
ไม่เห็นโลกร้อน ไม่หลั่งน้ำตา เมื่อเทรนด์รักษ์โลกใกล้ตัวกว่าที่คิด
เรียบเรียงจากบทสัมภาษณ์ ‘ต้น – จักรพงษ์ ชินกระโทก’
ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด
- ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส ข้าวที่เราเคยกินกันอยู่ 200-300 สายพันธุ์ อาจเหลือไม่ถึง 50 สายพันธุ์
- BCG Economy คือแนวคิดเศรษฐกิจใหม่ เพื่อขับเคลื่อนท่องเที่ยวไทยไปสู่มิติของความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
กิจการเพื่อสังคมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
‘ต้น – จักรพงษ์ ชินกระโทก’ คือหนุ่มโคราชผู้คลุกคลีอยู่กับงานวิจัยและงานบริการวิชาการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ก่อเกิดเป็นความรัก ความหลงใหล และคิดว่าน่าจะเอาความรู้ที่มีมาต่อยอดสร้างการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
กระทั่งปี 2018 ในยุคที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของประเทศไทยกำลังรุ่งเรืองถึงขีดสุด บริษัท ฟายด์ โฟล์ค จำกัด กิจการเพื่อสังคมเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจึงถือกำเนิดขึ้น ในฐานะ ‘One Stop Service for Sustainable Tourism’ กับภารกิจในการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวของประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบที่ยั่งยืน ผ่านการทำงาน 3 ส่วน ได้แก่ Co-Creation ร่วมกับเจ้าของทรัพยากรสร้างสรรค์กิจกรรมท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ Dot Connector เป็นศูนย์กลางจัดหาผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ มาร่วมทำงานกับชุมชนอย่างใกล้ชิด และ Raise Awareness สร้างความตระหนักรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ ที่ยั่งยืนผ่านการจัดทำโครงการต่าง ๆ ร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ความยั่งยืน…ไม่มีอยู่จริง
ต้องบอกอย่างตรงไปตรงมาว่า ในกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ‘ความยั่งยืนไม่มีอยู่จริง แต่การพัฒนาอย่างยั่งยืนมีอยู่จริง’ เพราะวิทยาศาสตร์บอกว่าเมื่อถึงวันหนึ่ง โลกก็มีวันแตก พระอาทิตย์ก็มีวันดับ แต่เราจะช่วยทะนุถนอมโลกกันอย่างไร ให้มนุษย์เราได้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของโลกใบนี้ได้นานยิ่งขึ้น ซึ่งถ้ามองให้ลึกลงไป ปัญหาที่ทุกคนได้ยินกันมาตลอด คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่สาเหตุหลักเกิดจากการผลิตและการบริโภคของมนุษย์ ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกแล้วส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้น
โลกร้อน วาระระดับโลก
เมื่อก่อนเรารู้ว่าโลกร้อน แต่ไม่ได้ใส่ใจอะไรนัก เราผลิตสินค้าและบริการเพื่อให้มีกำไร เพื่อให้รวย แต่ไม่เคยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กระทั่งเริ่มมีตัวชี้วัดทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้ว่าผลกระทบจากสิ่งที่ทำกันอยู่นั้นหนักหนาแค่ไหน อย่างรายงานล่าสุดขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) ที่บอกว่าระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซมีเทนของโลก สูงขึ้นกว่าช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรมถึง 50% แม้อยู่ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ที่ไม่ได้มีการเดินทางท่องเที่ยวมากเหมือนก่อน เมื่อถึงจุดหนึ่งเลยทำให้มนุษย์เริ่มคิดได้ว่าไม่ควรใช้ชีวิตแบบเดิมอีกต่อไป มีคนเริ่มออกมารณรงค์และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะเดียวกัน หลายประเทศทั่วโลกก็ร่วมมือกัน ออกกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่พูดถึงความยั่งยืนกันมากขึ้น โดยเน้นไปที่เรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก อย่างเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGS) ของสหประชาชาติ หรือเกณฑ์พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นพลวัตของโลกที่จะเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสู่ ‘เศรษฐกิจแบบยั่งยืน’ ที่หันมาสนใจมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
ไม่เห็นโลกร้อน ไม่หลั่งน้ำตา
ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส (ปัจจุบัน 1.1 องศาเซลเซียส) จะทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพหายไปมาก โดยเฉพาะประเทศแถบเส้นศูนย์สูตร อย่างผลกระทบที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ข้าวที่เราเคยกินกันอยู่ 200-300 สายพันธุ์ อาจเหลือไม่ถึง 50 สายพันธุ์ มังคุด ทุเรียนทางภาคตะวันออกที่เคยได้กินในช่วงต้นฤดูฝน ฤดูกาลก็จะรวนไปหมด เชียงใหม่ที่คนชอบขึ้นไปสัมผัสอากาศหนาว จากที่เคยเที่ยวได้ 3 เดือน จะเหลือแค่เดือนเดียว ปะการังตามเขตอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ก็จะฟอกขาวมากขึ้น ดูแลรักษายากขึ้น
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจะกลายเป็นปัญหาที่หนักหนาขึ้น แก้ไขยากขึ้น และทำให้เราไม่มีทรัพยากรทางธรรมชาติดี ๆ ในการดึงดูดนักท่องเที่ยว หรือแม้แต่ชุมชนเองที่เชิญชวนนักท่องเที่ยวมาดื่มด่ำบรรยากาศ มานอนกลางทุ่ง นอนโฮมสเตย์ ฟาร์มสเตย์ ถ้าสภาพอากาศยังเป็นแบบนี้ ร้อนขึ้นทุกปี ๆ ถามว่านักท่องเที่ยวยังจะมีแก่ใจมากันไหม? จากแต่ก่อนที่โฮมสเตย์อยากให้คนมาสัมผัสอากาศบริสุทธิ์ ถึงตอนนี้โฮมสเตย์ก็ต้องติดแอร์เพื่อที่จะให้ขายได้ ซึ่งทำให้มีภาระทั้งเรื่องของต้นทุนและการบริหารจัดการตามมา
Six Sense Con Dao
รีสอร์ตสุดหรูบนเกาะกงด๋าวทางตอนใต้สุดของประเทศเวียดนาม ที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ ‘หรูหราอย่างยั่งยืน’ (Sustainable Luxury) และเป็นแบรนด์รีสอร์ตรักษ์สิ่งแวดล้อมอันดับต้น ๆ ของโลก ที่ยกตัวอย่างนี้ เพราะนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของเขาชัดเจนมาก เริ่มตั้งแต่สิ่งปลูกสร้างที่เลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงสร้างอาคารที่ออกแบบให้มีการไหลเวียนของอากาศเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า การยกเลิกใช้พลาสติก 100% การปลูกผักอินทรีย์ภายในรีสอร์ต นโยบายฝึกอบรมพนักงาน ตลอดจนการให้ความรู้กับคนท้องถิ่นให้ตระหนักและมีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญคือ ความพยายามในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ รวมถึงความร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติกงด๋าว ในการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลด้วย ซึ่งการลงมือทำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ และการส่งมอบประสบการณ์ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้กับลูกค้า ‘ด้วยความมุ่งมั่นและจริงใจ’ ถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับธุรกิจที่พักรักษ์สิ่งแวดล้อมในฟากฝั่งทวีปเอเชียท่องเที่ยวไทยขานรับเทรนด์โลก
ประเทศไทยทำรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับที่ 4 ของโลกในปี 2018 แต่เมื่อมองไปที่การจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Index: TTCI) โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ในปี 2019 ปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 31 ของโลก ซึ่งหมายความว่า ด้านเศรษฐกิจของเรานั้นดีมาก แต่ขีดความสามารถในการแข่งขัน ด้านการบริหารจัดการต่าง ๆ ยังทำได้ไม่ดีพอ และถ้าเข้าไปดูในรายละเอียด หนึ่งในตัวชี้วัดที่ได้คะแนนน้อย คือเรื่องความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) ซึ่งพอผลออกมาเป็นแบบนี้ หน่วยงานต่าง ๆ จึงเริ่มขยับตัวขานรับเทรนด์โลก เพื่อให้การท่องเที่ยวของเราได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น
ดันเมืองเก่า นาเกลือ เกาะหมากติดท็อปโลกปีนี้
เรามีหน่วยงานต้นน้ำ อย่างองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ที่เอาเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) มาเป็นหลักในการทำงาน ซึ่งปีนี้ ทาง อพท. พยายามผลักดันแหล่งท่องเที่ยวของไทยอีก 3 แหล่ง ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย นาเกลือ จังหวัดชลบุรีและเกาะหมาก จังหวัดตราด ให้ได้รับการพิจารณาเป็น 1 ใน 100 สุดยอดแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก (Global Sustainable Destinations Top 100) ซึ่งปีที่ผ่านมา มีแหล่งท่องเที่ยวของไทย 2 แหล่งที่ได้รับคัดเลือก ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวเชียงคาน จังหวัดเลย และในเวียงจังหวัดน่าน โดยจากการที่ไทยได้รับรองด้านความยั่งยืนระดับนานาชาตินี้ จะสามารถสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ใหม่ ๆ ให้กับแหล่งท่องเที่ยวของไทยอีกทั้งยังถือเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวท่ามกลางโลกที่เคลื่อนสู่มิติของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนอย่างเต็มตัว
BCG วาระถัดไปของท่องเที่ยวไทย
ด้านกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ก็ขานรับและร่วมผลักดันฟื้นฟูเศรษฐกิจตามกรอบแนวคิดที่เรียกว่า ‘BCG Economy’ เพื่อขับเคลื่อนท่องเที่ยวไทยไปสู่มิติของความยั่งยืนและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น โดยตัวแรกคือ Bio Economy เน้นการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าโดยใช้ความหลากหลายชีวภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่ ตัวที่สอง Circular Economy เน้นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดปริมาณของเสียให้ได้มากที่สุด (Zero Waste) และสุดท้ายคือ Green Economy เป็นร่มใหญ่ของการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นการลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ประกาศจุดยืน ส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบที่สอดคล้องกับ BCG Economy เช่นกัน
เริ่มต้นด้วย Low Carbon
สมาคมไทยท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และผจญภัย (TEATA) มอบหมายให้สมาชิกสมาคมกว่า 80 บริษัท ได้ลองออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว Low Carbon และนำเส้นทางดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เพื่อคำนวณหาค่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำกิจกรรม สมมติว่าเส้นทาง A แต่ก่อนเคยนำนักท่องเที่ยวขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยว นอนโฮมสเตย์ติดแอร์ คำนวณก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint) ออกมาได้ 500 หน่วยทีนี้ถ้าเราลองให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจากขี่มอเตอร์ไซค์ มาปั่นจักรยานในระยะทางที่เท่ากัน เปลี่ยนจากนอนโฮมสเตย์ติดแอร์เป็นนอนเต็นท์ ก็จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้เหลือ 200 หน่วย นี่เรียกว่าเป็นการ ‘ร่วมลด’ หลังจากนั้น ถ้าอยากทำให้การท่องเที่ยวมีปริมาณคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ก็อาจจะมีแนวทางพัฒนาและหาคาร์บอนเครดิตมาทดแทนต่อไปได้
ต่อด้วยขาย Carbon Credit
ตัวอย่างชุมชนถ้ำเสือ จังหวัดเพชรบุรี เป็นชุมชนใกล้กับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานที่เน้นเรื่องการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และด้วยความที่คนที่นี่มีวิถีชีวิตผูกพันกับป่า จึงพยายามช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่า เพราะฉะนั้น นอกจากการขายบริการการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้การทำปุ๋ยเบญจคุณหรือการปั้นกระสุนเมล็ดพันธุ์แล้ว คนถ้ำเสือยังทำ ‘ธนาคารต้นไม้’ หรือพูดง่าย ๆ ก็คือการปลูกต้นไม้นั่นเอง ซึ่งเมื่อต้นไม้เติบโตขึ้นจนสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ตามวิถีและผ่านการทดสอบตามมาตรฐาน ทางชุมชนก็สามารถขายเป็นคาร์บอนเครดิตให้กับหน่วยงานที่ปล่อยคาร์บอนเกินค่ามาตรฐานได้ด้วย ช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชน ปลดหนี้ ปลดสินกันมานักต่อนัก เรียกได้ว่าเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่ ‘ดีครบ’ ทั้งในมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
กำไรบรรทัดที่ 2
ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการยุคใหม่ต้องไม่มองกำไรแค่บรรทัดเดียว แต่ต้องมองกำไรบรรทัดที่ 2 ในแง่ของการเกื้อกูลต่อสังคม และบรรทัดที่ 3 คือลดการสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมให้สอดรับกับเทรนด์โลกด้วย เปรียบเสมือนเก้าอี้สามขาที่ประกอบด้วยขาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะขาดขาใดขาหนึ่งไม่ได้ โดยธุรกิจของเราอาจมีขาเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าก็ได้ แต่ต้องไม่ละเลยอีกสองขาที่จะทำให้ธุรกิจและโลกของเรายั่งยืนยิ่งขึ้น
GoGreenBooking.com
ฟายด์ โฟล์ค พยายามศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2018 จนกระทั่งปี 2021 เราได้รับการสนับสนุนพันธมิตรหลายภาคส่วน และล่าสุดคือ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) มาพัฒนาแพลตฟอร์ม GoGreenBooking.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับจำหน่ายสินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ โดยหนึ่งในตัวชี้วัดที่เรานำมาใช้คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ผลิตสินค้าและบริการ ทั้งที่เกิดจากการเดินทางขนส่ง การผลิต การใช้พลังงาน และการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ
นักท่องเที่ยว 3G
ในโลกยุคใหม่ อยากให้นักท่องเที่ยวยึดหลัก 3G ในการเดินทาง เริ่มด้วย Good คือต้องเป็นนักท่องเที่ยวที่ดี ต้องเคารพและช่วยกันดูแลรักษา ตลอดจนรับผิดชอบต่อทั้งโลกและสิ่งแวดล้อมขณะเดินทางท่องเที่ยว Green คือเลือกใช้บริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แม้ว่าปัจจุบันสินค้าและบริการเหล่านี้จะยังมีไม่มากหรือยังไม่สะดวกสบายเท่าที่ควร และ Growth ร่วมสนับสนุนสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมซึ่งจะเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ธุรกิจเหล่านี้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต
ที่มา:
- www.weforum.org/reports/the-travel-tourism-competitiveness-report-2019
- https://greendestinations.org/about/destinations/top100-collection
- www.nxpo.or.th/th/bcg-economy