Cool Kids Climate เมื่อเด็กรักษ์โลก
พัชรวรรณ วรพล
- การรณรงค์เพื่อปกป้องโลกของเราจากวิกฤตการณ์ภาวะโลกร้อนมีอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยรูปแบบและวิธีการถูกปรับเปลี่ยนให้แตกต่างไปตามช่วงเวลาและปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป
- เด็กในยุค 90 ได้รับการปลูกฝังและสั่งสอนจากผู้ใหญ่และโรงเรียน ให้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตด้วยการรักธรรมชาติ รักสิ่งแวดล้อม และทำจนให้เป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน
- เด็ก Gen Z เติบโตมาในยุคที่โลกเชื่อมโยงกันได้ด้วยโซเชียลมีเดีย มีความกล้าคิด กล้าทำ ช่วยเหลือกันเป็นกลุ่มก้อนและกล้าเผชิญหน้ากับผู้นำและผู้มีอำนาจในระดับเวทีโลกเพื่อเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น
คนเรามักชอบกล่าวถึง “อดีต” แต่เป็นเพราะอะไรล่ะ ก็เพราะในอดีตมักจะมีแต่เรื่องราวเก่า ๆ ที่สวยงามน่าโหยหา จนถูกหยิบยกมาอยู่ในวงสนทนาเป็นประจำ เรื่องที่นำมาถกกันมักพูดถึงความเปลี่ยนแปลงและเปรียบเทียบระหว่างภาพจำเก่ากับภาพที่เห็นในปัจจุบัน ถ้าไม่นับการกล่าวถึงตัวบุคคลก็มักหนีไม่พ้นเรื่องทัศนียภาพ ความเป็นอยู่
“เมื่อก่อนตรงนี้เคยมีต้นไม้ใหญ่”
“น้ำในสระนี้ เมื่อก่อนใสและมีปลาด้วยนะ”
“ที่ตรงนี้กลายเป็นโรงงานไปเสียแล้ว เมื่อก่อนเป็นสวนสาธารณะ”
หลายสิ่งหลายอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เปลี่ยนไปเช่นกันแต่ดูจะเปลี่ยนไปในทางลบ แล้วเมื่อก่อนนั้นเป็นอย่างไร เมื่อมองย้อนกลับไปจึงเกิดเป็นคำถามให้ขบคิดว่า มันค่อย ๆ แย่ลงไปโดยที่เราไม่ทันเห็น หรือเราไม่ได้คิดจะแก้ปัญหาและรักษาไว้บ้างเลยหรือ
แต่ตอนนั้นเรายังเป็นเด็ก จะไปทำอะไรได้ จะช่วยได้แค่ไหนกันล่ะ ?
เด็กยุค 90 จะช่วยโลกได้อย่างไร
ใครที่เกิดและเติบโตมาในยุค 90 ตอนนี้ก็เป็นผู้ใหญ่วัยทำงาน หากมองย้อนไปในอดีตเมื่อ 20 – 30 ปีที่แล้ว รอบ ๆ ตัวมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ยังคงสวยงาม เรียบง่าย แต่เทคโนโลยีที่เริ่มแทรกซึมเข้ามาในชีวิตประจำวัน
ของเราทีละนิด ๆ นั้น เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะมันทำให้ชีวิตเราสะดวกสบายขึ้น แต่ความทันสมัยนั้นก็มาพร้อม ๆ กับโรงงานอุตสาหกรรม สิ่งก่อสร้างอาคารสูง พื้นที่สีเขียวเริ่มลดน้อยลง การใช้ทรัพยากรธรรมชาติในการพัฒนาอย่างสิ้นเปลือง จนนักวิทยาศาสตร์ที่เฝ้ามองสิ่งเหล่านี้มาหลายทศวรรษต้องออกมาเตือนถึงปัญหามลพิษ และเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างหนักหน่วงจากภาวะโลกร้อน เพราะหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป โลกคงไม่เหลืออะไรให้กับคนรุ่นต่อ ๆ ไป
เมื่อผู้คนเริ่มหันมาสนใจและให้ความสำคัญในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและต้องการปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้แก่เด็กและเยาวชนที่จะเป็นกำลังสำคัญในอนาคต เด็ก ๆ ในยุค 90 จึงได้รับการปลูกฝังและสั่งสอนจากผู้ใหญ่และโรงเรียน ให้ตระหนักถึงการใช้ชีวิตด้วยการรักธรรมชาติ รักสิ่งแวดล้อม และทำมันจนเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวัน การบอกกล่าวให้ลดหรือเลิกพฤติกรรมที่จะสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจจะเป็นวิธีที่เล็ก ๆ น้อย ๆ และไม่ยากเกินความสามารถของเด็ก ๆ
เมี่อปี 1990 หรือยุค 90 ต้น ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้มีสำนักพิมพ์หนึ่งนำเอาพฤติกรรมเหล่านี้มาตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อเรื่องว่า “50 Simple Things Kids can Do to Save the Earth” หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “50 สิ่งง่าย ๆ ที่เด็กทำได้เพื่อช่วยโลก” โดยขายได้มากกว่าหนึ่งล้านเล่มและกลายเป็นหนังสือคู่มือหลักในห้องเรียนที่ครูใช้เป็นการเริ่มต้นการพูดคุยและตอกย้ำเด็กนักเรียนให้รักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในทุก ๆ วัน
วิธีการช่วยโลกของเด็ก ๆ ในช่วงยุค 90 จึงมักจะพูดถึงเรื่องหลัก ๆ ตามในหนังสือ คือ การดูแลรักษาดิน การพิทักษ์สัตว์ การใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า เรียกได้ว่าในสมัยนั้นใช้หนังสือเล่มนี้เป็นคู่มือเพื่อแนะนำ “วิธีการ”
ให้เด็ก ๆ สนใจและนำไปใช้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น เด็ก ๆ ควรซื้อไข่ที่บรรจุในกล่องที่ทำจากกระดาษแข็ง ไม่ควรซื้อไข่ที่บรรจุในกล่องสไตโรโฟม เพราะเราสามารถนำกล่องกระดาษมาใช้ซ้ำสำหรับโครงการศิลปะได้ ใช้ดินสอสีขี้ผึ้งแทนดินสอสีที่ทำมาจากน้ำมัน วาดรูปบนกระดาษรีไซเคิล ปลูกต้นไม้เพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปิดไฟดวงที่ไม่จำเป็นเพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน และการรักษาแหล่งน้ำให้สะอาด
เมื่อเหตุการณ์ภาวะโลกร้อนเปลี่ยนแปลงไป ครู ผู้ปกครองก็จะบอกวิธีและแนะนำแนวทางปฎิบัติใหม่ ๆ รวมถึงหนังสือก็มีการปรับปรุงเนื้อหานำเสนอเคล็ดลับที่ใช้ได้จริงเกี่ยวกับวิธีลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่าต้องคอยอัปเดตทั้งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทั้งคำแนะนำที่ให้กับเด็ก ๆ เช่น มีบทเพิ่มเติมในเรื่องลดการใช้ขวดพลาสติกการหันมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การเขียนจดหมายถึงผู้นำ เป็นต้น
เด็กยุค 90 กับ Eco – Heroes
ในยุค 90 มีรายการทีวี ภาพยนตร์ การ์ตูน ที่นำประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมมารวมไว้กับความบันเทิง การสร้างตัวละคร เค้าโครงเรื่อง ที่พยายามหยิบโยงให้เข้ากับเรื่องการรักษาดูแลระบบนิเวศ ช่วยเหลือสัตว์ รักธรรมชาติ ซึ่งชี้ให้เด็ก ๆ ได้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับ มีความภาคภูมิใจ และเด็กทุกคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกไปในทางบวกได้ อย่างเช่น
กัปตันแพลนเน็ต (Captain Planet) เป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่จะถูกเรียกตัวมาเพื่อช่วยนักสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม 5 คน โดยมีหน้าที่ต่อสู้กับการทำลายสิ่งแวดล้อมทุกประเภท เช่น การตัดต้นไม้ การสร้างมลพิษ หาทางกำจัดตัวผู้ร้ายที่เป็นสาเหตุของการทำลายโลก และยืนหยัดเพื่อรักษาโลกใบนี้ไว้ ในขณะเดียวกันก็ชักชวนผู้ชมให้ทำตามเช่นเดียวกันกับคติประจำใจของเขาที่ว่า “พลังเป็นของคุณ!” เพื่อเตือนเด็ก ๆ ที่กำลังชมอยู่ขณะนั้นว่าพวกเขาก็มีพลังในการกอบกู้โลก โดยแต่ละตอนจะจบลงด้วยการพูดคุยเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยบอกผู้ชมว่าพวกเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาได้อย่างไร
นอกจากนี้ยังมีการ์ตูนโพคาฮอนตัส (Pocahontas) สาวพื้นเมืองที่ให้ความสำคัญกับธรรมชาติรอบตัวเธออย่างลึกซึ้ง ผ่านบทเพลง“ Colors of the Wind” ภาพยนตร์เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงการทำลายล้างสิ่งแวดล้อม เพียงเพราะความโลภในชื่อเสียงเงินทอง
ในประเทศไทย แม้จะไม่มีการ์ตูนเกี่ยวกับซูเปอร์ฮีโร่แต่ก็มีรายการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง เช่น รายการ
“ทุ่งแสงตะวัน” ที่นำเสนอเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับธรรมชาติและวัฒนธรรม โดยมีความเชื่อว่ามนุษย์ต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ อีกทั้งวัตถุประสงค์หลักของรายการคือ ต้องการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ทั้งในเมืองและชนบทได้เรียนรู้และสัมผัสธรรมชาติ รวมถึงหันมาใส่ใจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติให้มากขึ้น
Gen Z คิดใหญ่ ทำใหญ่
Gen Z (Generation Z) คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 1996 – ปัจจุบัน ที่เติบโตมาพร้อมกับการรับข่าวสารและความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและมลพิษผ่านช่องทางต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น โซเชียลมีเดีย
ทำให้คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงโลกไปในทิศทางที่ดีขึ้น นับเป็น Gen เปลี่ยนโลกเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังชอบเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วย
Gen Z นั้นมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง คิดการใหญ่ และคิดแล้วก็มักจะลงมือทำพร้อมกับเรียนรู้ไปในขณะเดียวกัน มีความคาดหวังสูงว่างานต้องบรรลุผลสำเร็จ หากรู้ว่าทำเองคนเดียวอาจไม่ประสบผลสำเร็จหรือล่าช้า ก็จะชักชวนเพื่อน ๆ มาร่วมช่วยกัน อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต การส่งสารแชร์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วางกลยุทธ์และลงมือทำอย่างทันทีทันใด
จะเห็นได้จากนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ มีอายุน้อย ทำแคมเปญรณรงค์ให้คนในประเทศหรือคนทั้งโลกร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น เหตุการณ์ที่เด็ก ๆ นับล้านคนทั่วโลกได้นัดหยุดเรียนทุกวันศุกร์เพื่อเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการกับสภาพอากาศที่กำลังวิกฤติ (Climate Strike) ซึ่งต่อยอดมาจากโครงการวันศุกร์เพื่ออนาคต (Friday for Future) ซึ่งเริ่มขึ้นมาก่อนหน้านี้โดยเรียกร้องให้ผู้ปกครองซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ไม่นำเครื่องใช้ไฟฟ้าสิ้นเปลือง 10 ชนิดมาใช้ที่สถานศึกษา การเพิ่มทรัพยากรหมุนเวียน (พลังงานสะอาด) เพื่อใช้ทดแทนและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมี เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กสาวชาวสวีเดนผู้ใส่ใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นแกนนำ การเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชนจากทั่วโลกนี้ได้สะท้อนแนวคิดของพวกเขาออกไปได้ในวงกว้างและรวดเร็ว
เกรตา ธันเบิร์ก ได้เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN) เผชิญหน้ากับผู้นำหลายประเทศอย่างกล้าหาญ พร้อมกล่าวข้อความเรียกร้องต่อหน้าคณะกรรมการเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยอ้างจากรายงานของนักวิทยาศาสตร์ที่วิจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมแห่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC: Intergovernmental Panel on Climate Change) ว่า ถ้าหากมนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าเดิม ภายในไม่กี่ปีนี้หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อไหร่ โลกก็ยากที่จะรับมือ และอาจเกิดเป็น “มหันตภัยทางสภาพภูมิอากาศ” แล้วโลกจะถึงจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก ตอนนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่มนุษย์จะช่วยกันลดสภาวะโลกร้อน ทำให้ผู้นำและนักการเมืองของประเทศต่าง ๆ ต้องออกนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นวาระเร่งด่วนในทันที นอกจากเกรตาแล้ว ก็ยังมี Gen Z คนอื่น ๆ ที่มีบทบาทในการแก้ไขภาวะโลกร้อน เช่น
เจมี มาร์โกลิน (Jamie Margolin) ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศสำหรับเยาวชน (Zero Hour) โดยเยาวชนนักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ให้ความสำคัญในเรื่องร้องเรียนภาครัฐฯ หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วโลกที่ยังไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง
ออทัมน์ เพลเทียร์ (Autumn Peltier) เป็น Gen Z อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะกรรมาธิการน้ำของ Anishinabek Nation โดยใช้เวลาครึ่งหนึ่งของชีวิตในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาน้ำในชุมชน First Nations ทั่วประเทศแคนาดา เธอต่อสู้และเรียกร้องเพื่อให้เด็กที่เติบโตขึ้นมาเข้าถึงน้ำประปาที่สามารถดื่มได้ อาบได้ โดยไม่เสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็ง
อิชรา เฮอร์ซี (Isra Hirsi) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารของ US Youth Climate Strike สนับสนุนการเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศของเยาวชนทั่วโลก
ประเทศไทยเองนั้นก็มีเด็กหญิงคนหนึ่งที่เข้าร่วม Climate Strike ด.ญ. ระริน สถิตธนาสาร หรือลิลลี่ ซึ่งพยายามผลักดันให้ภาครัฐและเอกชนใช้มาตรการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ด้วยการเข้าพบผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเพื่อเรียกร้องให้ลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยื่นหนังสือให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุวิชาสิ่งแวดล้อม (Eco Education) เป็นวิชาบังคับในทุกโรงเรียนอีกด้วย
เด็ก Gen Z บางคนยังนำแนวคิดส่วนตัวมาใช้ร่วมด้วย เช่น เอมมา ลิม (Emma Lim) ชาวแคนาดา ได้เคลื่อนไหวในเรื่อง “#NoFutureNoChildren” โดยกล่าวคำปฏิญาณว่าจะไม่มีลูกจนกว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างจริงจังต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
Gen Z ไม่ดี ไม่ซื้อ
นอกจาก Gen Z เป็นเจเนอเรชันที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเมื่อเทียบกับ Gen อื่น ๆ แล้ว เพราะฉะนั้นการเลือกใช้สินค้าจึงมีความพึงพอใจที่จะซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยยอมจ่ายในราคาที่แพงกว่า
องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) ได้สำรวจประชากรอายุ 18-25 ปี หรือกลุ่ม Gen Z จำนวน 10,000 คน ใน 22 ประเทศทั่วโลก โดยให้เลือกปัญหาที่โลกกำลังเผชิญ 5 ประเด็นจาก 23 ประเด็น พบว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นที่คน Gen Z เห็นว่ามีความสำคัญมากที่สุด (ร้อยละ 41) ตามมาด้วยประเด็นมลภาวะ (ร้อยละ 36) และการก่อการร้าย (ร้อยละ 31) ในขณะที่ แมคคินซีย์แอนด์คอมปะนี (McKinsey & Company) ได้กล่าวถึงผลสำรรวจของ Gen Z ในเอเชียแปซิฟิก 6 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย จีน อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไทย พบว่า กลุ่มคน Gen Z ในภูมิภาคนี้ใส่ใจเรื่องการบริโภคอย่างยั่งยืนต้องการใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาหารออร์แกนิก และเครื่องนุ่งห่มที่สร้างผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุด
นอกจากนี้ Gen Z จะไม่ผูกติดกับแบรนด์ตัวใดตัวหนึ่ง แต่เปิดใจกับแบรนด์ใหม่ ๆ และแม้แต่กับแบรนด์เล็ก ๆ ถ้าหากแบรนด์นั้นมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดย Gen Z มีสัดส่วนในตลาดผู้บริโภคถึงร้อยละ 40 ภาคธุรกิจย่อมต้องปรับตัวเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ที่มีความต้องการและสนใจด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนเจเนอเรชันอื่น หลายบริษัทและห้างร้านเข้ามาร่วมสนับสนุนการหยุดเรียนเพื่อสภาพภูมิอากาศ เช่น สำนักงานและร้านค้าหลายแห่งทั่วยุโรปปิดทำการเพื่อให้พนักงานมีโอกาสเข้าร่วมประท้วงด้วย การออกแคมเปญและให้พื้นที่โฆษณาเพื่อแสดงออกว่าอยู่ข้างเดียวกับเยาวชนเหล่านี้ และเน้นย้ำผ่านข้อความที่ว่า ภาคธุรกิจต้องใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ตอนนี้ เพื่ออนาคตของเยาวชน ก่อนที่จะสายเกินไป โดยมีเนื้อหามุ่งไปที่วิกฤติสภาพภูมิอากาศ (Climate Crisis)
เพราะฉะนั้นแบรนด์ในยุคนี้ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นลำดับต้น ๆ เพราะถ้าแบรนด์ไม่ให้ความสำคัญ ก็จะถูกต่อต้านและกดดันจากกลุ่ม Gen Z เช่น “เนสท์เล่” บริษัทผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคยักษ์ใหญ่ ทำให้มีการใช้บรรจุภัณฑ์ในปริมาณมาก กลุ่ม Gen Z จึงลากขยะไปวางหน้าบริษัทเนสท์เล่สำนักงานใหญ่ เพื่อกดดันให้บริษัทฯ ปรับเปลี่ยนนโยบายด้านบรรจุภัณฑ์ กล่าวได้ว่าแบรนด์และนักการตลาดต้องไม่ละเลยและให้ความสำคัญในการบริหารจัดการเพื่อรับผิดชอบผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจที่อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ไม่ว่าภาคธุรกิจจะปรับตัวด้วยเหตุผลทางด้านส่วนแบ่งการตลาดหรืออะไรก็ตาม การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมล้วนเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของตน คน และโลกไปพร้อม ๆ กัน
เด็กยุค 90 ที่เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานในวันนี้นั้น เมื่อพวกเขายังเป็นเด็ก ๆ เมื่อ 20 – 30 ปีที่แล้ว จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยเริ่มจากตนเองจากการปฎิบัติตามคำชี้แนะและการปลูกฝังการรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจากผู้ใหญ่และจากโรงเรียน แต่เด็ก Gen Z ที่เกิดมารุ่นหลังนับจากปี 1996 ทั้งอยู่ในช่วงวัยรุ่นและวัยเรียนในตอนนี้จะคิดการใหญ่ กล้าคิด กล้าทำ ด้วยการเข้าร่วมช่วยเหลือกันเป็นกลุ่มก้อนและกล้าเผชิญหน้ากับเหล่าผู้นำ ผู้มีอำนาจในระดับเวทีโลกเพื่อเรียกร้องให้เกิดการดำเนินการเพื่อความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่
แต่ไม่ว่าจะ Gen ไหน ก็มีแนวคิดอุดมการณ์รักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเหมือนกัน เพียงแต่มีวิถีทางแสดงออกที่แตกต่างกันไปตามแบบฉบับของพวกเขาในแต่ละช่วงเวลาเท่านั้นเอง…
ที่มา:
- https://www.usatoday.com/story/news/nation/2019/09/20/climate-change-school-children-strike-can-they-save-earth/2372456001/
- http://www.salforest.com/blog/generationz-and-sustainability
- https://www.mckinsey.com/business-functions/marketing-and-sales/our-insights/what-makes-asia-pacifics-generation-z-different#
- https://theaseanpost.com/article/eco-conscious-gen-z-taking-action