สรุปการเสวนา Let’s Talk หัวข้อ “8 Days to 2024 with EconoWit”
รัตนพร รักการค้า
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 ศูนย์พัฒนาวิชาการด้านตลาดการท่องเที่ยว (TAT Academy) ภายใต้การดำเนินงานของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้จัดกิจกรรมเสวนาภายใต้หัวข้อ “8 Days to 2024 with EconoWit” โดยได้เชิญ ดร.วิทย์ สิทธิเวคิน ผู้ประกาศข่าว พิธีกร และวิทยากรของ The Standard ในรายการ Morning Wealth และ 8 Minute History มาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เกี่ยวเนื่องกับภูมิรัฐศาสตร์-การเมืองโลก ความขัดแย้งของสองขั้วมหาอำนาจ (จีน-สหรัฐอเมริกา) ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มีต่อการท่องเที่ยวของไทย รวมทั้งเทรนด์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นต้น โดย TAT Review ได้สรุปสาระสำคัญของการเสวนามาไว้ในบทความนี้แล้ว
เปิดประเด็นแรก: ประเทศไทยกับเศรษฐกิจโลก
สหรัฐอเมริกา คือประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดของโลก โดยคิดเป็น 1 ใน 4 ของเศรษฐกิจโลก รองลงมาคือ จีน คิดเป็นร้อยละ 20 ของเศรษฐกิจโลก อันดับที่ 3 ญี่ปุ่น ถัดมาเป็นเยอรมนี อินเดีย อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี ซึ่งอิตาลีเป็นอีกประเทศที่น่าสนใจ เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกับไทยตรงที่ไม่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี แต่เด่นในเรื่องของ Soft Factor ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมหรืออาหาร ต่อมาเป็นแคนาดา และอันดับที่ 10 คือเกาหลีใต้ สำหรับประเทศไทยในช่วงก่อนสถานการณ์ COVID-19 อยู่ในอันดับที่ 28 แต่หลังจากผ่านวิกฤตการณ์ดังกล่าวมาไทยก็ขึ้นมาอยู่อันดับที่ 27 อย่างไรก็ตามจากสภาวะเศรษฐกิจ ณ ขณะนี้ที่ค่าเงินบาทอ่อนตัวและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้า ทำให้ในปี 2023 ประเทศไทยหล่นลงไปอยู่อันดับที่ 30
ประเทศหนึ่งที่น่าสนใจคือซาอุดีอาระเบียซึ่งอยู่ในอันดับที่ 17 สำหรับซาอุดีอาระเบียนั้นเกิดเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ซึ่งเป็นที่มาของการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทยคือ เหตุการณ์การเสียชีวิตของนักการทูตซาอุดีอาระเบีย 3 คน ในประเทศไทย โดยทางการไทยจับผู้ต้องสงสัยได้แต่ปล่อยตัวไป และเหตุการณ์การลักพาตัวและฆาตกรรมนายมุฮัมมัด อัลรูไวลี่ เชื้อพระวงศ์และนักธุรกิจอัญมณีชาวซาอุดีอาระเบีย อย่างไรก็ดีเมื่อต้นปี 2022 ที่ผ่านมา ได้มีการฟื้นคืนความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันอีกครั้งในรอบ 30 ปี โดยเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีช อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุดีอาระเบีย มีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประเทศที่เป็นผู้ค้าน้ำมัน เนื่องจากมองว่าต่อไปโลกจะมีการใช้พลังงานเชื้อเพลิงน้อยลง จึงได้พยายามทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อทดแทนการใช้น้ำมัน ซึ่งสิ่งที่ซาอุดีอาระเบียทำคือการสร้างสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ มากมายภายในประเทศ การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกในปี 2034 รวมทั้งตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางการแข่งขันฟุตบอลนานาชาติ อย่างการจัดแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก (FIFA Club World Cup)
นอกจากนี้เจ้าชายมุฮัมมัดฯ ยังทรงเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง หรือการเป็นผู้ผลิตรถยนต์อันดับที่ 10 ของโลก จึงได้เลือกไทยให้เป็นผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์สำหรับส่งให้ซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซาอุดีอาระเบียเพิ่งออกกฎหมายให้ผู้หญิงสามารถขับรถได้ ซึ่งรถที่ผู้หญิงขับนั้นโดยมากแล้วเป็นรถคันเก่าของสามี จึงทำให้มีความต้องการอะไหล่รถยนต์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังทรงสนพระทัยในพันธุ์พืชต่าง ๆ ของไทยและต้องการนำไปปลูกที่ซาอุดีอาระเบียอีกด้วย และในปี 2022 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ครั้งที่ 29 และได้ทูลเชิญเจ้าชายมุฮัมมัดฯ เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วย จะเห็นได้ว่าประเทศไทยนั้นมีความสัมพันธ์อันดีกับทุกประเทศ ซึ่งในเชิงเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “Conflict-free Country”
ในขณะที่นานาประเทศต่างเลือกข้างกันอย่างชัดเจน แต่อินเดียกลับต่างออกไป ในเชิงความมั่นคง อินเดียเคยทำสงครามกับจีนเพื่อแย่งชิงพื้นที่บริเวณสิกขิม และในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ อินเดียได้เข้าร่วมกับสหรัฐอเมริกาในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Strategy) อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน สหรัฐอเมริกาเรียกร้องให้อินเดียประณามรัสเซีย อินเดียกลับเพิกเฉยและยังเข้าร่วมการประชุม BRICS กับจีนและรัสเซีย ผลจากการประชุมทำให้อินเดียสามารถซื้อน้ำมันจากรัสเซียได้ในราคาถูก จึงเกิดคำถามจากชาวอเมริกันว่าอินเดียอยู่ข้างไหนกันแน่ นายกรัฐมนตรีอินเดียตอบว่า ความมั่นคงของอินเดียอยู่กับสหรัฐอเมริกา แต่เศรษฐกิจอยู่กับ BRICS ซึ่งการดำเนินนโยบายเช่นนี้ถือเป็นเรื่องปกติของประเทศที่มีความสุ่มเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
จากภาพเศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญในระดับต้น ๆ ของโลกมาสู่ประเทศไทย จะเห็นได้ว่าจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไทยเป็นประเทศที่ไม่เลือกอยู่ข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งและเป็นมิตรกับทุกประเทศ ทำให้ไทยสามารถร่วมธุรกิจและดึงดูดการลงทุนได้จากหลากหลายประเทศทั่วโลก
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปี 2024
เนื่องจากปีที่ผ่านมาเงินเฟ้อสูงขึ้น เศรษฐกิจมีความร้อนแรง ดังนั้นรัฐบาลกลางสหรัฐฯ จึงเพิ่มดอกเบี้ยเพื่อให้คนนำเงินออกมาใช้น้อยลง แต่ปีนี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง นักลงทุนจะนำเงินเข้าไปลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ มากขึ้น ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีความคึกคัก เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะกระเตื้องขึ้นค่อนข้างมาก และในปี 2024 Cryptocurrency ที่ซบเซามา 2 ปี จะกลับมาอีกครั้ง เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ Bitcoin Halving ที่มีผลทำให้อุปทานของ Bitcoin ลดลง และที่สำคัญสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐอเมริกา (ก.ล.ต.) กำลังจะอนุมัติให้ BlackRock กองทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลกเข้าไปลงทุนใน Bitcoin จึงมีแนวโน้มว่าสภาพคล่องทางเศรษฐกิจจะปรับตัวขึ้นจาก Bitcoin ไม่มากก็น้อย คาดว่าในปี 2024 เศรษฐกิจทั่วโลกจะทรงตัว ขณะที่เศรษฐกิจจีนมีโอกาสโตมากกว่าที่คาดไว้ด้วยอัตราร้อยละ 5.2 และที่น่าจับตามองอีกประเทศคือญี่ปุ่น ในปี 1991 ตลาดหุ้นนิกเคอิเคยขึ้นสูงถึง 38955 จุด ซึ่งเมื่อต้นปี 2023 สามารถกลับมาแตะที่ 30000 จุดได้อีกครั้ง จึงเป็นสัญญาณว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังจะดีขึ้น ส่วนเศรษฐกิจของยุโรปนั้นขึ้นอยู่กับสงครามรัสเซีย-ยูเครน หากสงครามสงบเศรษฐกิจก็จะกลับมาเติบโตได้
ประเด็นต่อมา: ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์
“ภูมิรัฐศาสตร์” (Geopolitics) คือการศึกษาถึงผลกระทบทางภูมิศาสตร์ที่มีต่อการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หมายถึง การที่เราไม่ได้อยู่คนเดียวในโลกใบนี้ ทุกคนต่างอยู่บนแผนที่โลก ในเชิงตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ‘ประเทศไทย’ เป็นประเทศที่ไม่มีคู่ขัดแย้ง นั่นหมายความว่า ไม่ว่าประเทศใดจะมีปัญหาระหว่างกันก็ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
ในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์โลก ขณะนี้มีความตึงเครียดทั้งหมด 3 กระดานด้วยกัน กระดานแรกคือ สงครามอิสราเอล – ฮามาส กระดานที่สองคือ ความตึงเครียดระหว่างประเทศของจีน – ไต้หวัน โดยมีสหรัฐฯ หนุนหลังไต้หวัน และกระดานที่สามคือ สงครามรัสเซีย – ยูเครน
กระดานที่ 1 อิสราเอล – ฮามาส
เหตุการณ์โจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 มีจุดเริ่มต้นความขัดแย้งมาตั้งแต่เมื่อ 50 ปีที่แล้ว โดยในปี 1973 สันนิบาตอาหรับ ได้แก่ อียิปต์และซีเรียรุกรานเข้าไปในพื้นที่ของอิสราเอล หรือที่เรียกว่า ‘สงครามยมคิปปูร์’ ส่งผลให้ชาวอิสราเอลล้มตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลังจากนั้นมาอิสราเอลก็ไม่เคยมีสงครามใหญ่อีกเลย จนกระทั่งเกิดการรุกรานครั้งล่าสุด สาเหตุที่อิสราเอลมีความสำคัญมากก็เนื่องมาจากอิสราเอลได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ให้เป็นผู้ควบคุมและรักษาเสถียรภาพในตะวันออกกลางซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศมุสลิม ตอนนี้สิ่งที่ทั่วโลกกังวลคือ หากอิหร่านเข้าข้างกลุ่มฮามาส และปิด ‘ช่องแคบฮอร์มุซ’ ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันจากอ่าวเปอร์เซียไปยังภายนอก จะส่งผลกระทบต่อประเทศผู้ซื้อน้ำมันทั่วโลกรวมทั้งไทย นี่เป็นความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
อีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจคือ เยเมน ซึ่งมีกลุ่มกบฏฮูตี หากกลุ่มกบฏฮูตีโจมตีเรือที่แล่นผ่านบริเวณ ‘ช่องแคบบับ อัล-มันดับ’ ในคาบสมุทรอาหรับ จะทำให้เรือบรรทุกสินค้าที่มาจากคลองสุเอซ ผ่านทะเลแดงเข้าสู่อ่าวเอเดนเพื่อไปยังมหาสมุทรอินเดีย ไม่สามารถเดินเรือได้ และต้องเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอ้อมแหลมกู๊ดโฮปความยาว 8,900 กิโลเมตร ซึ่งจะทำให้ค่าขนส่งหรือค่าระวางเรือแพงขึ้นถึง 4 เท่าตัว นี่คือความเสี่ยงที่ทุกคนอยากให้คลี่คลายโดยเร็ว นอกจากนี้อีกหนึ่งเส้นทางลัดของโลกคือ คลองปานามา ขณะนี้เกิดปัญหาภัยแล้งทำให้ระดับน้ำในคลองลดลง เรือใหญ่เข้าไม่ได้ ต้องใช้เส้นทางอ้อมเคปฮอร์นหรือช่องแคบมาเจลลันความยาว 12,000 กิโลเมตรแทน แต่ปัญหานี้ยังนับว่าแก้ไขได้ง่ายกว่าปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมา
กระดานที่ 2 จีน – ไต้หวัน (การเลือกตั้งของไต้หวัน)
อีกหนึ่งกระดานที่มีความท้าทายมาก คือความตึงเครียดระหว่างประเทศของจีนและไต้หวัน โดยในวันที่ 13 มกราคม 2024 ไต้หวันจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งผู้นำจากสองขั้วพรรคใหญ่ของไต้หวันมีจุดยืนในเรื่องความสัมพันธ์กับจีนที่แตกต่างกัน ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ที่มีนโนบายไม่เอาจีนเดียว และพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ที่มีนโยบายรวมชาติกับจีน ซึ่งถ้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ ความตึงเครียดระหว่างประเทศจะยังคงอยู่ แต่หากพรรคก๊กมินตั๋งชนะ จะทำให้ความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวันลดน้อยลง อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าไต้หวันจะกลับมารวมกับจีนในเร็ววันนี้ แต่ทั้งสองประเทศจะยังคงอยู่แบบประนีประนอมเหมือนที่เป็นมา เพราะต่างก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญระหว่างกันในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งในด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวก็ยังคงเดินทางไปมาหาสู่กันเป็นปกติ
*หมายเหตุ : ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2024 พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าเป็นฝ่ายชนะ
กระดานที่ 3 รัสเซีย – ยูเครน
หากในวันที่ 31 มีนาคม 2024 ไม่ได้มีการประกาศกฎอัยการศึกให้หยุดพักการเลือกตั้งเอาไว้ในช่วงสงคราม และการเลือกตั้งประธานาธิบดียูเครนได้เกิดขึ้นจริง อาจทำให้การเจรจาปัญหาสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น และหากสงครามสงบลงเศรษฐกิจของยุโรปจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นอย่างมาก
และสุดท้ายในประเด็นภูมิรัฐศาสตร์คือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2024 นายโจ ไบเดนยังคงเป็นผู้สมัครตัวแทนพรรคเดโมแครต ด้านพรรครีพับลิกัน คาดว่านายโดนัลด์ ทรัมป์จะกลับมาชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
ประเด็นสำคัญและเทรนด์ต่าง ๆ ที่น่าสนใจ:
Editorial credit: Kate Kanmepol / Shutterstock.com
เทรนด์ Aging Society ที่เข้าสู่ประเทศไทย
เรื่องที่น่าสนใจในปีนี้อีกเรื่องหนึ่งคือ ‘โครงสร้างประชากรของไทย’ เมื่อปี 1972 (หรือ พ.ศ. 2515) เป็นปีที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดมากที่สุดในประวัติศาสตร์ จำนวน 1,220,000 คน แต่ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2019-2022) จำนวนการเกิดของเด็กไทยกลับลดลงเหลือเพียงประมาณ 600,000 คนเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นในปี 2022 จำนวนเด็กไทยเกิดไม่ถึง 600,000 คน แต่มีคนเสียชีวิตมากกว่าอัตราการเกิด คาดว่าในอีก 60 ปีข้างหน้าประชากรไทยจะเหลือเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนปัจจุบัน โครงสร้างประชากรของไทยจะเปลี่ยนแปลงไป สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ประชากรวัยทำงานจะน้อยลง ส่งผลให้ค่าเฉลี่ยจีดีพีต่อหัว (GDP per Capita) ของคนไทยสูงขึ้น ในอนาคตคนไทยจะมีอายุขัย (Life Span) เฉลี่ยเพิ่มมากขึ้น แต่ด้านสุขภาพ (Health Span) กลับแย่ลง สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ สถานะทางการเงิน (Wealth Span) หรือเงินที่เราใช้ดำรงชีวิตจนกว่าจะสิ้นอายุขัย เพราะคนไทยรุ่นใหม่มักใช้จ่ายเงินเกือบทั้งหมดที่มีโดยไม่มีการออม และยังเป็นหนี้เร็วกว่าคนรุ่นก่อน ๆ โดยเฉพาะ ‘หนี้เพื่อการบริโภค’ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาก ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือ ธนาคารอาจปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภคน้อยลง ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงถึงร้อยละ 90.6 ของ GDP
นอกจากสังคมไทยจะมีผู้สูงอายุจำนวนมากที่มีปัญหาทั้งด้านการเงินและสุขภาพแล้ว ยังมีผู้สูงอายุอีกกลุ่มหนึ่งที่มีเงินเก็บมากและมีกำลังซื้อมหาศาล เรียกว่า ‘Silver Generation’ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นทั่วโลก เห็นได้จากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่มาเที่ยวเมืองไทยจำนวนมากเป็นผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ ซึ่งเราควรให้ความสำคัญ และจากความท้าทายในเชิงเศรษฐกิจที่คนวัยทำงานลดน้อยลง ทำให้ในอนาคตเราอาจจำเป็นต้องเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น แบบเดียวกับที่เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น
การแบ่งกลุ่มประชากรเป้าหมายที่น่าสนใจอีกกลุ่มในทางการตลาดคือ กลุ่ม LGBTQ+ ซึ่งมีมากขึ้นทั่วโลกนั้น ไทยได้ส่งออกภาพยนตร์หรือซีรีส์วาย (Series Y) ไปยังทั่วโลก เช่น คินน์พอร์ช เดอะ ซีรีส์ (Kinn Porsche the Series) ซีรีส์วายแนวหักเหลี่ยมเฉือนคม ซึ่งมีความน่าสนใจตรงที่พูดถึงพฤติกรรมของ Gen Y ทำให้เห็นว่าคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่นั้นมีความแตกต่างกันมาก และที่สำคัญยังออกอากาศครั้งแรกผ่านช่องทางสตรีมมิ่งอีกด้วย ซีรีส์เรื่องนี้มีผู้ชมถึง 700 ล้านคนทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งสังคมยังไม่เปิดกว้างในเรื่องนี้มากนัก แต่มีคนดูกว่า 100 ล้านคนทีเดียว นอกจากนั้นยังมีอินโดนีเซีย เม็กซิโก ชิลี เปรู ฯลฯ หรือภาพยนตร์เรื่องแมนสรวง ที่ได้ไปฉายในเทศกาลภาพยนตร์ทะเลแดง ประเทศซาอุดีอาระเบีย เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2566 ก็เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้ต่างชาติได้เห็นว่าไทยนั้นเปิดกว้างและให้การยอมรับ LGBTQ+ และนอกจากนี้ไทยกำลังจะเป็นประเทศแรกที่จะมีการแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือ พรบ. สมรสเท่าเทียม เพื่อให้คู่สมรส LGBTQ+ สามารถทำนิติกรรมร่วมกันได้เช่นเดียวกับคู่สมรสที่เป็นหญิง-ชาย แสดงให้เห็นถึงการยอมรับความหลายหลายทางเพศ ซึ่งนับเป็นจุดเด่นและเสน่ห์ของไทยอีกอย่างหนึ่ง
Editorial credit: Ascannio / Shutterstock.com
เทรนด์เทคโนโลยี AI และการควบคุม AI
AI ทำให้มนุษย์สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ตามจินตนาการได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากหากใช้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องของการแปลภาษานั้นสำคัญมาก เพราะในอนาคตการพูดภาษาอังกฤษได้เพียงภาษาเดียวไม่เพียงพอแล้ว เรามีนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจากหลายชาติ จึงจำเป็นต้องมีกลไกรองรับ ซึ่ง ChatGPT จะเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยเราได้มาก ในปัจจุบัน AI ได้มีการพัฒนาให้สามารถทำงานได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เรียกว่า Generative AI ซึ่งการที่ AI สามารถสร้างสิ่งใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็วและเหมือนจริงนั้น ทำให้เกิดความกังวลขึ้นว่าในอนาคตเราอาจไม่สามารถแยกความจริงความเท็จได้อีกต่อไป โดยเฉพาะหากมีการใช้ประโยชน์ในทางการเมือง เมื่อไม่นานมานี้จึงได้มีการจัดการประชุมในระดับนานาชาติ เพื่อหาทางควบคุมการใช้ AI ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราต้องเฝ้าระวังกันต่อไป
เทรนด์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่มีความท้าทายพอสมควร ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่ภัยคุกคามแต่เป็นโอกาสของประเทศไทย จากการจัดอันดับประเทศที่มีความสามารถในการลดก๊าซเรือนกระจกในอาเซียนพบว่าอันดับที่ 1 ได้แก่ ประเทศสิงคโปร์ รองลงมาคือประเทศไทย ซึ่งถึงแม้ไทยจะไม่ได้เป็นประเทศที่ผลิตก๊าซเรือนกระจกสูงมากนัก แต่จะได้รับผลกระทบจากก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 9 ของโลก เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตร
จากการประชุม COP21 เมื่อปี 2015 ได้มีการกล่าวถึงประเด็นที่ว่าโลกจะมีอุณหภูมิสูงเกิน 1.5 °C ไม่ได้แล้ว ซึ่งนับตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกที่เมืองแมนเชสเตอร์เมื่อปี 1750 เป็นต้นมา โลกก็มีการใช้พลังงานเชื้อเพลิงมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิของโลกปรับตัวสูงขึ้นเรื่อย ๆ จนเพิ่มขึ้นถึง 1.5 °C ต่อมาในการประชุม COP26 ประเทศไทยได้ร่วมลงนามและร่วมประกาศการลดก๊าซเรือนกระจก โดยจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 จากการประกาศดังกล่าวทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ของไทยหันมาตื่นตัวเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกและมีการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดกันมากขึ้น ซึ่งไทยถือว่ามีศักยภาพสูงมาก ดังนั้นในอนาคตการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบ Green Tourism น่าจะทำได้ไม่ยากนัก
ในอดีตถ้ามองในเชิงท่องเที่ยว อาหารที่คนมองว่าดีคืออาหารนำเข้าที่มีราคาแพง แต่ปัจจุบันเทรนด์การบริโภคเปลี่ยนแปลงไป อาหารที่ดีคืออาหารที่มีในท้องถิ่น ไม่ต้องผ่านการขนส่ง จึงลดการใช้พลังงานจากการขนส่งได้ สิ่งนี้นับเป็นเรื่องใหม่ที่ต่างชาติให้ความสำคัญและชื่นชมมาก
Editorial credit: Pavel V.Khon / Shutterstock.com
ตลาดสำคัญที่ต้องจับตามอง
อินเดียกำลังจะมา
ปัจจุบันอินเดียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก แต่ค่าเฉลี่ยจีดีพีต่อหัว (GDP per Capita) อยู่ในอันดับที่ 123 (ไทยอยู่ที่อันดับที่ 91) ถึงแม้ว่าอินเดียจะยังจัดว่าเป็นประเทศยากจน โดยมีประชากรที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ราว 200 ล้านคน แต่ด้วยจำนวนประชากรที่มากถึง 1,400 ล้านคน และมีเศรษฐีจำนวนไม่น้อย ทำให้ในอนาคตอินเดียจะค่อย ๆ ดีขึ้น ในแง่โครงสร้างทางเศรษฐกิจ อินเดียมีตลาดหุ้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 7 ของโลก และมีบริษัทผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคติด 1 ใน 10 ของโลก นอกจากนี้นักธุรกิจอินเดียยังเข้าไปเป็นผู้บริหารของบริษัทใหญ่ ๆ ระดับโลก ที่ติดอันดับ FORTUNE 500 ถึง 25 คน ไม่ว่าจะเป็น Microsoft Alphabet IBM ฯลฯ จะเห็นได้ว่าอินเดียมีโอกาสเติบโตมาก และน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้นซึ่งนับเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ
และจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ทำให้สินค้าที่ผลิตจากจีน (Made in China) ถูกกีดกันทางการค้า หลายประเทศจึงต้องโยกย้ายเงินทุนและฐานการผลิตบางส่วนไปยังอินเดีย ซึ่งมีศักยภาพและยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ประกาศตัวว่าเป็น “Conflict-free Country” ดังนั้นอินเดียจึงมีโอกาสทางธุรกิจสูงมาก
การเติบโตของจีน
ประเทศจีนกำลังจะเป็น Japanization หรือกระบวนการกลายเป็นญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นเติบโตมากในทศวรรษที่ 1960-80 หลังจากนั้นก็เกิดฟองสบู่แตกในปี 1991 ตอนนี้หลายคนเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจจีนจะซบเซาแบบเดียวกับที่ญี่ปุ่นเคยประสบมา ซึ่งญี่ปุ่นเป็น 1 ในไม่กี่ประเทศที่ใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ คือเชิญชวนให้คนกู้เงินไปลงทุน เนื่องจากดอกเบี้ยติดลบมา 30 ปี ไม่มีการลงทุนเลย บริษัทของญี่ปุ่นที่เคยเป็นเจ้าตลาดในหลายธุรกิจ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ กำลังจะถูกแทนที่ด้วยสินค้าของบริษัทจีน แม้ปัจจุบันจีนจะมีความพร้อมในทุกด้าน แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างแบรนด์สินค้าพรีเมียมของตนเองได้ รวมทั้งจีนยังมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างมากจนเรียกได้ว่า Over-invest ทั้งหมดนี้ทำให้โครงสร้างตลาดของจีนไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป นอกจากนี้จีนยังคงต้องประสบกับปัญหาทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ในเรื่องของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาซึ่งจะมีผลต่อท่าทีของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องรอดูกันต่อไป
ส่งท้าย
ประเทศไทยมีศักยภาพและมีของดีมากมาย โดยเฉพาะทางด้าน Emotional Value หรือสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ประสบการณ์ หรือการท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่มีวันตาย ไทยมีความได้เปรียบทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นมิตรกับทุกประเทศ ทำให้ใคร ๆ ก็อยากมาเที่ยวประเทศไทย จากนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร