อนาคตลอยอยู่บนน้ำ

พรรณรศา ธีระวงศ์สกุล

 

  • ปี 2050 กว่า 90% ของเมืองหลักแถบชายฝั่งทั่วโลกอาจต้องเผชิญกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น จากผลกระทบของโลกร้อนจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้
  • หลายประเทศต่างหาวิธีรับมือกับปัญหาเหล่านี้ และ‘เมืองลอยน้ำ’ คือหนึ่งในทางรอดใหม่ของมนุษยชาติที่มาพร้อมเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นมิตรกับโลก

 

เผลอไม่นานก็จะหมดปีอีกแล้ว สถานการณ์ COVID-19 ยังไม่คลี่คลาย ข่าวภัยพิบัติมากมายทั่วโลกที่มีมาอย่างไม่ขาดสาย ทำให้ตระหนักได้ว่า อีกหนึ่งปัญหาที่หนักหนาไม่แพ้กันก็คือเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่นับวันยิ่งหนักข้อขึ้นทุกมุมโลก 

 

ไม่ว่าจะบนภูเขาที่สูงที่สุด ขั้วโลกเหนือใต้ ไปถึงก้นมหาสมุทร น้ำท่วมหนักในจีนที่ว่ากันว่าหนักที่สุดในรอบพันปี อุทกภัยขนาดใหญ่เป็นประวัติการณ์ในยุโรป ไฟไหม้ครั้งใหญ่ที่สหรัฐฯ น้ำแข็งขั้วโลกที่ละลายแล้วละลายอีก แผ่นดินไหวอลาสก้า พายุระดับซุปเปอร์สตอร์ม หรือระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นพร้อมกันในครึ่งปีหลังโดยมิได้นัดหมาย

 

คำเตือนเกี่ยวกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างสุดขั้วซึ่งเป็นอันตรายร้ายแรงต่อมนุษยชาติถูกบอกกล่าวออกมาเรื่อย ๆ “หากโลกเราร้อนทะลุเพดาน 1.5 องศาเซลเซียส ในอีก 20 ปีข้างหน้า จะไม่มีทางแก้ไขอะไรได้อีก” แต่ดูเหมือนกับว่าทุกอย่างกำลังสายเกินแก้เพราะกว่าจะคิดได้ว่าสิ่งที่ทำไว้มาตลอดรุนแรงขนาดไหน ผลกระทบก็มากองอยู่ตรงหน้าเราซะแล้ว 

 

จนถึงตอนนี้ หนึ่งในเรื่องราวของภาวะโลกร้อนที่มีการพูดกันอย่างแพร่หลายนั่นคือระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินการเล่าข่าวเกี่ยวกับเมืองสำคัญ ๆ ที่เกิดน้ำท่วมบ่อยขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่เมืองท่องเที่ยวอย่างดูไบ มัลดีฟส์ และเวนิสในประเทศอิตาลี ซึ่งล้วนได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่แปรปรวนในลักษณะใกล้เคียงกัน 

 

จะว่าไปแล้ว มนุษย์ก็ไม่ยอมแพ้เหมือนกัน กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ สถาปนิก วิศวกรต่างก็ไม่หยุดพัฒนาและคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ขับเคลื่อนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเสียหายของชีวิตและทรัพย์สินให้กับมนุษยชาติ โดยหนึ่งในนั้นก็คือไอเดียการย้ายไปอยู่อาศัยบนเกาะลอยน้ำซึ่งพัฒนาขึ้นมาได้อย่างน่าสนใจ

 

Our Climate is Our ‘Future’

 

คาดการณ์กันว่า ในปี 2050 ประชากรโลกกว่า 800 ล้านคน จาก 570 เมืองทั่วโลก อาจต้องย้ายที่อยู่เพราะผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2100 ระดับน้ำทะเลอาจสูงกว่าในปัจจุบันถึง 2 เมตร สิ่งนี้จะส่งผลให้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองติดทะเลทั่วโลกราว 40% ต้องย้ายที่อยู่ ไม่ว่าจะเป็นมุมไบ โตเกียว บังกลาเทศ นิวยอร์ก ไมอามี กว่างโจว และกรุงเทพมหานครก็คือหนึ่งในนั้น 

 

แทนที่จะย้ายคนจำนวนมหาศาล ทำไมเราถึงไม่ย้ายเมืองแทนล่ะ

 

ไอเดียของเมืองลอยน้ำเกิดขึ้นโดยบริษัทสถาปัตยกรรมระดับโลกอย่าง BIG หรือ Bjarke Ingels Group แม้ไอเดียนี้จะดูเป็นเรื่องแฟนตาซีอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าหากลองดูประเด็นตามที่ Bjarke Ingels สถาปนิกผู้เป็นมันสมองแห่ง BIG และหนึ่งในสถาปนิกรุ่นใหม่ที่น่าจับตามองมากที่สุดในโลกในด้านสถาปัตยกรรมเกี่ยวกับความยั่งยืน เคยกล่าวไว้ใน TED Talk เมื่อปี 2019 ว่า 

 

“ในปี 2050 กว่า 90% ของเมืองหลักแถบชายฝั่งทั่วโลกจะเผชิญกับระดับน้ำทะเล

ที่สูงขึ้นจากผลกระทบของโลกร้อนจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้”

 

แล้วถ้าเป็นแบบนั้นจริง ๆ จะเกิดอะไรขึ้น?

 

หากเป็นไปตามที่คาดการณ์ ปี 2050 เมืองหลัก ๆ ทั่วโลกก็เสี่ยงต่อการถูก ‘กลืน’ ลงทะเลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เหล่านี้เป็นแรงกดดันให้เมืองใหญ่อย่างมหานครเซี่ยงไฮ้ของประเทศจีน หันมาจริงจังกับปัญหานี้

หลังจากพบว่า เซี่ยงไฮ้ อาจต้องเผชิญกับปัญหาน้ำทะเลที่สูงขึ้นกว่า 2 ฟุตทำให้ผู้บริหารประเทศตัดสินใจสร้างแนวกำแพงกั้นน้ำบริเวณอ่าวหางโจวซึ่งมีความยาวกว่า 520 กิโลเมตร เช่นเดียวกับตัวอาคารในเมือง Hafen ในนครฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมนี ที่มีโครงสร้างพิเศษในการป้องกันน้ำท่วมโดยเฉพาะ โดยประตูกั้นน้ำในชั้นแรกของอาคารจะปิดทันทีเมื่อเกิดน้ำท่วม 

 

นอกจากนี้ ข้อมูลของ The Center for Climate Integrity เปิดเผยว่างบประมาณที่สหรัฐฯ ต้องสูญเสียไปเพื่อป้องกันพื้นที่แถบชายฝั่งจากการถูกน้ำท่วมอาจสูงถึง 400 พันล้านเหรียญ (ราว 13.4 ล้านล้านบาท) ภายในปี 2040 ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่น่ากังวลไม่น้อย มาสเตอร์แพลนของ ‘Oceanix City’ จึงเกิดขึ้นจากสถาปนิกผู้มองการณ์ไกลอย่าง Bjarke Ingels และการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ (UN) จะดีแค่ไหนหาก Oceanix ช่วยให้รอดตายจากน้ำท่วมแล้ว ยังมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เป็นมิตรกับโลกอย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นน่าสนใจชวนให้ติดตาม

ยั่งยืนทั้งที่อยู่อาศัยและการใช้ชีวิต

 

ระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานใน Oceanix ถูกวางแผนไว้ให้เกิดจากพลังงานที่สะอาดและราคาไม่แพงเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้ ถ้าไม่นับพลังงานจากกังหันลมและโซลาร์เซลล์แล้ว มหาสมุทรคือแหล่งพลังงานขนาดใหญ่ของเมืองนี้ ด้วยเทคโนโลยีใหม่ที่น่าสนใจอย่าง Ocean Thermal Energy Conversion (OTEC) หรือการแปลงพลังงานความร้อนจากน้ำในมหาสมุทร ซึ่งถูกหยิบมาเป็นหนึ่งนวัตกรรมหลักที่เมืองนี้จะใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า 

หลักการของ OTEC อาศัยความแตกต่างของอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทร และใช้แอมโมเนียมาช่วยเปลี่ยนน้ำจากส่วนผิวทะเลซึ่งมีอุณหภูมิสูงให้ระเหยกลายเป็นไอ จนขยายตัวไปหมุนกังหันที่ต่อกับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ในทางกลับกัน น้ำเย็นจากใต้มหาสมุทรที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าจะไหลมาบรรจบกันอีกฝั่งเพื่อทำหน้าที่เปลี่ยนไอน้ำให้กลับเป็นของเหลวอีกครั้ง โดยการไหลเวียนของน้ำแบบนี้จะช่วยให้เมืองผลิตไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงตลอดทั้งปี และพลังงานสะอาดดังกล่าวจะถูกส่งไปหล่อเลี้ยงแปลงพืชผักสวนครัว บ่อเลี้ยงปลา และที่พักอาศัย 

ในขณะเดียวกัน ระบบกลั่นน้ำทะเลให้เป็นน้ำจืดก็จะทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำอุ่นจากผิวทะเลให้กลายเป็นไอในสภาพเกือบเป็นสูญญากาศ ไอน้ำที่ขยายตัวขึ้นจะเป็นตัวขับกังหันความดันต่ำที่ต่อเข้ากับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า และไอน้ำที่เกิดจากการกลั่นตัวซึ่งไม่มีส่วนผสมของเกลืออยู่เลยก็ทำให้สามารถนำไปใช้ดื่ม กิน หรือใช้ในการชลประทานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

 

‘คลื่น’ อุปสรรคสำคัญ

 

แทนที่จะเอาดินไปถมแล้วสร้างเกาะใหญ่ ๆ ขึ้นมา Oceanix คือนวัตกรรมที่อยู่อาศัยขนาดย่อมที่ยืดหยุ่นได้ตามคลื่นในทะเล สามารถเชื่อมต่อกันกลายเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ จึงทานแรงเสียดทานจากคลื่นในมหาสมุทรได้อย่างดี มิหนำซ้ำ ยังสามารถป้องกันพายุเฮอริเคนและสึนามิได้อีกด้วย

 

Oceanix คือ แพหกเหลี่ยมขนาดพื้นที่ราว ๆ 3.5 เท่าของสนามฟุตบอล หลาย ๆ แพที่ประกอบเข้าด้วยกัน โดยแต่ละแพสามารถจุคนได้ราว 300 คน เชื่อมกันในลักษณะ Modular ซึ่งสามารถขยายต่อกันได้ และอีกไม่นานเราน่าจะได้เห็นการเกิดขึ้นของเมืองลอยน้ำในขั้นแรกบริเวณ  Pearl River Delta ในมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน โดย Oceanix จะมีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับการบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และอื่น ๆ อาคารทุกหลังถูกออกแบบมาให้สร้างขึ้นจากไม้ไผ่หรือไม้ธรรมชาติ และเป็นอาคารที่ไม่สูงมากเกิน 7 ชั้น เพื่อไม่ให้ต้านลม หลังจากนั้น จะขยายพื้นที่ออกไปเรื่อย ๆ ลักษณะคล้ายหมู่เกาะจนสามารถรองรับผู้อยู่อาศัยได้จำนวน 10,800 คน 

เมืองลอยน้ำแห่งนี้จะเชื่อมต่อกับพื้นที่ Mainland ด้วยพื้นที่ส่วนที่สร้างขึ้นมาเฉพาะแบบ Customise ในแต่ละจุดเชื่อมต่อ ไม่ว่าจะเป็นมุมพักผ่อนสวนสาธารณะ หรือท่าจอดเรือ นอกจากนี้ สถาปนิกยังออกแบบพื้นที่สำหรับฟังก์ชันเฉพาะที่สำคัญต่าง ๆ อย่างแผงโซลาร์เซลล์ และพื้นที่เพาะปลูก

 

นวัตกรรมรักษ์โลกที่สัตว์โลกหลงรัก

 

อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจใน Oceanix คือการใช้ Biorock หรือสารคล้ายซีเมนต์ เพราะนอกจากจะทำหน้าที่เป็นสมอยึดแพไว้กับกับพื้นใต้ทะเลที่ลึกลงไปนับไมล์ให้มั่นคงแข็งแกร่งแล้ว ก็ยังมีข้อได้เปรียบด้านการผลิต ประจุเคมีไฟฟ้าใต้ทะเลที่เป็นพลังงานหมุนเวียนได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น Biorock ยังทำหน้าที่เป็นแนวปะการังเทียม ซึ่งจะเป็นแหล่งอาหารและบ้านให้กับบรรดาสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล 

 

Zero Waste System

 

Oceanix ถูกออกแบบมาให้อยู่ได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องพึ่งพาพลังงานจากทาง Mainland เลยก็ว่าได้ ทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองล้วนออกแบบมาเพื่อให้เกิดของเสียน้อยที่สุดและให้หมุนเวียนนำมาใช้ใหม่ เรียกได้ว่ามีรายละเอียดและมีการวางแผนการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่ามากที่สุด  

 

น้ำ – มีระบบการกักเก็บน้ำฝนลงในแท็งก์น้ำขนาดใหญ่ที่เชื่อมเข้ากับเครื่องกำเนิดกระแสไฟฟ้า นอกจากนั้นแล้ว ยังมีช่องทางการผลิตน้ำเพื่อใช้ดื่มด้วยแผงพลังงานเอนกประสงค์ Hydropanel แบบพิเศษที่กักเก็บน้ำจากความชื้นในอากาศ ซึ่งคิดค้นโดย Zero Mass สตาร์ตอัป สายกรีน อุปกรณ์ดังกล่าวจะแปลงความชื้นในอากาศให้กลายเป็นน้ำบริสุทธิ์ได้มากถึง 5 ลิตรต่อวัน นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ว่าปริมาณการใช้น้ำของผู้อยู่อาศัย ใน Oceanix จะน้อยกว่าการใช้น้ำเฉลี่ยของประชากรในคองโกกว่าครึ่งหนึ่ง โดยอาศัยการบำบัดน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ 

อาหาร – ประชากรใน Oceanix จะบริโภคอาหารที่มีปลาเป็นวัตถุดิบหลัก (Pescetarian Diet) โดยจะมีการจัดสรรพื้นที่ขนาดกว่า 32,000 ตารางฟุตในแต่ละเกาะเพื่อการเพาะปลูกพืชโดยธรรมชาติ 100% ประกอบไปด้วย พื้นที่หลัก 5 ส่วน ได้แก่ สวนสาธารณะส่วนกลาง พื้นที่เพาะปลูกในรูปแบบ Greenhouse การปลูกพืชควบคู่กับเลี้ยงปลา (Aquaponics) การปลูกพืชผักแบบไม่ใช้ดิน (Aeroponic) และ 3D Ocean Farming 

การบำบัดของเสีย – Anaerobic Digester หรือการจัดการของเสียโดยไม่ใช้ออกซิเจน โดยจะเปลี่ยนขยะมูลฝอยจากอินทรีย์ให้เป็นก๊าซชีวภาพสำหรับนำไปเปลี่ยนเป็นพลังงาน 

การเดินทาง – Oceanix ถูกออกแบบมาให้ทุกที่เดินเชื่อมถึงกันได้กว่า 60% เพราะการวางผังเมืองที่เอื้อต่อการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็นการเดินเท้าปั่นจักรยาน การใช้เรือ Hydrofoil Taxi หรือขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น ๆ ที่สร้างภาระให้กับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ทั้งหมดนี้จะช่วยให้ระบบขนส่งมวลชนในเมืองนี้เป็นไปอย่างยั่งยืน ซึ่งทำให้ผู้ที่อาศัยในเมืองมีจิตใจที่แจ่มใสและยังมีสุขภาพที่ดีด้วย

 

ไม่ว่า Oceanix จะกลายเป็นจริงในอนาคตอันใกล้หรือไม่ แต่ก็ได้ใจใครหลายคนไปเรียบร้อยแล้ว มีหลายหน่วยงานยกเครติดให้กับ Oceanix ในฐานะต้นแบบทางความคิดและแรงบันดาลใจ โดยเฉพาะ Seasteading 

Institute ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรจากแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ได้หยิบยกเอาแนวคิดเมืองลอยน้ำมาพัฒนา Seapod ซึ่งผ่านขั้นตอนการสร้าง Prototype ในประเทศปานามาไปแล้วเมื่อไม่นานมานี้ มากกว่าการเป็นที่อยู่อาศัย Seapod ยังถูกคาดหวังให้เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ทั้งการท่องเที่ยวทางทะเล และการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจที่น่าจะเกิดขึ้นได้จริงในอนาคตอันใกล้

นอกจากนี้ ยังมี Pod ลอยน้ำเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมขนาด 560 ตารางฟุตสามารถพาเราไปได้ทุกที่ทั่วโลกไม่ต่างกับเรือลำโต ๆ ด้วยราคา 336 เหรียญสหรัฐ (ราว 12,000 บาท) ต่อคืน หรือหากย้อนไปในปี 2016 เราได้เห็นบ้านลอยน้ำที่ทำจากตู้คอนเทนเนอร์ 9 ตู้ มาเรียงต่อกัน ใน Copenhagen เพื่อให้นักศึกษา 12 คน อยู่อาศัยในราคาย่อมเยา มีระบบสร้างความอบอุ่นจากความร้อนในทะเลที่เกิดจากพลังงานโซลาร์ได้อย่างเหมาะสมเต็มประสิทธิภาพ

 

ฝากอนาคตไว้บน ‘น้ำ’

 

ร่างกายของเราประกอบด้วยน้ำมากถึง 70% ไม่ต่างกับโลกใบนี้ที่มีน้ำปกคลุมมากถึง 3 ใน 4 และแน่นอนว่าน้ำบนโลกกำลังมีมากขึ้นเรื่อย ๆ หากวันนี้ เราไม่ปรับตัว หรือไม่คิดทำอะไรเลย ก็ไม่รู้ว่าปีหน้าที่กำลังจะมาถึง

จะมีอีกกี่พื้นที่ อีกกี่เกาะจะจมหายไป 

หากจะพูดว่าการ ‘เปลี่ยนแปลง’ เป็นสิ่งที่จีรังยั่งยืนที่สุดอย่างหนึ่งบนโลกก็คงไม่แปลกนัก เพราะเราเห็นแล้วว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เทคโนโลยี ผู้คน สภาพภูมิอากาศล้วนกำลัง ‘เปลี่ยนแปลง’ แทบทั้งสิ้น และไม่ว่าโลกจะเจออีกกี่ปัญหาที่สาหัสและท้าทายสักเพียงไหน มนุษย์เราก็มีความสามารถในการปรับตัวและนี่คือ ‘ซุปเปอร์ พาวเวอร์’ ของชาวโฮโมเซเปียนส์ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลกใบนี้ 

 

จริง ๆ แล้วความท้าทายที่ว่าอาจไม่ได้อยู่ที่การคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่มาต่อกรกับภัยพิบัติ แต่แท้จริงแล้วนั่นคือการสร้างสำนึกรับผิดชอบต่อธรรมชาติให้กับมนุษย์เรานี่เองซะมากกว่า 

 

ที่มา:

  • https://oceanixcity.com/
  • http://www.dpm.nida.ac.th/main/index.php/articles/flood/item/213- 213-เทคโนโลยีบ้านลอยน้ำแนวคิดบ้านสู้ภัยน้ำท่วม
  • https://www.weforum.org/agenda/2021/05/maldives-floating-city-climate-change/
  • https://www.youtube.com/watch?v=ieSV8-isy3M&t=93s
  • https://www.youtube.com/watch?v=lt-lAFGJ_3o&t=55s
  • https://www.insider.com/un-floating-city-housing-hurricanes-2019-4
  • https://www.kobkid.com/เรื่องน่ารู้

Share This Story !

3.5 min read,Views: 3367,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 4, 2024