การท่องเที่ยวหรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด

เนื่องจากมีบทบาทมากขึ้นในสังคมโลกและยิ่งมากขึ้นในชุมชนท้องถิ่นเมื่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้ขยายอาณาเขตของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้าใกล้วิถีชีวิตของชุมชนมากขึ้น ในขณะที่แนวโน้มการท่องเที่ยวของประเทศไทยมีการเติบโตในทิศทางบวกนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งให้ความสนใจกับการเดินทางไปสัมผัสความจริงแท้ดั้งเดิมของพื้นที่ต่างๆ ในไทยเพิ่มมากขึ้น การท่องเที่ยวไม่ได้กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่ หากมีการกระจายตัวสู่ชุมชน ส่งผลให้ท้องถิ่นหลายแห่งตั้งรับการมาถึงของนักท่องเที่ยวนำการท่องเที่ยวมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต

ขณะเดียวกันภาครัฐก็ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวโดยชุมชนเพิ่มมากขึ้นจากการประกาศให้ท่องเที่ยววิถีไทยเป็นวาระแห่งชาติ มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อให้การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนไปในทิศทางที่ยั่งยืน

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงถือเป็นอุตสาหกรรมแห่งความหวัง ที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมากเป็นอันดับต้นๆ และมีความสำคัญโดยตรงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อันส่งผลให้ความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศดีขึ้น การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแม้ว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น มีการลงทุนและสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่ก็ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม วิถีชีวิต ของสถานที่นั้นๆ หากไม่มีการจัดการที่ดีพอ

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนาจึงได้เกิดแนวความคิดในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เกิดเป็นการท่องเที่ยวทางเลือกที่หลากหลาย หนึ่งในนั้นคือ ‘การท่องเที่ยวโดยชุมชน’

การท่องเที่ยวโดยชุมชน : เครื่องมือพัฒนาสู่ความยั่งยืน

การท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism) เป็นการท่องเที่ยวทางเลือกที่บริหารจัดการโดยชุมชนเพื่อให้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวตกอยู่กับคนในชุมชน โดยหลักการของการท่องเที่ยวโดยชุมชนนั้น มีด้วยกัน 10 ข้อ คือ

  1.  ชุมชนเป็นเจ้าของ
  2.  ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางและตัดสินใจ
  3.  ส่งเสริมความภาคภูมิใจในตนเอง
  4.  ยกระดับคุณภาพชีวิต
  5.  มีความยั่งยืนทางด้านสิ่งแวดล้อม
  6.  ชุมชนยังคงเอกลักษณ์และวัฒนธรรมท้องถิ่น
  7.  ก่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างคนต่างวัฒนธรรม
  8.  เข้าใจและเคารพในวัฒนธรรมที่แตกต่างและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
  9.  เกิดผลตอบแทนที่เป็นธรรมแก่คนท้องถิ่น
  10. มีการกระจายรายได้สู่สาธารณประโยชน์ของชุมชน

การท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงถือเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในการบริหารจัดการทรัพยากรของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชนโดยแท้ ทั้งยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างชุมชนกับนักท่องเที่ยวในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตเข้าใจความต่างทางวัฒนธรรม สร้างความภาคภูมิใจของคนในท้องถิ่น ก่อให้เกิดความสุขอย่างยั่งยืนในที่สุด

เครื่องมือสู่ความสำเร็จของการท่องเที่ยวโดยชุมชน

การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความอยู่ดีมีสุข ตลอดจนรักษาอัตลักษณ์วิถีวัฒนธรรมธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของชุมชนท้องถิ่น โดยดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวทางเลือกที่จะนำไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ผ่านเครื่องมือการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการไปสู่เป้าหมายของการท่องเที่ยวโดยชุมชน

Co-creation ร่วมด้วยช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน

การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนต้องทำอย่างมีส่วนร่วม หรือ Co-creation ทฤษฎีนี้คิดค้นและเขียนขึ้นโดย ดร.น“ฬ‘กอต‘ภัค แสงสน‘ท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (พ.ศ. 2553-2561) ถือเป็นกุญแจเพื่อการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยใช้การประสานเชื่อมโยงเครือข่ายจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาควิชาการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนมา ‘ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์’ โดยมีองค์ประกอบ 5 ประการ คือ

  1. เน้นการนำเสนออัตลักษณ์ความเป็นไทยและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพมากกว่าเน้นปริมาณ
    นักท่องเที่ยว โดยมุ่งการสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
  2. มีการบริหารจัดการที่สมดุลระหว่างความต้องการของนักท่องเที่ยวกับผลประโยชน์ของเจ้าของแหล่งท่องเที่ยว ยึดหลักความสมดุลของเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และป้องกันกลุ่มทุนนอกพื้นที่เข้ามากอบโกยผลประโยชน์และทิ้งปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมให้กับแหล่งท่องเที่ยว
  3. มีการสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ๆเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในช่วงนอกเทศกาลท่องเที่ยวโดยต้องเป็นกิจกรรมใหม่ๆ ที่น่าสนใจและซ้ำเสริมกัน
  4. เน้นการบูรณาการการทำงานระหว่างชุมชนท่องเที่ยวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยว
    โดยชุมชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มุ่งเป้าหมายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
  5. มีการรับฟังความเห็นระหว่างกัน ทั้งชุมชน ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาและหาทางออกเพื่อเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย

เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย

เป็นเครื่องมือให้ชุมชนที่ต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้เป็นเครื่องมือในการวางแผน ดำเนินการและประเมินผล อ้างอิงมาจากแนวทางการพัฒนามาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับสากลของ Global Sustainable Tourism Council (GSTC) โดยมีองค์ประกอบที่ชุมชนสามารถใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา ทั้งหมด 5 ด้าน ดังนี้

  1. 1. ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน
  2. ด้านการจัดการเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่ดี
  3. ด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมชุมชน
  4. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
  5. ด้านคุณภาพการบริการการท่องเที่ยวโดยชุมชน

โดยเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทยทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วยเกณฑ์ย่อยที่ใช้วัดระดับประสิทธิภาพของแต่ละเป้าประสงค์จากการประเมินตนเอง ต่อยอดเพิ่มมูลค่าสิ่งที่ดี พัฒนาสิ่งที่ขาดเชิญคนนอกมาร่วมให้ข้อเสนอแนะ และถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาต่อ

กล่องเครื่องมือ 9+1 Building Blocksพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างมีส่วนร่วม

กรอบแนวคิดในการวางแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา พร้อมไปกับการบริหารจัดการผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในชุมชนอย่างทั่วถึง โดยชุมชนที่จะทำการท่องเที่ยว ต้องคำนึงถึง 9 เครื่องมือ คือ การหาเพื่อนร่วมทาง สร้างกิจกรรม นำเสนอสิ่งที่มี ทำให้ดี ทำให้เด่นทำให้ดัง สานและผูกสัมพันธ์ หากันให้เจอ เขาและเธอคือใครที่ใจตรงกัน ฉันให้เธอไป ฉันจึงได้เธอมา และสานเสวนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นจุดคานงัดต่อการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ได้อย่างยั่งยืน

ท่องเที่ยวโดยชุมชน… เที่ยวนี้เพื่อใคร?

ขั้นตอนการทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน ไม่ใช่เพียงทฤษฎีที่จับต้องไม่ได้ แต่เป็นองค์ความรู้ที่รวบรวมจากการถอดบทเรียนกระบวนการพัฒนา การท่องเที่ยวโดยชุมชนจาก 14 ชุมชนต้นแบบของ อพท. โดยทุกประสบการณ์บอกกับเราว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นไปเพื่อความยั่งยืนของเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม

ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ

การท่องเที่ยวโดยชุมชนไม่มุ่งหมายให้การท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจหลักของชุมชน เพราะอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต และชุมชนจะไม่สามารถอยู่ได้หากภาวะท่องเที่ยวในชุมชนซบเซาลง แต่ประโยชน์ทางเศรษฐกิจของการท่องเที่ยวโดยชุมชนคืออาชีพเสริมที่เกิดจากการจัดสรรทรัพยากรในพื้นที่ให้เกิดมูลค่าและประโยชน์สูงสุด นำมาซึ่งความเป็นอยู่ที่ดี พร้อมทั้งนำบรรยากาศแห่งความอบอุ่นและความเข้มแข็งกลับคืนสู่ชุมชนอีกด้วย ดังเช่นที่ ชุมชนบ้านชักแง้วจ.ชลบุร’เป็นตัวอย่างของชุมชนที่ได้ผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวโดยชุมชน เนื่องจากผู้นำชุมชนและคนในชุมชนตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของชุมชน จึงร่วมกันพัฒนาและผลักดันให้คนในชุมชนร่วมกันเปิดชุมชนเป็น ตลาดจีนโบราณชุมชนบ้านชากแง้ว เพื่อเปลี่ยนความเงียบเหงาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง โดยให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมนำของดี ของอร่อย มาร่วมกันขายให้นักท่องเที่ยว ก่อให้เกิดรายได้เสริม พร้อมทั้งเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมจีนในชุมชนไว้ไม่ให้สูญหายแต่เหนือกว่าสิ่งอื่นใด คือการกลับมารวมตัวพร้อมหน้าพร้อมตาของลูกหลานซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนต่อไป

ผลประโยชน์ด้านสังคมวัฒนธรรม

คือผลประโยชน์ที่ประจักษ์ชัดสุดและเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มต้น จากการร่วมมือกันของคนในชุมชน การสำรวจชุมชน วัฒนธรรม ประเพณี อัตลักษณ์ที่เป็นมรดกทางสังคมของแต่ละชุมชนซึ่งไม่เพียงเป็นเสน่ห์ของการทำการท่องเที่ยวโดยชุมชน แต่ยังเป็นการค้นพบคุณค่าที่ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ความมีส่วนร่วม และความเป็นหนึ่งเดียวกันของชุมชนซึ่งชุมชนบ่อสวก จ.น่าน เป็นชุมชนต้นแบบของ อพท. ที่หยิบอัตลักษณ์ของชุมชนมานำเสนอแก่นักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เพราะได้รับมรดกล้ำค่าจากบรรพบุรุษ นั่นคือ เตาเผาโบราณอายุราว 750 ปี ที่คนบ่อสวกเห็นคุณค่าสร้างเป็นแหล่งเรียนรู้เตาเผาประวัติศาสตร์ มีเยาวชนมานั่งปั้นหม้อดินเผา รวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาเรียนรู้การทอผ้าด้วยมือ โดยการสอนและถ่ายทอดจากคนรุ่นเก่า ล้วนเป็นผลของการสืบทอดที่เกิดขึ้นภายในชุมชน

ผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อม

คือการคืนสิ่งแวดล้อมสู่ชุมชนผ่านเงื่อนไขของการท่องเที่ยวที่ใช้ความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งนำเสนอในรูปแบบของการท่องเที่ยวขณะเดียวกันยังสามารถป้องกันการเข้ามาของนายทุนที่อาจสร้างเงินสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับชุมชนแต่สิ่งที่ถูกทำลายคือสิ่งแวดล้อมจากการเข้ามาโดยไม่คำนึงถึงชุมชนดังนั้นการทำการท่องเที่ยวโดยชุมชนจึงเป็นทั้งการรักษาสิ่งแวดล้อมที่อาจเปลี่ยนแปลงไป และปกป้องสิ่งแวดล้อมในชุมชนไม่ให้ถูกรุกรานจากคนภายนอกดังเช่นการได้ผืนป่าคืน ของชุมชนปล“บ่า จ.เลย ที่ร่วมแรงร่วมใจคืนผืนป่ากว่า 2,000 ไร่ ให้กับ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูระบบนิเวศขนาดใหญ่ที่ให้ประโยชน์ยั่งยืนไปสู่รุ่นหลัง ซึ่งต้องอาศัยความเสียสละและการพูดคุย เพื่อให้ชุมชนเห็นพ้องต้องกันว่า การคืนที่ดินทำกินให้เป็นพื้นที่ป่าจะเกิดประโยชน์มหาศาลเพราะเมื่อระบบนิเวศสมดุล ชาวบ้านจะสามารถประกอบอาชีพ ทำมาหากินได้ง่ายขึ้น

การท่องเที่ยวโดยชุมชน ไม่ได้ทำเพื่อปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังเป็นความหวังไปถึงความยั่งยืนในอนาคต ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมเพราะการท่องเที่ยวโดยชุมชนไม่ใช่การท่องเที่ยวกระแสหลัก แต่เป็นการเดินทางไปในชุมชนหรือทำกิจกรรมท่องเที่ยวที่มีคุณค่า มีเอกลักษณ์ มีอัตลักษณ์เป็นของตัวเอง นำมาซึ่งความอยู่ดีมีสุขของเจ้าของบ้าน และความประทับใจของผู้มาเยือนจนต้องเดินทางกลับมาเยือนซ้ำ พร้อมทั้งบอกต่อให้ผู้อื่นได้มาสัมผัสประสบการณ์เช่นเดียวกัน ซึ่งจะเป็นโอกาสให้การท่องเที่ยวไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืน

Community-based Tourism : Discover Thainess, Chic & Sustainable

Community-based tourism (CBT) is a form oftourism that is managed by the community and benefits the local people. CBT brings not only immediate benefit, but also sustainable economic, social, cultural and environmental benefits in the future. This is because CBT is not a mass tourism trend but a form of tourism that brings travelers into the community to experience unique local attractions and activities. The result would be long-term benefits for travelers as well as hosts. Good experiences will ensure sustainable growth of the destination through favorable word-of-mouth reputation.

เรียบเรียง : องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

Share This Story !

2.3 min read,Views: 65868,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 3, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 3, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 3, 2024