัง เราชวนคุณผู้อ่านย้อนกลับไปหา ‘ราก’ และ Passion ที่แท้จริงของตัวเอง เพื่อประกอบสร้างรากนั้นให้กลายขึ้นมาเป็นธุรกิจที่เรารัก อาจเป็นธุรกิจท่องเที่ยวก็ได้ และเมื่อความรักในรากก่อตัวเป็นรูปร่าง ก็เป็นไปได้อย่างสูง ที่ความรักนั้นจะยั่งยืน

 

แต่แล้ว คลื่นแห่ง COVID-19 ก็ถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรง ระลอกแล้วระลอกเล่า เราถกเถียงกันเรื่องการเดินทางในยุคหลัง COVID-19 มาเนิ่นนานเป็นปี เราพูดคุยกันถึง ‘วัคซีนพาสปอร์ต’ ที่จะเป็นใบเบิกทางให้เราได้ตระเวนไปไหนต่อไหนได้เหมือนที่เคยเป็นมา แต่ ณ วันนี้ เรายังบอกไม่ได้อยู่ดี ว่าสถานการณ์จะดีขึ้นเมื่อไหร่ และเราจะออกเดินทางต่อไปได้อีกครั้งเหมือนที่เคยทำเมื่อสองปีก่อน – จริงไหม

ในเวลาที่ทุกอย่างโหมกระหน่ำและทุกคนต้องอยู่กับที่ เราย้อนกลับไปคิดถึงยุค 1990 ยุคที่ดูคล้ายเป็นสมัยที่สงบที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ยุคที่ผู้คนมีเสรีภาพ กำแพงระหว่างกันที่เคยกั้นขวางถูกทุบทลาย และความคิดของมนุษย์ก็คล้ายพุ่งขึ้นสู่จุดสูงสุด ทั้งในแง่วิชาการ กับความคิดเรื่องโพสต์โมเดิร์น รวมไปถึงเรื่องศิลปะและวิทยาการต่าง ๆ อีกหลายด้านด้วย

การย้อนเวลากลับไปหายุคเก้าศูนย์ จึงเป็นคล้ายการ ‘ท่องเที่ยว’ ไปในอดีต เป็น Nostalgic Tourism ที่มีลักษณะคล้ายการท่องไปในวัฒนธรรมอื่น โลกอื่น ซึ่งแท้จริงก็คือโลกใประวัติศาสตร์ และพร้อมกันนั้น เราก็รับรู้อยู่ว่า นั่นคือการท่องไปในโลกที่ไม่มีวันหวนคืนกลับมาได้อีกแล้ว

จากรากของเรา จากคลื่นแห่งโรคระบาดที่โหมกระหน่ำ และการย้อนกลับไปหาบทเรียนในยุคสมัยที่ดีงามที่สุดยุคหนึ่งของมนุษยชาติ ก่อให้เกิดคำถามสำคัญขึ้นมาว่า – แล้วเราจะเอาอย่างไรต่อดี

 

 

เราจะไปทางไหนดี?

 

ในเนื้อเพลง Do you know where you’re going to? ซึ่งเป็นเพลงธีมของภาพยนตร์เรื่อง Mahogany ขับร้องโดย ไดนา รอส คำถามนี้ดังขึ้นเสียดแทงใจเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า

 

Do you know where you’re going to? – เธอรู้ไหมว่าเธอกำลังจะไปที่ไหน

 

Do you like the things that life is showin’ you? – เธอชอบสิ่งที่ชีวิตแสดงให้เธอเห็นหรือเปล่าหนอ

 

Where are you going to? – เธอกำลังจะไปที่ไหน

 

Do you know? – เธอรู้ละหรือ?

 

เมื่อคลื่นแห่งโรคระบาด COVID-19 กระเพื่อมสู่ทุกวงการของโลก ตั้งแต่ระดับฐานรากจนถึงระดับนโยบาย คลื่นนี้ส่งผลต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ สังคม และกระทั่งต่อกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์ในระดับปัจเจกด้วย 

 

เราอึ้ง เราตระหนก เราตื่นตะลึงต่อสิ่งที่ได้พบเห็น  COVID-19 สำแดงให้เราเห็นว่า ไม่มีอะไรเลยที่เราเคยรู้จัก จะสามารถต่อกรกับความรุนแรงของคลื่นแห่งการระบาดขนาดนี้ได้ สังคมของเราไม่ได้ ‘เตรียมพร้อม’ อะไรไว้เลยกับความรุนแรงระดับนี้ เรามีชีวิตอยู่บนความเสี่ยงและเปราะบาง ไม่ใช่เพียงเฉพาะมนุษย์เงินเดือนที่ต้องผ่อนทุกสิ่ง จนเมื่อขาดรายได้ไปเพียงระดับเดือน เราก็แทบจะอยู่กันไม่ได้แล้ว แต่ยังรวมไปถึงระดับนโยบายที่ไม่มีการเตรียมพร้อมเพื่อสร้าง Safety Net ให้กับผู้คนด้วย

 

มันจึงเป็นความเปราะบางทั้งในระดับปัจเจก และความเปราะบางทั้งในระดับโครงสร้าง

 

แล้วเราจะทำอย่างไรดี?

 

มีผู้กล่าวไว้ว่า เนื่องจากมนุษย์แต่ละคนต้องพบความขัดแย้งใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับความเข้าใจหรือการรับรู้โลกในลักษณะเดิม จึงเกิดความจำเป็นที่ต้องก้าวเข้าหา ‘กระบวนการเรียนรู้’ (Learning Process) ใหม่ที่แตกต่างไปจากวิถีชีวิตแบบเดิม ๆ ที่พึ่งพิงกระบวนการเรียนรู้แบบเดิม ๆ ที่เราคุ้นเคยมาเป็นเวลานาน

 

แต่นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายดายเลย

 

ในวันที่ 11 มีนาคม 2020 องค์การอนามัยโลกหรือ WHO ได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้เป็นการระบาดใหญ่หรือ Pandemic จึงเกิดมาตรการเข้มงวดขึ้นกับแทบทุกประเทศทั่วโลก เช่น การปิดพรมแดน การวางมาตรการห้ามออกนอกเคหสถานในยามวิกาลหรือเคอร์ฟิว การกักตัวอยู่กับบ้าน การห้ามจัดงานที่มีการรวมตัวกันของผู้คนจำนวนมาก การทำงานจากบ้าน ฯลฯ เพื่อจำกัดการเดินทางเคลื่อนที่ของประชาชน

 

COVID-19 ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ที่จำเป็นและแผ่กว้างไปทั่วโลก นั่นคือการรักษาระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing อันเป็นมาตรการลดการแพร่กระจายของโรค การรักษาระยะห่างทางสังคมหมายถึงการลดการติดต่อระหว่างกันให้เหลือน้อยที่สุด จึงช่วยจำกัดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ มาตรการนี้เป็นที่เห็นพ้องต้องกันในระดับโลกและนานาชาติว่าเป็นหัวใจสำคัญ ที่จะขีดวงการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ 

 

แต่ในขณะเดียวกัน มาตรการนี้ก็ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ต่อวิถีชีวิตของมวลมนุษยชาติในชั่วข้ามคืนด้วย เพราะการรักษาระยะห่างทางสังคมก่อให้เกิดการแยกขาดขนานใหญ่ที่เรียกว่า Disjuncture ขึ้นกับผู้คนทั่วโลกในแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

 

เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า ชีวิตของมนุษย์ประกอบขึ้นจากประสบการณ์จำนวนมากที่ค่อย ๆ สั่งสมจนกลายเป็นตัวตนหรืออัตลักษณ์ทางสังคมและวัฒนธรรม การสั่งสมของประสบการณ์นี้อาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม จากการรับรู้ประสบการณ์นั้น ๆ ด้วยตัวเองแบบปฐมภูมิ หรือรับรู้ผ่านการบริโภคข้อมูลข่าวสารจากผู้อื่นอันเป็นประสบการณ์แบบทุติยภูมิ กระบวนการทั้งหมดนี้เรียกว่าการเรียนรู้หรือ Learning Process ซึ่งในแต่ละคนจะมีลักษณะเฉพาะตัวแตกต่างกันออกไป

 

แต่แล้วเมื่อเกิด Disjuncture ขึ้นมา กระบวนการเรียนรู้ที่เคยต้องพึ่งพิงสายสัมพันธ์ระหว่างผู้คน ทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ก็ขาดสะบั้นลง

 

การแยกขาดขนานใหญ่หรือ Disjucture นั้นมีสองบทบาท บทบาทแรกคือการขัดขวางกระบวนการเรียนรู้หรือสั่งสมประสบการณ์แบบเดิม ๆ โดยเฉพาะประสบการณ์ทางตรงแบบปฐมภูมิหรือการนำตัวเองเข้าไปสัมผัสรับรู้เหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น การนั่งเรียนในห้องเรียน การได้พบปะพูดคุย ซึ่งเมื่อเกิดมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมแล้วเป็นไปได้ยากขึ้น แต่ในอีกบทบาทหนึ่ง การแยกขาดขนานใหญ่ก็ทำให้มนุษย์ต้องดิ้นรนแสวงหากระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ขึ้นมาด้วย 

 

แต่มันคืออะไรเล่า?

 

เรายังไม่รู้ และอาจไม่รู้ต่อไปจนกว่าคลื่นของ COVID-19 จะผ่านเราไป

 

ตรงนี้เองคือคำถามที่เพลง Do you know where you’re going to?  ได้ถามเราเอาไว้

 

มันคือคำถามของความหวัง

 

Do you get what you’re hopin’ for? – เธอได้ในสิ่งที่วาดหวังเอาไว้หรือเปล่า

 

When you look behind you, there’s no open doors – เมื่อเธอมองย้อนกลับไปข้างหลัง ไม่มีประตูใด ๆ เปิดออก

What are you hopin’ for? – แล้วเธอวาดหวังถึงอะไรเล่า

 

Do you know? – เธอรู้ละหรือ

 

เพราะชีวิตของมนุษย์นั้นยืนยาว ดังนั้น ทฤษฎีการเรียนรู้ที่สำคัญและทั่วโลกให้การยอมรับในปัจจุบัน จึงคือทฤษฎีการเรียนรู้ตลอดชีวิตหรือ Life Long Learning Theory ซึ่งมองว่าการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะช่วงวัยใดช่วงวัยหนึ่งเท่านั้น แต่มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

 

การเรียนรู้ตลอดชีวิตได้รับการยอมรับจากผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกมากว่าครึ่งศตวรรษแล้วว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญและจำเป็นต่อพัฒนาการของมนุษยชาติ เพราะเป็นการเรียนรู้ที่มิได้จำกัดอยู่กับช่วงวัยเด็กเท่านั้น แต่ดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่และวัยชรา ทั้งยังสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกบริบท จากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ที่หลากหลาย ทั้งพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และแหล่งเรียนรู้แบบอื่น ๆ ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้ในระบบการศึกษาหรือในโรงเรียนเท่านั้น การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงมีศูนย์กลางแบบมนุษยนิยม และบูรณาการศาสตร์การเรียนรู้ในทุกด้านเข้าด้วยกัน เพื่อให้สมาชิกในสังคมทั้งหมดสามารถเข้าถึงกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตัวเองได้อย่างสะดวกที่สุด ไม่ว่าจะเป็นแหล่งเรียนรู้ทางกายภาพหรือแหล่งเรียนรู้ออนไลน์

 

ในอดีต ศัพท์สำคัญเกี่ยวกับการเรียนรู้ของมนุษย์ที่ใช้กันในวงกว้าง ก็คือการศึกษาหรือ Education แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนมาใช้คำที่มีความหมายกว้างขวางกว่าอย่างการเรียนรู้หรือ Learning มากขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงความหมายและจุดเน้นต่าง ๆ 

 

ในการศึกษานั้น ผู้ที่มีบทบาทสำคัญอย่างมากก็คือครูหรือผู้สอน ที่ต้องทำหน้าที่ให้การศึกษากับผู้รับหรือศิษย์ แต่กระบวนการเรียนรู้คือกระบวนการที่มองมาจากมุมของผู้เรียน ดังนั้น การศึกษาอย่างเป็นทางการดังที่เคยเป็นจึงขยายวงกว้างมากินความถึงการแสวงหาความรู้ ทักษะ ทัศนคติ และคุณค่าต่าง ๆ ตามความต้องการของผู้เรียนรู้เองด้วย โดยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงอายุขัยของผู้เรียน

 

เมื่อเกิดการระบาดของโรค COVID-19 ขึ้น ผู้คนไม่น้อยต้องพบกับความยากลำบาก เช่น สูญเสียงาน สภาพแวดล้อม และเงื่อนไขชีวิตแบบเดิมที่เคยมีอยู่ ทำให้คนเหล่านี้ต้องการการเรียนรู้ใหม่ (Relearn) เพื่อโอบรับทักษะใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการใหม่หลังปรากฏการณ์โรคระบาด แต่ปัญหาก็คือ คนเหล่านี้มักไม่ได้อยู่ในช่วงอายุที่จะเข้าศึกษาในระบบได้แล้ว และการศึกษาในระบบก็มักมีค่าใช้จ่ายสูง หลายประเทศจึงมีนโยบายสร้างกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตขึ้นเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ โดยเป้าหมายในการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่เฉพาะการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจโดยตรง เช่นการฝึกงานฝีมือหรือการเรียนรู้เชิงเทคนิคเท่านั้น แต่ขยายวงกว้างไปถึงโอกาสในการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อสร้างและพัฒนาประชาชนที่มีความคิดเชิงวิเคราะห์ จะได้เติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบและแข็งขัน และก่อให้เกิดสังคมหลากรุ่น (Intergenerational Society) ที่สามารถแลกเปลี่ยนคุณค่าและความต้องการต่าง ๆ กันได้อย่างอารยะ

 

การเรียนรู้ในชีวิตประจำวันของมนุษย์มักถูกกระตุ้นให้เกิดขึ้นเพราะเกิด ‘ช่องว่าง’ (Gap) ระหว่างความคาดหวังและประสบการณ์ของเราขึ้นมา กล่าวคือเดิมทีเราอาจคาดหวังผลลัพธ์บางแบบตามที่ประสบการณ์เคยสอน แต่หากผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามที่ประสบการณ์บ่งชี้ มนุษย์จะเกิดความทุกข์และกังวลใจขึ้นเนื่องจากความคาดหวังและประสบการณ์ไม่ได้สมดุลกัน มนุษย์จึงทำนายผลลัพธ์และอนาคตโดยใช้ประสบการณ์ดั้งเดิมไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ความไม่มั่นคงก็เกิดขึ้น มนุษย์จึงต้องพยายามต่อสู้ดิ้นรนเพื่อสร้างสมดุลใหม่ที่คาดเดาได้ขึ้นมาโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้

 

เราอาจมองสภาวะไม่ได้สมดุลหรือ Disequilibrium ด้วยสายตาไม่ไว้วางใจ แต่แท้จริงแล้วเป็นสภาวะนี้นี่เอง ที่ผลักดันให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์มาทุกยุคสมัย กระทั่งในวงการประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ ก็เคยมีการศึกษาพบว่าเป็น ‘ความไม่รู้’ หรืออวิชชานี่เอง ที่ผลักดันให้มนุษย์อยากเรียนรู้และสร้างสรรค์กระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ ๆ ขึ้นมา การเรียนรู้มักเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขต่าง ๆ ในชีวิต เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยน ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสภาพแวดล้อมก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย การเรียนรู้จึงเป็นเหมือนสะพานเชื่อมระหว่างตัวตนของมนุษย์กับโลก

 

เมื่อเกิดการแยกขาดขนานใหญ่หรือ Disjuncture ขึ้น สิ่งที่แยกขาดไม่ได้มีเฉพาะตัวตนของมนุษย์คนหนึ่งกับมนุษย์คนอื่น ๆ เท่านั้น แต่ได้เกิดการแยกขาดของตัวตนในอดีตกับตัวตนในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันด้วย เราไม่สามารถดำรงตัวตนเก่าในสภาพแวดล้อมใหม่ได้ เพราะตัวตนกับสภาพแวดล้อมไม่เข้ากัน อดีตที่เรามีใช้ทำนายอนาคตไม่ได้ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องเกิดการเปลี่ยนผ่าน (Transition) ขึ้นโดยมีกระบวนการเรียนรู้เป็นตัวเชื่อมระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เมื่อมองจากมุมนี้ การแยกขาดขนานใหญ่จึงอาจเป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ก็ได้

เพราะมันอาจก่อให้เกิดนวัตกรรมทางความคิด ที่นำไปสู่นวัตกรรมในการประดิษฐ์คิดค้นสินค้า บริการ หรือวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ขึ้นมา แต่ที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นก่อน ก็คือนวัตกรรมในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเราอาจเรียกได้ว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ใหม่หลัง COVID-19

แต่เราจะเรียนรู้อะไรเล่า?

นักวิชาการพบว่า เมื่อมนุษย์พบกับประสบการณ์ใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับตัวตนเดิม มนุษย์จะตอบสนองด้วยกระบวนการเรียนรู้สามรูปแบบ ได้แก่ 

1) ไม่เรียนรู้ (Non-Learning) 

2) เรียนรู้แบบไม่ได้วิเคราะห์ใคร่ครวญ (Non-Reflective Learning) 

3) เรียนรู้โดยมีการวิเคราะห์ใคร่ครวญ (Reflective Learning) 

 

 

โดยปัจเจกบุคคลหรือสังคมใดจะเกิดกระบวนการเรียนรู้แบบไหนขึ้นมากหรือน้อยกว่ากัน ย่อมขึ้นอยู่กับต้นทุนทางสังคมที่ปัจเจกหรือสังคมนั้น ๆ มีอยู่ สังคมที่คุ้นเคยกับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ๆ มาก่อน จะสามารถปรับตัวแสวงหากระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้เร็วและง่ายกว่า ทำให้เกิดการเรียนรู้แบบ Reflective Learning ที่เจริญงอกงามไปสู่กระบวนการเรียนรู้แบบใหม่ ๆ ได้มากกว่า ส่วนสังคมที่ฝังตัวอยู่กับการเรียนรู้แบบเดิม คุ้นเคยกับแบบและเบ้าที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก จะสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ ได้ยากกว่า แต่สุดท้าย สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปจะบีบให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ ขึ้นได้ในที่สุด 

เชื่อกันว่า การเรียนรู้ที่สำคัญและกรุยทางไปสู่รูปแบบการเรียนรู้ในอนาคตได้ดีที่สุด ก็คือการเรียนรู้ผ่านการวิเคราะห์ใคร่ครวญ การเรียนรู้ประเภทนี้เกิดขึ้นจากการคิดวิเคราะห์เกิดขึ้นเพื่อพยายามทำความเข้าใจว่าเหตุใดสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปจึงเป็นเช่นนั้น 

กระบวนการเรียนรู้นี้มีหลายระดับ ระดับที่เห็นได้ชัดคือกระบวนการเรียนรู้เรื่องภายนอก (Explicit Knowledge) เช่นการเรียนรู้วิธีทำงานใหม่ ๆ เช่นวิธีใช้อุปกรณ์ดิจิทัลที่ไม่เคยใช้มาก่อน เรียกว่าเป็นการเรียนรู้ในระดับการทำหน้าที่ (Functionality) ส่วนการเรียนรู้ในระดับที่ลึกซึ้งกว่า คือกระบวนการเรียนรู้ที่ลงลึกไปถึงการทำความเข้าใจในบริบททางวัฒนธรรมและตัวตนของมนุษย์ (Tacit Knowledge) ว่าบริบทแวดล้อมและตัวตนของมนุษย์เกี่ยวพันและกระทำต่อกันและกันอย่างไร สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้มนุษย์มีมุมมองต่อเรื่องต่าง ๆ แตกต่างไปจากเดิมอย่างไร และเกิดปฏิกิริยาทางสังคมอย่างไรขึ้นมาบ้าง กระบวนการเรียนรู้แบบนี้ทำให้เราสามารถสร้างการเรียนรู้ใหม่ ๆ ขึ้นมาได้อย่างเป็นระบบ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่ที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขที่เปลี่ยนไป โดยวางตัวอยู่บนฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

การแยกขาดขนานใหญ่หรือ Disjuncture ที่เกิดขึ้นเพราะ COVID-19 จึงมีศักยภาพเต็มเปี่ยมในอันที่จะสรรค์สร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นกับมนุษยชาติโดยรวม โดยกระบวนการเรียนรู้ใหม่นี้จะต้องยืดหยุ่น โอบรับ เปิดกว้าง ไม่ยึดติดอยู่กับแบบและเบ้าแบบใดแบบหนึ่ง และอาจกลายเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จะอยู่กับเราไปจนชั่วชีวิต โดยเฉพาะชีวิตในศตวรรษที่ 21 – ก็ได้

 

Now lookin’ back at all we’ve planned – บัดนี้เมื่อมองย้อนกลับไปสู่ทุกสิ่งที่เราวางแผนเอาไว้

We let so many dreams just slip through our hands – เราได้ปล่อยให้ความฝันมากมายลื่นหลุดมือไป

Why must we wait so long before we’ll see – เหตุใดจึงต้องใช้เวลาเนิ่นนานนักกว่าเราจะเข้าใจ

 

How sad the answers to those questions can be? – คำตอบต่อคำถามเหล่านั้นช่างเศร้าสร้อยได้กระไร

Do you know where you’re going to? – เธอรู้ไหมว่าเธอกำลังจะไปไหน

Do you like the things that life is showing you – เธอชอบสิ่งที่ชีวิตแสดงให้เธอเห็นหรือเปล่า

Where are you going to? – เธอกำลังจะไปไหน

Do you know? – เธอรู้ละหรือ

Share This Story !

Published On: 05/10/2021,5.2 min read,Views: 138,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 3, 2023