ปัจจุบันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ปฐวี ธุระพันธ์

 

  • ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่นกำลังทำทุกอย่างเพื่อให้โอลิมปิก 2020 เกิดขึ้น และนี่อาจจะเป็นโอลิมปิกในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกใบนี้
  • ญี่ปุ่นจะใช้มาตรการการตรวจโรคนักกีฬาอย่างรัดกุม ตั้งแต่การตรวจเชื้อ การใช้ COCOA Application เพื่อติดตามและรายงานผลสุขภาพของนักกีฬาตลอดที่เข้าร่วมการแข่งขัน ตลอดจนมาตรการต่าง ๆ อีกมากมาย

 

พูดได้เต็มปากว่าปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นปีที่เป็นไปอย่างที่เราคาดหวังเอาไว้

 

และก็น่าจะพูดได้อีกว่าปีที่กำลังเกิดขึ้นตรงหน้าก็ยากที่จะคาดเดาว่าทิศทางของมันจะเดินหน้าหันไปทางไหนด้วยเช่นกัน

 

ทุกครั้งที่เจอความมืดมนข้างหน้า ทุกครั้งที่รู้สึกว่าเดินต่อไปไม่ไหว มันก็มีบางห้วงของความคิดที่อยากย้อนเวลากลับไปถึงวันเก่า ๆ วันที่เราสามารถคาดการณ์กับชีวิตในสถานะปกติ วันที่เราสามารถทำในสิ่งที่ตอนนั้นเป็นเรื่องปกติมากกว่าทุกวันนี้ได้ แต่เป็นการย้อนกลับไปแค่ความคิด ว่าถ้าเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างได้ในตอนนั้น ณ เวลานี้ เราน่าจะมีชีวิตอยู่ในอีกแบบที่กำลังพบเจอ 

 

มองอีกมุมหนึ่ง การที่ได้ย้อนกลับไปในอดีต แต่สวมมุมมองในปัจจุบัน เรื่องราวที่ปกติธรรมดาในวันนั้น อาจเป็นเรื่องที่เรารู้สึกว่ามันเกิดขึ้นได้ยากในตอนนี้ 

 

ผมไปเจอโฆษณาตัวหนึ่งของ KFC ที่ชื่อว่า Finger Lickin’ Good ว่าด้วยความเอร็ดอร่อยของไก่ทอดที่พอทุกคนกินแล้วต้องเผลอเลียนิ้วมือทุกนิ้วเพื่อเก็บเกี่ยวความอร่อยเหล่านั้นเอาไว้ ภาพและเสียงเปียโนที่คลอเคล้าเข้าจังหวะในโฆษณา ถ้ามองย้อนกลับไปเมื่อปีสองปีก่อน น่าจะทำให้เราอยากยกมือขึ้นมาเลียนิ้วที่เปื้อนซอสตามไปด้วย แต่พอถูกมองด้วยมุมมองของโลกในวันนี้ ผมกลับไม่ได้รู้สึกอยากยกมือตัวเองขึ้นมา 

การได้มองภาพคนที่กินไก่ทอดแล้วเลียนิ้วอย่างเอร็ดอร่อยในวันนี้ กลับทำให้ผมรู้สึกว่า ถ้าเลียนิ้วตัวเองตอนนี้ไป เชื้อโรคอะไรจะเข้าไปในร่างกายเราบ้าง 

 

ไม่ใช่แค่ผมที่รู้สึก พอลองหาข้อมูลกลับไป KFC ก็ได้ระงับสโลแกน “It’s Finger Lickin’ Good ที่ใช้มายาวนานกว่า 64 ปีไปชั่วคราว เพราะรู้สึกว่ามันไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยเบลอข้อความ Finger Lickin’ จนเหลือไว้เพียงแค่ “It’s Good” ซึ่งก็ยังสามารถทำหน้าที่เป็นสโลแกนที่บ่งบอกถึงความอร่อย อย่างที่แบรนด์ต้องการบอกออกมาเหมือนเดิม 

 

มองในระดับโลก ประเทศที่ผมคิดว่ากำลังมองย้อนกลับไปในอดีต และใช้แทบทุกมุมมองเพื่อออกแบบปัจจุบันและอนาคตของประเทศตัวเองอย่างสุดความสามารถ หนีไม่พ้นประเทศญี่ปุ่น 

 

 

โตเกียวโอลิมปิก 2020 ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนญี่ปุ่น หลังจากที่อกหักจากการเข้าชิงตำแหน่งประเทศที่เป็นเจ้าภาพมาแล้วหลายครั้งและถึงแม้จะเคยได้รับการเป็นเจ้าภาพในปี ค.ศ. 1940 แต่ตอนนั้นก็ต้องประกาศยกเลิกไปในปี ค.ศ. 1938 เหลือไว้เพียงงานศิลปะและการออกแบบโลโก้ต่าง ๆ ของปีนั้นไว้ เพราะระหว่างนั้นอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเล็ก ๆ ที่มีความฝันว่าอยากได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกสักครั้ง ได้ปลูกฝังจิตวิญญาณเรื่องนี้ไว้กับคนญี่ปุ่น จนได้โอกาสนั้นอีกครั้งในปี ค.ศ. 2020

 

แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าหลังจากที่ COVID-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลก ประเทศญี่ปุ่นที่เตรียมตัวเป็นบ้านให้นักกีฬาและนักท่องเที่ยวกว่า 200 ประเทศทั่วโลก เตรียมมอบความสุข ความฝัน และเตรียมแสดงศักยภาพอย่างเต็มที่ ดั่งที่ได้เห็นกันตอนที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ ใส่หมวกคอสเพลย์เป็นการ์ตูนมาริโอ้ทะลุแก่นโลกจากญี่ปุ่นไปโผล่ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในพิธีปิดโอลิมปิก ปี ค.ศ. 2016 ได้ปลุกให้ผู้คนทั่วโลกตื่นเต้นที่จะได้ไปเยือนโอลิมปิกแบบ “ญี่ปุ๊นญี่ปุ่น” ก็รู้สึกเหมือนภาพฉายซ้ำ เหตุการณ์เกือบจะจบลงเช่นเดียวกับหนังเรื่องก่อน ว่าด้วยโรคระบาดที่รุนแรงในขนาดที่ยังไม่สามารถหาวิธีรับมือได้ โอลิมปิกครั้งนี้จะถูกพับเก็บไปแบบครั้งก่อนหรือไม่  

 

แต่ด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลญี่ปุ่นที่มีความตั้งใจว่า ญี่ปุ่นจะต้องจัดโอลิมปิกให้ได้ และมันจะเป็นโอลิมปิกที่สมบูรณ์แบบ ทำให้มีการประชุมและขอเลื่อนการจัดให้มาเกิดขึ้นในช่วงเดือน กรกฎาคม – สิงหาคมในปี ค.ศ. 2021 

 

หลังจากประกาศเลื่อนได้ไม่นาน ต้นปี ค.ศ. 2021 ก็มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 3 ในโตเกียว มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นกว่า 1,000 รายในแต่ละวันและยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง เริ่มทำให้หลาย ๆ ประเทศมองกลับมาด้วยความเป็นห่วง 

 

ถึงแม้ว่าเราจะหลงใหลในการมองย้อนกลับไปหาอดีตเพื่อค้นหาความสุขแต่ภาพในอดีตบางภาพในตอนนั้น เราก็ไม่อยากให้มันกลับมาซ้ำเดิมในตอนนี้ 

 

เช่นเดียวกับ ประเทศญี่ปุ่นที่กำลังทำทุกอย่างเพื่อให้โอลิมปิก 2020 จัดขึ้นได้ นี่อาจจะเป็นโอลิมปิกในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกใบนี้ เพราะต้องมีการปรับเปลี่ยนแทบทุกกระบวนการ ทุกมุมมองที่เคยคิดไว้ ต้องหันกลับมามองใหม่ ว่าโตเกียวจะเป็นอะไรได้มากกว่านั้นอีก 

 

เพื่อให้การจัดงานเกิดขึ้นได้ นักกีฬาที่จะเดินทางมายังประเทศญี่ปุ่น ต้องมีการตรวจเชื้อ COVID-19 ก่อนออกจากประเทศก่อน 72 ชั่วโมง และก่อนหน้านั้น 14 วัน ต้องไม่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงและไม่มีพฤติกรรมที่ไม่ถูกสุขลักษณะตามที่กำหนดไว้ในข้อปฏิบัติของนักกีฬาที่ทางประเทศญี่ปุ่นได้บัญญัติไว้ (The Playbook Rules For 14 Days) และต้องมีใบรับรองแพทย์แสดงถึงผล COVID-19 Test เป็นลบก่อนที่จะเข้าประเทศได้ 

 

 

ซึ่งหลังจากที่มาถึงประเทศญี่ปุ่นแล้วนักกีฬาทุกคนต้องเข้าตรวจและดูผลอีกรอบ แต่ก็มีบางประเทศที่จะเดินทางเข้ามายังประเทศญี่ปุ่นในระยะเวลาที่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ด้วยเพราะตารางแข่งขันที่ประเทศอื่นใกล้กับการมาแข่งขันต่อที่นี่ ก็จะถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้เข้าร่วมพิธีเปิด เพื่อเป็นการยืดระยะเวลาที่จะตรวจโรคให้เหมาะสม และนักกีฬาทุกคนไม่สามารถเข้าร่วมชมการแข่งขัน หรือเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร บาร์ หรือฟิตเนส

 

 

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้ใช้ COCOA Application ไว้สำหรับติดตามและรายงานผลเกี่ยวกับสุขภาพตลอดเวลาที่เข้าร่วมการแข่งขัน ระหว่างการแข่งขัน จะไม่มีการจับมือ สวมกอด และยืนห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร เพื่อเว้นระยะห่าง ไม่อนุญาตให้ใช้ขนส่งสาธารณะ และใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่ 

 

ถึงแม้ว่าประเทศญี่ปุ่นจะอยากให้โตเกียวโอลิมปิกเกิดขึ้นมากขนาดไหนแต่ก็ยังไม่ได้มากถึงขนาดที่จะฉีดวัคซีนป้องกันให้กับนักกีฬาทุกคนที่เข้ามาแข่งขันที่นี่ โดยยังให้สิทธิ์ของผู้ที่จะได้รับวัคซีนเป็นไปตามนโยบายภายในประเทศก่อน 

 

สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้ว ช่วงเวลานี้ เป็นปัจจุบันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในเมื่อไม่เคยมีใครเคยได้พบกับประสบการณ์แบบนี้ ญี่ปุ่นจึงได้พยายามสร้างทุกอย่างขึ้นมาเอง เพื่อทำปัจจุบันของประเทศให้ดีที่สุด แต่จะด้วยเพราะการจัด หรือการยกเลิกนั้น มีราคาที่ต้องจ่ายจริง ๆ และราคาของความคาดหวังที่ค่อนข้างสูง และทุกอย่างถูกลงทุนไปแทบทั้งหมดแล้ว การที่จะหันไปมองอดีตอย่างเดียว อาจทำให้แค่รู้สึกว่ามันน่าจะสะดวกกว่าตอนนี้ แต่มันก็ไม่ได้ทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าดีขึ้น 

 

เมื่อปัจจุบันขณะ ไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์และคาดหวังไว้ การล้มเลิกสิ่งที่วาดฝัน เพราะกลัวว่าสิ่งที่ทำอยู่จะกลายเป็นปัจจุบันที่ไม่น่าจดจำก็อาจทำให้ในอนาคตเราไม่มีประวัติศาสตร์ในแบบที่ควรจดจำเลยก็ได้

ถ้าญี่ปุ่นทิ้งโอลิมปิกนี้ไปอีกครั้ง โดยการทิ้งทุกอย่างเพราะไม่สามารถรับมือกับมัน หรือไม่สามารถสร้างมันในรูปแบบที่ญี่ปุ่นอยากให้เป็นได้ ญี่ปุ่นก็จะกลายเป็นประเทศที่ไม่เคยมีโอลิมปิกอยู่ในประวัติศาสตร์อีก

เป็นครั้งที่สอง ซึ่งส่วนตัวคิดว่า มันไม่ใช่สิ่งที่ประเทศญี่ปุ่นต้องการ 

อ่านดูแล้วเหมือนเป็นโอลิมปิกที่แสนเหงา ทั้งนักกีฬาและผู้ร่วมชม (จากทางออนไลน์ทั่วโลก) แต่ถึงอย่างนั้นทุกอย่างก็ต้องเดินหน้าต่อไป นักท่องเที่ยวก็ยังต้องการที่จะเดินหน้าไปยังที่นั่นอยู่ ทุกคนอยากจะสร้างปัจจุบันที่ไม่เคยเกิดขึ้นในแบบของตัวเองโดยไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นมาก็ตาม และผู้เขียนก็ยังไม่แน่ใจว่า หลังจากที่ตัวอักษรหน้านี้ถูกพิมพ์ออกไปในวันที่อยู่บนมือผู้อ่าน ประเทศญี่ปุ่นจะตัดสินใจกับปัจจุบันที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวันนั้นอย่างไรด้วยเหมือนกัน 

 

 

ไม่มีใครรู้หรอกว่า โลกของเราหลังจากนี้จะเปลี่ยนไปแค่ไหน และเราก็ยังไม่รู้อีกนั่นแหละว่า เราควรจะตั้งคำถามกับอนาคตของโลกเราต่อไปนี้อย่างไรดี แต่อดีตจะเป็นสิ่งที่ยังคงหอมหวานและน่าหวนให้กลับไปนึกถึง ในขณะที่ปัจจุบันทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไป ในแบบที่ทุกคนในโลกนี้ก็ไม่เคยเจอมาก่อน ก็ยังทำให้เราต่างรู้สึกและตั้งคำถามกับตัวเองบ่อยครั้งว่า เราจะกลับไปมีชีวิตแบบเดิมได้หรือเปล่า 

 

แต่ที่รู้ก็คือ ถ้าเราล้มเลิกความตั้งใจกับอะไรสักอย่างในช่วงเวลาที่ปัจจุบันนั้นคาดการณ์ไม่ได้เสียก่อน วันข้างหน้าเราคงต้องใช้เวลาที่มีอยู่ไปกับการนึกถึงเรื่องราวเก่า ๆ ที่เคยเกิดขึ้น แต่ไม่มีอยู่จริงอีกแล้วในปัจจุบัน

 

ที่มา :

  • https://www.thedrum.com/news/2020/07/30/if-we-could-turn-back-time-2020-through-the-lens-pre-pandemic-ads
  • https://www.timeout.com/tokyo/news/tokyo-olympics-could-be-held-without-spectators-020121
  • https://www.bbc.com/news/business-55722542
  • https://theconversation.com/for-now-the-tokyo-olympics-will-go-ahead-but-at-what-cost-15485

 

Share This Story !

Published On: 10/05/2021,1.8 min read,Views: 196,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 3, 2023