
2024: The Age of Hope
สรุปและเรียบเรียง โดย บัณฑิต เอนกพูนสินสุข
ผู้บริโภคทั่วโลกเกินครึ่ง (53%) มองว่าโลกในยุคปัจจุบันคือโลกที่เต็มไปด้วยการแบ่งแยก ผู้คนมีความคิดที่หลากหลาย แตกต่าง และไม่สมานฉันท์เหมือนเมื่อก่อน ในขณะเดียวกันทัศนคติด้านเศรษฐกิจก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน ผู้บริโภคจำนวนมากไม่คิดว่าสภาวะทางเศรษฐกิจจะดีขึ้นในช่วง 5 ปีต่อจากนี้
แล้วใครกันที่จะเข้ามาช่วยสร้างความหวังให้ผู้บริโภคในยุคนี้ได้? ไม่ใช่รัฐบาลแน่ ๆ เพราะความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลทั่วโลกนั้นก็ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทวีปยุโรป
แม้ว่าสถานการณ์จะดูไม่สดใสตามที่ได้กล่าวมา แต่ภายใต้จิตใจลึก ๆ ผู้บริโภคนั้นยังมีความหวังกันอยู่ หลังผ่านเรื่องราวและต่อสู้กับ COVID-19 มาหลายปี ผู้บริโภคทั่วโลกจำนวนกว่า 44% มองว่าความท้าทายในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้สร้างโอกาสหลายอย่างให้กับพวกเขา และในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคกว่า 61% ได้ทดลองประสบการณ์ใหม่และเริ่มต้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต นับเป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงและความหวัง โอกาสมักอยู่ท่ามกลางปัญหาและความเปลี่ยนแปลง ด้วยเหตุนี้เองแบรนด์หรือผู้ประกอบการต้องรีบไขว่คว้าโอกาสในการสร้างความหวังและการเปลี่ยนแปลงให้กับผู้บริโภคเอาไว้ให้ได้
4 เทรนด์ต่อไปนี้ คือโอกาสสำคัญที่แบรนด์/ผู้ประกอบการควรที่จะให้ความสำคัญ ในยุคที่ผู้บริโภคกำลังมองหาความหวัง
- Digital Minimalism – ดิจิทัลขอมีแต่พอเหมาะ
- Awescapes – ‘ที่’ ดีต่อใจ
- Reclaim the Narrative – เรื่องราวที่ฉันอยากเล่า
- Good Deed Economy – สังคมแห่งความอ่อนโยน
1.Digital Minimalism – ดิจิทัลขอมีแต่พอเหมาะ
ผู้บริโภคในปี 2024 พยายามที่จะหยุดพักตนเองไม่ให้ใช้งานเทคโนโลยีมากเกินความจำเป็น เพราะพวกเขามองว่าเทคโนโลยีที่เกินพอดีจะส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและจิตใจของพวกเขา แบรนด์/ผู้ประกอบการจะทำอย่างไรเพื่อช่วยดีท็อกซ์ ลดประสบการณ์การใช้ชีวิตที่เสพติดโลกออนไลน์ให้กับผู้บริโภค และนำพาพวกเขาไปสู่แนวปฏิบัติในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างพอเหมาะพอดีและสมดุลมากยิ่งขึ้น
ปัจจัยสนับสนุน
- จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคทั่วโลกพบว่า ผู้บริโภคมีความกังวลว่าการพัฒนาของเทคโนโลยีนั้นกำลังส่งผลเสียต่อการใช้ชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมเพิ่มขึ้น เปรียบเทียบระหว่างปี 2022 กับปี 2013 (Ipsos Global Trends Series)
- ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ราว 50% ต้องการหยุดพักการใช้งานโทรศัพท์มือถือ ซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนที่สูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับ Generation อื่น แต่ในทางกลับกันผู้บริโภค Gen Baby Boomers เพียง 20% เท่านั้นที่อยากหยุดพักการใช้งานโทรศัพท์มือถือ (Squarespace 2023)
- โทรศัพท์มือถือแบบธรรมดาที่ไม่ใช่ Smartphone กลับมาได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา เพราะผู้บริโภค Gen Z อยากที่จะจำกัดการใช้งานโทรศัพท์มือถือของตนเอง
- การเติบโตของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีพิษภัยน้อย หรือ Less Toxic Social Media Platform มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีสินค้า/กิจกรรม/การบริการที่ตอบโจทย์เทรนด์
Mui Lab & Emma
Mui Lab & Emma คือแบรนด์ที่พัฒนาและสร้างผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีผ่านแนวคิดการผสมผสานเทคโนโลยีกับชีวิตประจำวันให้ลงตัว หรือ Calm Design Technology ซึ่ง Mui Lab & Emma ต้องการที่จะช่วยให้ผู้บริโภคหลุดพ้นจากการติดอุปกรณ์มือถือและลดการใช้งานที่ไม่จำเป็น โดยได้พัฒนาแผ่นไม้สำหรับควบคุมระบบสมาร์ตโฮมสไตล์มินิมัล ที่สามารถติดตั้งและกลมกลืนไปกับบรรยากาศภายในห้องพักผ่อนได้อย่างลงตัว ไม่มีหน้าจอแสดงผลที่ปล่อยแสงสีฟ้าออกมารบกวนและทำร้ายสายตา แผ่นไม้ดังกล่าวมีการแสดงผลในรูปแบบ Pixel แบบมินิมัล ผู้ใช้งานสามารถสั่งการควบคุมอุณหภูมิ แสงไฟ เปิด/ปิดเพลง ส่งข้อความ ฯลฯ ได้โดยไม่ถูกระบบรบกวนบรรยากาศการพักผ่อนภายในห้อง ตอบโจทย์การเพิ่มประสิทธิภาพในการพักผ่อนให้ผู้ใช้งาน
ภาพจาก: Mui Lab 2023
BeReal
โซเชียลแอปพลิเคชันแชร์ภาพที่ให้แชร์ภาพได้เพียงวันละ 1 ครั้งเท่านั้น โดยแพลตฟอร์ม BeReal จะสุ่มเวลาให้ว่าผู้ใช้งานจะลงภาพเวลาใด และผู้ใช้งานจะไม่สามารถดูรูปของคนอื่นได้ หากตนเองยังไม่ได้แชร์ภาพหลังระบบแจ้งให้โพสต์
Retro
Retro โซเชียลแอปพลิเคชันประเภทแชร์ภาพคล้าย Instagram ที่ช่วยปกป้องความเป็นส่วนตัว โดยภาพที่แชร์จะเห็นเฉพาะกลุ่มเพื่อนและครอบครัวของผู้แชร์เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากแอปฯ ยอดนิยมในปัจจุบันที่เน้นขายโฆษณาและแสดงแต่ภาพของใครก็ไม่รู้ที่จ่ายเงินซื้อโฆษณา จนผู้ใช้แทบจะไม่เห็นภาพเพื่อนจริง ๆ ของตัวเองไปแล้ว
ภาพจาก: Retro 2023
2.Awescapes – ‘ที่’ ดีต่อใจ
ผู้บริโภคในปี 2024 กำลังมองหาประสบการณ์สุดพิเศษที่จะนำพาพวกเขาไปสู่ห้วงความรู้สึกประทับใจ อิ่มเอม หรือแม้แต่สถานที่ลึกลับน่าค้นหา ซึ่งเกิดขึ้นจากความงดงาม ยิ่งใหญ่ และพลังบวกจากธรรมชาติ
ปัจจัยสนับสนุน
- 89% ของผู้บริโภคทั่วโลกให้ความเห็นว่าประสบการณ์สุดพิเศษ (Awe-inspiring) ทำให้พวกเขารู้สึกดี (Wunderman Thompson 2023)
- ประสบการณ์สุดพิเศษท่ามกลางธรรมชาติสามารถเสริมสร้างสุขภาพที่ดีได้ จากผลสำรวจของมหาวิทยาลัย Northwestern University รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ที่อาศัยอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง และดูเยาว์วัยกว่าคนที่อาศัยอยู่ไกลพื้นที่สีเขียวประมาณ 2.5 ปี (Northwestern University 2023)
- NHS หรือ ระบบดูแลรักษาสุขภาพแห่งชาติของของสหราชอาณาจักรได้ทดลองโครงการ Wild at Heart โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพจิตให้ผู้สูงวัยผ่านการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้สูงวัย และพัฒนาพื้นที่ความเป็นอยู่ให้ได้ใกล้ชิดธรรมชาติใน 2 เมือง Sheffield และ Rotherham จากผลการทดลองพบว่า ผู้สูงวัยที่เข้าร่วมโครงการมีสุขภาพจิตและสุขภาพกายที่ดีขึ้น ส่งผลให้พวกเขาพบแพทย์น้อยลง จนนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายของระบบสวัสดิการ NHS กว่า 38,646 ปอนด์สเตอร์ลิง ต่อปีต่อเมือง (ประมาณ 1.75 ล้านบาท) และหากสหราชอาณาจักรขับเคลื่อนโครงการดังกล่าวทั่วประเทศจะทำให้สามารถลดค่าใช้จ่ายของ NHS ได้สูงถึง 635.6 ล้านปอนด์สเตอร์ลิง ต่อปี (ประมาณ 28,600 ล้านบาท)
- ผลการสำรวจหลายสำนักพบว่า การหลีกหนีความวุ่นวายไปอยู่กับธรรมชาติช่วยลดภาวะหมดไฟของพนักงานได้
- ความเท่าเทียมในการเข้าถึงพื้นที่สีเขียวคือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีสินค้า/กิจกรรม/การบริการที่ตอบโจทย์เทรนด์
L.L. Bean
L.L. Bean บริษัทค้าปลีกสินค้าและอุปกรณ์ Outdoor หยุดการฟีดเนื้อหาบนโซเชียลมีเดียของแบรนด์ และจับมือกับแอปพลิเคชันออกกำลังกาย Strava ก่อตั้งโครงการ L.L.Bean Feel-Good Challenge เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้ออกไปทำกิจกรรม Outdoor สะสมชั่วโมงผ่านแอปฯ Strava โดยตั้งเป้าไว้ว่าหากผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดใช้เวลาทำกิจกรรม Outdoor เกิน 500,000 ชั่วโมงภายใน 1 เดือน บริษัทจะบริจาคเงินจำนวน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,850,000 บาท) ให้กับองค์กร Mental Health America องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรระดับชาติที่ทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพจิต ความเป็นอยู่ที่ดี และสนับสนุนการป้องกันการเจ็บป่วยของประชาชนสหรัฐฯ จากผลการดำเนินโครงการพบว่ามีผู้เข้าร่วมกว่า 106,112 คน (Strava 2023) และมีจำนวนชั่วโมงรวมกันเกินเป้าที่ตั้งไว้อย่างรวดเร็วภายใน 10 วัน
Campsited
Campsited แพลตฟอร์ม Marketplace ให้บริการที่พักท่ามกลางธรรมชาติสัญชาติไอร์แลนด์ เปิดตัวโครงการ ‘Open Air Work from Anywhere’ สำหรับบริษัทที่อยากให้โอกาสพนักงานในการเลือกทำงานแบบ Remote Work จากจุดหมายปลายทางธรรมชาติ ซึ่งพนักงานจะได้พักผ่อนพร้อมกับทำงานในบริเวณที่ตั้งแคมป์ต่าง ๆ ในยุโรป โดยพนักงานบริษัทที่เข้าร่วมสามารถเลือกออกมาทำงานในที่ตั้งแคมป์ต่าง ๆ ได้เป็นเวลา 12 สัปดาห์ พร้อมรับประกันว่าทุกที่จะมี Wifi ความเร็วสูงและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นให้บริการ
Visit Sweden
Visit Sweden หน่วยงานบริหารจัดการการท่องเที่ยวประจำประเทศสวีเดน เปิดประสาทสัมผัสเหนือจินตนาการรูปแบบใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านการนำเสนอแคมเปญ ‘Spellbound by Sweden’ หรือ ‘มนต์เสน่ห์แห่งสวีเดน’ โดยจัดทำ Audiobook เล่าเรื่องราวลี้ลับสุดพิศวงที่เขียนโดยนักเขียนแนวสยองขวัญผู้โด่งดังชาวสวีเดน John Ajvide Lindqvist ผู้ที่อยากฟังเรื่องราวของ Spellbound by Sweden สามารถรับฟังได้ผ่านแอปพลิเคชัน Spotify โดยผู้ฟังจะต้องอยู่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติแห่งใดแห่งหนึ่งในประเทศสวีเดนเท่านั้น เพราะ Content ถูกจำกัดการเข้าถึงตามภูมิศาสตร์ หรือ ‘Geo-locked’ ซึ่งเรื่องราวใน Audiobook นั้นก็จะแตกต่างกันออกไปตามแต่ละอุทยานฯ อีกด้วย
(Youtube: Visit Sweden – Spellbound by Sweden)
3.Reclaim the Narrative – เรื่องราวที่ฉันอยากเล่า
เครื่องมือทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในปี 2024 จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถสร้างและออกแบบอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของพวกเขาได้ตามที่ต้องการ ผู้บริโภคจะเปิดรับและมองหาแบรนด์ที่สนับสนุนให้พวกเขาสามารถสร้างเรื่องราวและสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นจริงได้
ปัจจัยสนับสนุน
- Generative AI* ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถออกแบบอดีต ปัจจุบัน และอนาคตได้ใหม่ตามใจคิด เราสามารถเขียนประวัติศาสตร์ในมุมมองใหม่ ๆ ได้ อาทิ จะเกิดอะไรขึ้นหากกลุ่มประเทศอักษะชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือประเทศจะเป็นอย่างไรถ้า Greta Thunberg ได้เป็นประธานาธิบดีของประเทศสวีเดน เป็นต้น
- หลายประเทศเรียกร้องสิทธิ ทวงคืนโบราณวัตถุและสิ่งมีค่าทางประวัติศาสตร์จากประเทศมหาอำนาจหรือประเทศที่เคยเข้ามายึดครองอำนาจ ยกตัวอย่างเช่น ประเทศศรีลังกาและอินโดนีเซียที่เรียกร้องขอคืนโบราณวัตถุจากประเทศเนเธอร์แลนด์ จนท้ายที่สุดเนเธอร์แลนด์ตกลงยินยอมที่จะคืนโบราณวัตถุที่ได้มาจากการล่าอาณานิคมในอดีตเป็นจำนวน 478 ชิ้นงาน (Government of the Netherlands 2023)
- ผู้บริโภคโอบรับแบรนด์ที่ช่วยกำจัดอคติที่ฝังแน่นอยู่ภายในจิตใจของผู้คน
- ผู้บริโภคจำนวนมากอยากให้แบรนด์แสดงจุดยืนในการต่อต้านอคติด้านเชื้อชาติ ศาสนา/ความเชื่อ และสีผิว
- การใช้เทคโนโลยีช่วยทบทวนความทรงจำในอดีตคือสิ่งที่ผู้บริโภคมองหา
*Generative AI (GeneAI) หมายถึง AI ที่ถูกออกแบบให้มีความสามารถในการ “สร้างสิ่งใหม่” จากชุดข้อมูลที่มีอยู่ ผ่านอัลกอริทึมแบบ Generative Model โดยสามารถนำมาใช้งานได้หลากหลาย อาทิ สร้างภาพ บทความ เสียงดนตรี เป็นต้น
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีสินค้า/กิจกรรม/การบริการที่ตอบโจทย์เทรนด์
Orange France
โฆษณา Women’s World Cup หรือ ฟุตบอลโลกหญิง ได้แสดงให้เห็นถึงอคติทางความคิดเกี่ยวกับฟุตบอลกับเพศสภาพ ผ่านวิดีโอรวมไฮไลต์ทักษะการเล่นฟุตบอลและการทำประตูสวย ๆ ของนักเตะชายชื่อดังจากสโมสรชั้นนำ ก่อนเฉลยตอนท้ายว่าแท้ที่จริงแล้วสิ่งที่เราได้เห็นทั้งหมดคือภาพของนักฟุตบอลหญิง ที่ผ่านการปลอมแปลงโดยใช้เทคโนโลยี Deepfake*
*Deepfake คือ Generative AI รูปแบบหนึ่งที่สามารถสร้างสื่อสังเคราะห์ทั้งภาพนิ่ง เสียง และวิดีโอ ที่เหมือนเป็นคนใดคนหนึ่งจริง ๆ จนบางครั้งแยกออกได้ยาก ระบบทำงานด้วยการเรียนรู้แบบ Deep Learning จากการจดจำลักษณะภายนอกของบุคคล เช่น สีผิว ตา ปาก จมูก รูปลักษณ์ เป็นต้น (ETDA 2023)
ภาพจากวิดีโอ (Orange 2023)
MissJourney
จากผลสำรวจพบว่า หากเราสั่งการให้ AI สร้างภาพเหมือนของผู้ประกอบอาชีพในอุดมคติแต่ละอาชีพ ผลลัพธ์ที่ออกมาจะได้ภาพของผู้ชายมากกว่า 80% ในขณะที่มีไม่ถึง 20% เป็นภาพของผู้หญิง MissJourney เล็งเห็นถึงอคติทางความคิดที่ฝังลึกและต้องการที่จะสร้างการตระหนักถึงความเท่าเทียมทางเพศสภาพ จึงได้จับมือกับ TedxAmsterdam Women พัฒนาแพลตฟอร์ม AI MissJourney ขึ้นมาเพื่อเฉลิมฉลองวันสตรีสากล โดยแพลตฟอร์มนี้จะทำหน้าที่สร้างภาพแบบ Text-to-Image ที่จะแสดงผลลัพธ์แต่เพศหญิงอย่างเดียว เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักว่าเพศหญิงก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าเพศชาย
ภาพจาก: missjourney.ai
bAIgrapher
bAIgrapher คือ AI ที่พัฒนาขึ้นเพื่อเปลี่ยนเรื่องราวชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้กลายเป็นคลังความทรงจำที่สามารถชะลอการลุกลามของโรคได้ การทำงานของ bAIgrapher คล้ายกับการจดบันทึกเรื่องราว แต่มี Algorithm ที่ได้รับการฝึกจากคลังความรู้ด้านการรักษาโรคอัลไซเมอร์ ผนวกกับการสอบถามและเก็บข้อมูลทางการแพทย์ รวมทั้งข้อมูลประสบการณ์การใช้ชีวิตของผู้ป่วยเป็นรายบุคคล (ในรูปแบบเสียง) จากนั้นข้อมูลจะถูกนำมาจัดเรียงและคัดลอกออกมาเป็นเรื่องราว และสร้างสื่อออกมาในรูปแบบหนังสือ หรือไฟล์เสียง ซึ่งผู้ป่วยสามารถนำมาอ่านหรือฟังเมื่อต้องการได้ ในขณะเดียวกันคนใกล้ชิดก็สามารถเก็บหนังสือหรือไฟล์เสียงไว้เพื่อรำลึกถึงผู้ป่วยในวันที่พวกเขาจากโลกนี้ไปแล้ว
ภาพจาก: bAIgrapher 2023
4.Good Deed Economy – สังคมแห่งความอ่อนโยน
ผู้บริโภคในปี 2024 จะโอบกอดแบรนด์ที่มีแนวคิดเยียวยาโลกให้ดีขึ้น ผ่านการส่งเสริมการทำดี การแบ่งปัน และการมีน้ำใจให้กัน
ปัจจัยสนับสนุน
- เหตุการณ์ปั่นป่วนจากผู้โดยสารที่เดินทางทางอากาศมีอัตราเพิ่มขึ้นกว่า 47% หลังมาตรการ COVID-19 คลี่คลายลง
- 76% ของพยาบาลทั่วโลกต้องประสบกับพฤติกรรมหยาบคายของผู้ป่วย อย่างน้อย 1 ครั้งต่อเดือน
- 78% ของผู้บริโภคให้ความเห็นว่าพฤติกรรมแย่ ๆ ของผู้คนพบเจอได้บ่อยกว่าเมื่อ 5 ปีก่อน
- จุดหมายปลายทางและแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งกำลังเผชิญกับพฤติกรรมแย่ ๆ ของนักท่องเที่ยว จนประชาชนท้องถิ่นบางแห่งเริ่มทนไม่ไหวและออกมาเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาโดยด่วน ยกตัวอย่างเช่น ในบาหลี
- ผู้บริโภคในยุโรป 13% รู้สึกเหงาและว้าเหว่เกือบตลอดเวลาหรือทั้งหมดของเวลา
- ความอดทนของผู้บริโภคลดลงอย่างต่อเนื่องในยุคนี้
- ความเอื้อเฟื้อและความมีน้ำใจทำให้สภาพจิตใจดีขึ้น
ตัวอย่างแบรนด์ที่มีสินค้า/กิจกรรม/การบริการที่ตอบโจทย์เทรนด์
Wilder Harrier
ค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบันส่งผลกระทบต่อทุกครัวเรือน ไม่เว้นแม้กระทั่งครอบครัวที่มีสัตว์เลี้ยง Wilder Harrier แบรนด์อาหารสุนัขต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมแห่งการแบ่งปันอาหารสัตว์เลี้ยงขึ้น จึงได้ติดตั้งตู้อาหารสัตว์เลี้ยงสำหรับการแบ่งปันในหลายชุมชนที่เมือง Toronto ตู้ดังกล่าวฯ มีไว้สำหรับแบ่งปันอาหารและของเล่นสัตว์เลี้ยง ซึ่งใครที่ต้องการแบ่งปันหรือขาดแคลนก็สามารถนำมาใส่หรือหยิบไปได้
ภาพจาก: www.wilderharrier.com
Activision & Modulate
เชื่อหรือไม่ว่า 56% ของวัยรุ่นช่วงอายุระหว่าง 13 – 17 ปี ในสหรัฐอเมริกามีประสบการณ์ถูก Cyberbully* ดังนั้น Activision บริษัทค่ายเกมผู้ผลิตเกมแนวหน้า เจ้าของผลงานเกมระดับโลกอย่าง Call of Duty จึงได้จับมือกับ Modulate บริษัทพัฒนา AI ในการพัฒนาโปรแกรม AI ตรวจจับคำพูดที่ไม่เหมาะสม ก้าวร้าว และหยาบโลน เพื่อนำมาร่วมตรวจจับการแชทภายในเกมแบบ Real-time โดยใช้ชื่อว่า ToxMod มีจุดประสงค์เพื่อสร้างสังคมที่ดีภายในเกมและลดปัญหา Cyberbully ที่เกิดขึ้นจากการเล่นเกม
*Cyberbully คือ การกลั่นแกล้ง ด่าว่า ให้ร้าย ข่มเหง หรือรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมหรือแพลตฟอร์มออนไลน์
ภาพจาก: Modulate 2023
Starbucks
Starbucks เปิดตัวแคมเปญโฆษณา A Little Kindness ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โอบอ้อมอารี และอ่อนโยนต่อกัน และในขณะเดียวกัน Starbucks ได้พัฒนาฟีเจอร์ AR ตัวใหม่ภายในแอปพลิเคชันของตน ซึ่งลูกค้า Starbucks สามารถแชร์และรับชมข้อความให้กำลังใจ รวมทั้งคำขอบคุณที่ลูกค้าเขียนไว้ได้ผ่านเลนส์กล้อง
ภาพจาก: Starbucks 2023
ที่มา : จากการเข้าร่วมงาน TrendWatching Amsterdam 19 กันยายน 2023