วัคซีน

พัชรวรรณ วรพล

 

  • องค์การอนามัยโลก (WHO) และพันธมิตร จัดตั้งโครงการ Covax เพื่อการเข้าถึงวัคซีนโรค COVID-19 ระดับโลกอย่างเท่าเทียม ในการได้รับวัคซีนกันอย่างทั่วถึง พร้อมแจกจ่ายให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำจนถึงปานกลาง
  • ประเทศไทยนั้นไม่ได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ แต่ใช้วิธีสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค รวมถึงทั้งซื้อและนำเทคโนโลยีของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกามาพัฒนาต่อยอดโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์

 

ภายหลังจากที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงว่าไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ได้เข้าสู่ภาวะแพร่ระบาดไปทั่วโลกในวันที่ 11 มีนาคม 2563 ทำให้คนทั่วโลกต้องตื่นตัวหันมาดูแลสุขภาพตนเองและคนรอบข้างมากขึ้น 

 

จนผ่านมาทุกวันนี้ COVID-19 ก็ยังสร้างหายนะต่อเศรษฐกิจและสังคมเกินกว่าจะประเมินค่าได้และยังคงพบจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลาย ๆ ประเทศ ทำให้นานาชาติต่างพยายามค้นคว้าพัฒนาวัคซีนเพื่อยับยั้งไวรัสโคโรนาให้เร็วที่สุด 

 

คำว่า วัคซีน

 

แม้คนจะรู้จักการนำเชื้อโรคมาใช้กันเป็นพันปีแล้วก็ตาม แต่ในทางวิทยาศาสตร์นั้น มนุษย์เพิ่งจะเริ่มศึกษามันในช่วงร้อยปีที่ผ่านมานี้เอง คำว่า Vaccine มาจากคำว่า Vacca ในภาษาละตินที่แปลว่า ‘วัว’ และคำว่า Vaccination (การฉีดวัคซีน) มาจากคำว่า Vaccinus ที่แปลว่า ‘มาจากวัว’ ซึ่งผู้ที่คิดคำนี้ขึ้นมา คือ ดร.เอ็ดเวิร์ด เจนเนอร์ (Edward Jenner) แพทย์ชาวอังกฤษ โดยในปี พ.ศ. 2331 มีการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Small Pox) ซึ่งคร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมาก เขาจึงได้ทดลองนำหนองโรคฝีดาษจากวัวไปทดลองฉีดในมนุษย์และประสบความสำเร็จ ในที่สุดภายหลังจากที่ต้องทดลองอยู่หลายครั้งจนมั่นใจว่าวัคซีนนี้ปลอดภัยและป้องกันโรคไข้ทรพิษได้

 

 

ในประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2381 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เนื่องจากโรคไข้ทรพิษระบาด ทำให้นายแพทย์บรัดเลย์ (Dr. Dan Beach Bradley) มิชชันนารีชาวอเมริกัน 

ได้ร่วมมือกับหมอหลวงนำหนองฝีจากผู้ป่วยมาปลูกให้คนปกติ เพื่อป้องกันโรคจนเป็นผลสำเร็จ ต่อมาในปี พ.ศ. 2383 มีการสั่งนำเข้าหนองฝีป้องกันไข้ทรพิษมาจากสหรัฐอเมริกา เพื่อฉีดให้ประชาชน จนผ่านมาในปี 

พ.ศ. 2456 รัฐบาลไทยออกกฏหมายบังคับให้ทุกคนต้องปลูกฝีป้องกันโรคไข้ทรพิษ โดยในช่วงเวลาเดียวกันก็ได้จัดตั้งสถานที่เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำขึ้นเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เรียกว่า “ปาสตุระสภา” ต่อมาได้มีการจัดหาสถานที่และสร้างที่ทำการใหม่โดยมีสภากาชาดไทยเป็น ผู้ดูแล เรียกว่า “สถานเสาวภา” ที่เรารู้จักกันดี และได้กลายเป็นศูนย์กลางของวัคซีนป้องกันโรคในประเทศไทยมาจนถึงปัจจุบัน 

 

การผลิตวัคซีนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องผ่านการศึกษา ค้นคว้า ทดลอง ทดสอบ เป็นเวลาหลายปี  แต่สำหรับ COVID-19 ความเร็วในการพยายามผลิตวัคซีนถือว่าพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว เพราะวัคซีนอื่น ๆ อย่างเช่นวัคซีนป้องกันโรคหัดใช้เวลา 10 ปีในการค้นพบวัคซีนตัวแรก ส่วนโรคไทฟอยด์กลับใช้เวลานานนับศตวรรษ แต่กับ COVID-19 ที่เริ่มระบาดได้ไม่ถึงปีนั้น ทีมวิจัยในหลาย ๆ ประเทศต่างเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อนำไปฉีดให้ผู้คนโดยเร็วที่สุด แต่จะทำอย่างไรให้ทุกประเทศได้รับวัคซีนอย่างเท่าเทียม ไม่ใช่เฉพาะประเทศที่ร่ำรวยเท่านั้นที่จะได้วัคซีนไป 

 

WHO และ Covax

 

เพื่อความเท่าเทียมในการได้รับวัคซีนกันอย่างทั่วถึง องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้จัดตั้งโครงการ โคแวกซ์ หรือ Covax ซึ่งย่อมาจาก COVID-19 Vaccines Global Access Facility หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีน

COVID-19 ระดับโลก โดยมีองค์กรพันธมิตรอย่าง องค์กรกาวี (Gavi, The Vaccine Alliance) และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Coalition for Epidemic Preparedness Innovation: CEPI) รวมถึงอีกหลาย ๆ ประเทศที่ร่วมบริจาคเงินเข้ากองทุน โดยมีเป้าหมาย คือจัดหาและแจกจ่ายวัคซีนให้ถึง 2,000 ล้านโดสภายในปลายปี 2021 จากการสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทต่าง ๆ และแจกจ่ายให้ประเทศที่มีรายได้ต่ำจนถึงปานกลาง แต่ต้องเป็นประเทศที่เข้าร่วมกับโครงการโคแวกซ์เท่านั้น โดยจะจัดสรรวัคซีนตามสัดส่วนจำนวนประชากร เช่น ประเทศที่มีประชากรหนาแน่นอย่างประเทศอินเดีย ได้รับ 97.2 ล้านโดส ฟิลิปปินส์ ได้รับ 5.6 ล้านโดส 

 

นอกจากนี้ บริษัทหลายแห่งยังคงเร่งพัฒนาและทดลองวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เพราะไวรัสนั้นสามารถกลายพันธุ์ได้ตลอดเวลา 

 

เลือกชอป ฉีด วัคซีน ตัวไหนดี ?

 

โดยทั่วไป วัคซีนแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ 

  1. วัคซีนเชื้อตาย (Killed Vaccine) ผลิตขึ้นโดยใช้เชื้อโรคที่ตายแล้วหรือเฉพาะบางส่วนของเชื้อโรค 

 

  1. วัคซีนเชื้อมีชีวิตแต่อ่อนฤทธิ์ (Live Attenuated Vaccine) ผลิตขึ้นโดยการทำให้เชื้อโรคอ่อนฤทธิ์ลงจนไม่สามารถทำให้เกิดโรคแต่ว่าเพียงพอที่จะกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ 

 

  1. วัคซีนประเภทท็อกซอยด์ (Toxoid) หมายถึงวัคซีนที่ผลิตโดยการนำพิษของแบคทีเรียมาทำให้หมดฤทธิ์แต่ยังสามารถกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันโรคได้ 

 

 

 

หลายประเทศ หลายบริษัทที่พยายามนำนวัตกรรมมาผลิตวัคซีนให้เร็วที่สุด แต่มีวัคซีนเพียงไม่กี่ตัวที่ผ่านการรับรองให้สามารถนำไปฉีดแก่มนุษย์ได้ อีกทั้งประสิทธิผล ราคา การจัดเก็บ ยังเป็นส่วนประกอบสำคัญในการตัดสินใจนำมาใช้อยู่มิใช่น้อย

 

สำหรับประเทศไทยนั้นไม่ได้เข้าร่วมโครงการโคแวกซ์ แต่ใช้วิธีสั่งซื้อวัคซีนจากบริษัทซิโนแวค รวมถึงทั้งซื้อและนำเทคโนโลยีของอ็อกซ์ฟอร์ด-แอสตราเซเนกา มาพัฒนาต่อยอดโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทยเองนั้นก็มีสถาบันวัคซีนแห่งชาติ และศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางการวิจัยและพัฒนา

วัคซีนแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ในกระบวนการผลิตวัคซีนนั้น มีขั้นตอนและกรรมวิธีที่ซับซ้อน ใช้เวลานาน มีค่าใช้จ่ายสูงหลายล้านบาท อีกทั้งต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการคิดค้นและทดลอง การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนจึงเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันการใช้นวัตกรรมของไทยในการพัฒนาและผลิตวัคซีน

 

ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ประเทศไทยได้รับวัคซีนลอตแรกจากทั้งซิโนแวคและแอสตราเซเนกา เข้าสู่คลังเก็บที่ควบคุมอุณหภูมิมาตรฐาน และภายหลังจากที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจสอบคุณภาพเรียบร้อยแล้วก็จะนำส่งไปยังโรงพยาบาลเพื่อฉีดให้กลุ่มเป้าหมายแรกในพื้นที่ควบคุม พื้นที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม จากนั้นจะดำเนินการฉีดให้กับทุกคนตามความสมัครใจ

 

 

วัคซีน COVID-19 ของแอสตราเซเนกา (AstraZeneca Covid Vaccine) หรือชื่อตามที่บริษัทผู้ผลิตเรียกคือ ChAdOx1 nCoV-19 (AZD1222) โดยบริษัทแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ร่วมกับมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) จากการนำเชื้อไวรัสอดิโน (Adenovirus) ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เป็นหวัดในชิมแปนซี มาดัดแปลงพันธุกรรม โดยที่เชื้อไวรัสนี้จะไม่สามารถเติบโตในมนุษย์ วัคซีนที่ได้จะถูกนำไปฉีดให้คนไข้ จนเซลล์ในร่างกายสร้างโปรตีนไวรัสโคโรนาขึ้นมาเป็นการกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันสร้างแอนติบอดีเพื่อทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ ผลจากการทดสอบวัคซีนนี้กับอาสาสมัครกว่า 23,000 ราย พบว่ามีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสโคโรนา และยังไม่พบปัญหาด้านความปลอดภัยที่น่ากังวลมากนัก โดยวัคซีนนี้ควรฉีดทั้งหมด 2 เข็ม และควรห่างกัน 1-3 เดือน ผู้ที่ควรระวังคือผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนชนิดอื่นมาก่อน มีไข้สูง ผู้ที่เป็นโรคเลือด และผู้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน ส่วนผลข้างเคียงที่พบคือมักมีอาการเจ็บ บวมบริเวณที่ฉีด มีไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ หรืออาการอื่น ๆ ที่อาจมีโอกาสเกิดขึ้น เช่น เบื่ออาหาร มีผื่นขึ้น 

 

สำหรับวัคซีน โคโรนาแวค (CoronaVac) จากซิโนแวค (Sinovac) บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายยารายใหญ่จากประเทศจีนนั้นใช้เป็นวัคซีนเชื้อตาย โดยวัคซีนตัวนี้ทำงานโดยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันร่างกายมนุษย์ให้สร้างแอนติบอดีเพื่อต่อต้านเชื้อโรค โดยแอนติบอดีจะยึดติดกับโปรตีนบางส่วนของไวรัสไม่ให้เข้าสู่เซลล์ร่างกาย จากผลการศึกษากับคนในประเทศบราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย และชิลี พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันการเกิด COVID-19 แต่กำหนดให้ฉีดในคนอายุ 18-59 ปี จำนวนทั้งหมด 2 เข็ม โดยควรฉีดห่างกัน 2 สัปดาห์ โดยห้ามฉีดในผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่ให้นมบุตร และผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ทั้งนี้ การฉีดวัคซีนทั้งสองเข็มควรเป็นยี่ห้อเดียวกันและควรปรึกษาแพทย์ก่อนจะฉีดวัคซีน

 

เมื่อมีวัคซีนที่เป็นความหวังของมนุษยชาติที่อยากจะมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่ผลของวัคซีนนั้นยังไม่สามารถบอกได้เลยว่าจะป้องกันได้มากน้อยแค่ไหน จึงยังคงต้องอาศัยระยะเวลา แต่ในโอกาสอันน้อยนิดนี้

ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างมีความหวังที่วัคซีนเหล่านี้จะนำมาซึ่งจุดเริ่มต้นของการเดินทางท่องเที่ยวอีกครั้ง จนหลาย ๆ ประเทศนึกถึง พาสปอร์ตวัคซีน (Vaccine Passport)

 

พาสปอร์ตวัคซีน (Vaccine Passport) ปลอดภัยแค่ไหน

 

พาสปอร์ตวัคซีน เป็นความหวังหนึ่งที่จะบุกเบิกให้ธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลายคนฝันถึงวันได้ออกไปท่องโลกโดยมีพาสปอร์ตที่ต้องพกติดตัวตามปกติและอาจต้องพก “พาสปอร์ตวัคซีน” เพื่อยืนยัน

ว่าได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 แล้ว โดยหลาย ๆ ประเทศเปิดโอกาสให้ผู้ที่ฉีดวัคซีนสามารถเดินทางท่องเที่ยว เข้าถึงโอกาสในการทำงานข้ามประเทศได้โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน ซึ่งเงื่อนไขนี้กลายเป็นอุปสรรคใหญ่เพราะหลายประเทศใช้มาตรการนี้ในการคัดกรองคนเข้าประเทศ โดยเฉพาะจากตลาดระยะใกล้ (Short Haul) ที่เน้นพำนักระยะสั้น ที่ไม่อาจเดินทางได้เลยหากยังมีข้อบังคับนี้

 

สหภาพยุโรป (อียู: EU) ที่มีประเทศกรีซ ประกาศเปิดประเทศพร้อมแผน “Safe Travel” เพื่อรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งและชักชวนประเทศในกลุ่มอียูจัดทำ “แผนแม่บทพาสปอร์ตวัคซีน” ร่วมกัน ซึ่งหลาย ๆ ประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่างก็พร้อมจะทำตามด้วยการพยายามผลักดันการออกพาสปอร์ตวัคซีนให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก การสร้างแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลการฉีดวัคซีนและสุขภาพของผู้เดินทางเพื่อให้ง่ายต่อการตรวจสอบได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เช่น IATA Travel Pass ที่มีสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หรือ ไออาต้า (The International Air Transport Association: IATA) ที่ต้องการฟื้นฟู

ธุรกิจสายการบิน เป็นแกนนำในการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาพร้อมทดลองสร้างดิจิทัลพาสปอร์ต เช่นเดียวกับบริษัทไมโครซอฟท์ซึ่งร่วมมือกับบริษัทออราเคิล ที่กำลังพัฒนาเอกสารรับรองดิจิทัลแก่ผู้ที่เดินทางว่ามีผลตรวจ COVID-19 เพื่อลดขั้นตอนการเตรียมเอกสารที่ยุ่งยากออกไป 

 

เนื่องจากหลักฐานข้อมูลต่าง ๆ ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่า วัคซีนมีประสิทธิภาพแค่ไหน ถึงแม้คุณจะมีพาสปอร์ตวัคซีนที่แสดงประวัติให้เห็นว่าคุณได้รับการฉีดวัคซีนแล้วก็ตาม แต่ไม่อาจรับประกันได้เลย

ว่าคุณจะเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม การนำวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้ในประเทศไทยนับว่าเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับสถานการณ์เป็นแนวคิดที่น่าสนใจและนำมาเป็นข้อกำหนดสำหรับการเดินทาง

ท่องเที่ยวแต่อาจต้องมีกฎกติกา และหลักเกณฑ์ให้สอดคล้องกับสภาวะของประเทศและในระดับสากล อีกทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยที่อาจต้องร่วมมือกันพัฒนาเทคโนโลยีสร้างแอปพลิเคชันเพื่อรองรับ เพราะพาสปอร์ตวัคซีนอาจเป็นสิ่งจำเป็นต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในอนาคตระยะยาว

 

ที่มา :

  • https://www.bbc.com/thai/international-56060990
  • https://www.nonthavej.co.th/Truth-to-Know-COVID-19.php
  • https://www.thaitravelclinic.com/th/Knowledge/recommended-vaccine-for-thai-travelers.html
  • https://www.euronews.com/travel/2020/12/11/do-we-need-coronavirus-vaccine-passports-to-get-the-world-moving-again-euronews
  • https://www.politico.eu/article/greece-agrees-coronavirus-vaccine-passport-deal-with-israel-as-trial-run/
  • https://www.iata.org/en/programs/passenger/travel-pass/
  • https://www.astrazeneca.com/media-centre/press-releases/2020/azd1222hlr.html
  • https://www.hfocus.org/content/2015/01/8997
  • https://www.who.int/thailand/news/feature-stories/detail/team-thailand-for-covid-9-vaccine-THA
  • https://www.pptvhd36.com/news
  • https://www.nytimes.com/2020/11/24/health/astrazeneca-covid-vaccine.html
  • https://thestandard.co/efficacy-results-of-sinovacs-covid-19-vaccine
  • https://www.prachachat.net/general/news-602155
  • https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/69165/
  • https://ourworldindata.org/covid-vaccinations
  • http://www.prema.or.th/site/th/

Share This Story !

4.5 min read,Views: 909,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 4, 2024