
ขอโอกาสให้สันติได้ไหม: เมื่อเราเรียนรู้โลกผ่านการเดินทาง
โตมร ศุขปรีชา
วลีที่ว่า Give Peace a Chance หรือ “ขอโอกาสให้สันติได้ไหม” นั้น มาจากเพลงต่อต้านสงครามที่เขียนโดย จอห์น เลนนอน ซึ่งเมื่อเผยแพร่สู่หูผู้ฟังในเดือนกรกฎาคม 1969 มันก็กลายเป็นเพลงที่ขึ้นอันดับ 2 ในชาร์ตของอังกฤษ และขึ้นถึงอันดับ 14 ในชาร์ตของสหรัฐอเมริกา
ทำไมเพลงนี้ถึงได้รับความนิยมขนาดนั้น?
คำตอบก็คือ เพลงนี้กลายเป็น Anthem Song ซึ่งเรามักจะแปลเพลงแอนเธมว่าเป็นเพลงชาติ ทว่าในกรณีนี้อาจจะแปลก ๆ อยู่สักหน่อย เพราะมันเป็นเพลงชาติที่มีนัยยะต่อต้านการเป็นชาติ ซึ่งต่อมาอีกสองปีจะแตกดอกออกผลจนกลายเป็นเพลง Imagine ที่ชวนเราให้นึกถึงโลกที่ไม่มีชาติ ไม่มีศาสนา ไม่มีพรมแดนแบ่งแยก เพลง Give Peace a Chance นี้ ได้กลายเป็นเพลงประจำชาติของขบวนการต่อต้านสงครามเวียดนาม ซึ่งในตอนนั้นคนกลุ่มที่ต่อต้านสงครามเวียดนามอย่างมาก และมีสโลแกนว่า ‘Make Love, Not War’ ก็คือชาวฮิปปี้ (Hippie)
ขบวนการฮิปปี้นั้นเบ่งบานในทศวรรษ 1960s ถึง 1970s อย่างมาก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่โลกกำลังเกิดความขัดแย้งหนัก ๆ หลายประการ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ จนกลายมาเป็นสงครามเย็นในเวลาต่อมา
คำว่า Hippie มีที่มาจากคำว่า Hip ซึ่งเป็นคำที่ถือกำเนิดขึ้นในหมู่กวีกลุ่มบีตส์ (Beats) หรือเรียกกันว่า Beat Generation หรือ Beat Movement ที่มีหัวหอกกวีอย่าง อัลเลน กินสเบิร์ก (Allen Ginsberg) และนักเขียนอย่างแจ๊ค เครูแวค (Jack Kerouac) ผู้เขียนหนังสือ On the Road อันลือลั่น
โปรดสังเกตที่ชื่อหนังสือ On the Road ของเครูแวค ชื่อหนังสือนี้หมายถึงการเดินทาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งใน “ไลฟ์สไตล์” แบบชาวฮิปปี้
สิ่งที่ฮิปปี้เป็น ก็คือการสร้าง “วัฒนธรรมต่อต้าน” (Counterculture) ขึ้นมาเพื่อปฏิเสธวิถีชีวิตแบบกระแสหลักของคนอเมริกันที่หันหน้าเข้าหาวัตถุนิยม อุตสาหกรรมนิยม และบริโภคนิยมกันอย่างเต็มขีดในทศวรรษ 1960s และ 1970s แต่ฮิปปี้ปฏิเสธการใช้ชีวิตตาม “แพทเทิร์น” เช่น ต้องทำงาน (ในบริษัทหรือโรงงาน) รับเงินเดือน ซื้อรถ แต่งงาน ซื้อบ้าน และปลูกบ้านสวย ๆ ในย่านชานเมืองหรือ Suburban ซึ่งจะมีภาระพันผูก ทำให้ต้อง “ยึดแน่น” เกาะอยู่กับพื้นที่เดิม ๆ ไปจนเกือบตลอดชีวิต ไม่ได้ใช้ชีวิตแบบ On the Road หรือออกเดินทางตระเวนไปเพื่อทำความรู้จักกับโลกและความแตกต่างหลากหลายในชีวิตผู้คน
จริงอยู่ว่า วิถีชีวิตแบบฮิปปี้ในสมัยโน้น จำกัดอยู่แค่กับวัยรุ่นผิวขาวชนชั้นกลางอายุยี่สิบกว่า ๆ ถ้าใครเป็นคนผิวดำ หรือเป็นชนชั้นกรรมาชีพ หรือเป็นคนแก่วัยหกสิบเจ็ดสิบ การจะเรียกตัวเองว่าเป็นฮิปปี้ (ในตอนนั้น) ก็เป็นเรื่องแปลก ๆ อยู่ แต่วิธีคิดสำคัญของฮิปปี้ก็คือการสร้าง “ทางเลือก” (Alternatives) ใหม่ ๆ ที่ท้าทายข้อจำกัดและรูปแบบที่พวกเขาเห็นอย่างใกล้ชิดในสังคมชนชั้นกลางที่ตัวเองสังกัดอยู่
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ชาวฮิปปี้ได้ “นำเข้า” วิธีคิดใหม่ ๆ และนำอะไรหลายอย่างที่อาจถูกมองว่าแตกต่างกันสุดขั้วมาคละเคล้าผสมผสานกัน เช่น ชาวฮิปปี้ส่วนหนึ่งสนใจพุทธศาสนา สนใจอินเดียและศาสนาฮินดู พร้อม ๆ กับสนใจแนวคิดและพิธีกรรมเพื่อเข้าถึงสภาวะทางจิตของวัฒนธรรมอื่น ๆ ด้วย
ซึ่งฮิปปี้จะพบพานกับสิ่งเหล่านี้ได้ ก็ด้วยการ “เดินทาง” นั่นเอง
ในช่วงปี 1957 ถึง 1978 ประมาณกันว่า ฮิปปี้จากสหรัฐอเมริกาและยุโรปตะวันตกได้เดินทางข้ามแผ่นดิน (คือไม่ได้เดินทางทางเรือ) ผ่านยูโกสลาเวีย บัลแกเรีย และกรีซ เพื่อข้ามไปยังตุรกี อินเดีย โมร็อคโค อัฟกานิสถาน และเนปาล อาจเพื่อผจญภัย หรือเพื่อแสวงหาการบรรลุทางจิตวิญญาณ
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผลพลอยได้ของขบวนการฮิปปี้ก็คือการที่ผู้คนเหล่านี้มีเส้นขอบฟ้าในชีวิตที่กว้างขวางขึ้น มองเห็นโลกได้กว้างไกลขึ้น และบางส่วนที่เข้าใจผู้คนที่แตกต่างจากตัวเองมากขึ้น เห็นได้ชัดจากงานวรรณกรรมที่ชาวฮิปปี้นิยม อย่างเช่นงานของ เจอรี รูบิน (Jerry Rubin) ที่ชื่อว่า We Are Everywhere หรือ “เรา” อยู่ทุกหนทุกแห่ง ซึ่งมีนัยของการไม่แบ่งแยกผู้คนออกเป็นชาติต่าง ๆ เขาเขียนงานชิ้นนี้ด้วยความคิดว่า อีกไม่นานเหล่าคนหนุ่มสาวจะลุกข้ึนมาปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมให้มัน “น่าอยู่” มากยิ่งขึ้น
แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ได้เป็นอย่างนั้น…
ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม หลังทศวรรษ 1980s เป็นต้นมา ผู้คนจำนวนมาก (แม้ไม่ได้สมาทานตัวเองเป็นฮิปปี้) ก็เริ่มเห็นว่าโลกนั้นกว้าง และพวกเขาควรจะออกไป “ดูโลก” กันให้มากขึ้น ทศวรรษ 1990s เลยมาจนถึง 2000s ช่วงต้น ๆ จึงเป็นทศวรรษที่หลายคนบอกว่าเป็นทศวรรษแห่งการเดินทางที่การท่องเที่ยวนั้น “บูม” ในหลายประเทศ
การเดินทางถูกทำให้เป็นอุตสาหกรรม เรียกว่า “อุตสาหกรรมท่องเที่ยว” ซึ่งในช่วง 6 ทศวรรษที่ผ่านมาเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีส่วนสำคัญยิ่งในการช่วยลดภาวะการว่างงาน เพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ที่สำคัญมาก ๆ ก็คือมันเข้าไป “เปลี่ยน” วิธีคิดของผู้คน ด้วยการมอบ “ทรัพยากรทางวัฒนธรรม” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่จับต้องไม่ได้ให้แก่นักท่องเที่ยวและนักเดินทางทั่วโลก ซึ่งจะมากหรือน้อยก็ได้แอบหยิบฉวยวิธีคิดแบบวัฒนธรรมฮิปปี้มาใช้ด้วย จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีเพียง 25 ล้านคนในปี 1950 กลายมาเป็น 800 ล้านคนในปี 2005 และคาดการณ์กันว่าจะไปถึง 1.56 พันล้านคนในปี 2020 แต่ก็น่าเสียดายที่โลกไม่ได้ “สันติ” เหมือนเมื่อก่อนแล้ว เพราะต้องเผชิญกับโรคระบาด และที่ดูท่าว่าอาจจะขยายตัวได้มากขึ้นก็คือเรื่องของสงครามและความรุนแรงในแบบที่เข้าใจได้ยาก
โยฮัน กัลตุง (Johan Galtung) นักสังคมวิทยารุ่นอาวุโสชาวนอร์เวย์ ซึ่งถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญการศึกษาเรื่องสันติภาพและความขัดแย้งคนหนึ่งในโลก เป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Peace Research Institute Oslo (PRIO) และตอนนี้มีอายุ 91 ปีแล้ว ได้วิเคราะห์ “ความรุนแรง” เอาไว้อย่างลึกซึ้ง
แนวคิดสำคัญของกัลตุงก็คือ เขามองว่า “ความรุนแรง” แบ่งออกได้หลายแบบ ความรุนแรงแบบที่คนไปชกหน้ากันหรือทำร้ายร่างกายกันนั้น เป็นความรุนแรงทางตรงหรือ Direct Violence ซึ่งคนมักจะเห็นกันชัดเจนว่าคือความรุนแรง และเรียกมันว่าความรุนแรง
แต่กัลตุงบอกว่า ความรุนแรงที่สำคัญและ “ซ่อน” อยู่ลึก ๆ จนเรามองไม่เห็นยังมีอีกสองแบบ แบบที่หนึ่ง (เขาเขียนถึงความรุนแรงแบบนี้มาตั้งแต่ปี 1969) คือ Structural Violence หรือความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
หากใช้แว่นแบบกัลตุง เราจะเห็นความรุนแรงแบบนี้แผ่ซ่านอยู่ทั่วไปหมดในหลายสังคม โดยเฉพาะสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำสูง เพราะ “โครงสร้าง” ที่ “กดทับ” คนอยู่นั้น ได้แผ่แรงกดลงมาเป็นชั้น ๆ ทำให้คนที่อยู่ข้างบนมีสถานะ ความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจ ฯลฯ ที่ “ดี” กว่าคนอื่นโดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไรเลย คนเหล่านี้มีอำนาจมากกว่า จึงพยายามรักษาโครงสร้างทางสถานภาพของตัวเองเอาไว้ ทำให้เกิดสังคมที่มีความรุนแรงเชิงโครงสร้างฝังแฝงเป็นรากฐานอยู่ ซึ่งอาจจะสะท้อนออกมาได้หลายด้าน แม้กระทั่งการออกกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม
ที่สำคัญ…คนส่วนใหญ่ที่คลุกอยู่กับความรุนแรงแบบนี้มักมองไม่เห็นว่าสิ่งนี้เป็นความรุนแรง
นอกจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างแล้ว กัลตุงยังเสนอในปี 1990 ถึง “ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม” หรือ Cultural Violence อีกด้วย ซึ่งแนวคิดของความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมนั้น ยิ่ง “ซับซ้อน” และมองเห็นได้ยากขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง เพราะมันคือการใช้ “วัฒนธรรม” มาเป็นตัวการสร้างความชอบธรรม (Legitimize) ให้กับความรุนแรงอื่น ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างหรือความรุนแรงทางตรง ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรมนั้นซับซ้อน แนบเนียน เปิดโอกาสให้เราใช้ความรุนแรงได้โดยไม่รู้สึกผิด เพราะมีวัฒนธรรมบางอย่างมารองรับอยู่
เราจะเห็นได้ว่า ถ้าคิดแบบกัลตุง ความรุนแรงที่ปรากฏไม่ได้เกิดขึ้นแค่ฉากตรงหน้า แต่มีที่มาที่ “ลึก” ลงไปข้างในหลายเรื่องซ้อนทับกันอยู่ โดยเฉพาะฐานที่เป็น “วัฒนธรรม” ซึ่งกินความรวมไปถึงประวัติศาสตร์ และหากเป็นกรณีของสงครามระหว่างชาติต่าง ๆ ก็คือความคิด ความเชื่อ อัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์ และการยึดมั่นในความเป็นชาติที่รุนแรงลึกซึ้ง
แต่ปัญหาก็คือ โลกปัจจุบันมีลักษณะที่เป็น “โลกหลากมโนทัศน์” หรือ Multi-Conceptual World มากขึ้นเรื่อย ๆ คือเป็นโลกที่ “มีหลายโลก” ซ้อนกันอยู่ คนอาจจะคิดไม่เหมือนกันเลย หรือมี “กรอบ” ในการมองโลกที่แตกต่างกันอย่างมากโดยไม่รู้ตัวก็ได้ แต่ประเด็นก็คือ “วัฒนธรรม” ที่รองรับ “โลก” ในคอนเซ็ปต์ของคนแต่ละแบบแต่ละกลุ่มนั้นไม่เหมือนกัน ดังนั้นมันจึง Legitimize หรือสร้างความชอบธรรมให้กับการแสดงออกที่แตกต่างกัน
แล้ววิธีไหนเล่า – ที่จะทำให้เราเข้าใจ “โลก” ของคนอื่นได้มากขึ้น?
คำตอบมีวิธีเดียวเท่านั้นที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าการอ่านหนังสือหรือดูซีรีส์ นั่นก็คือการต้อง “พา” ตัวเองเข้าไปอยู่ในพื้นที่ของคนอื่น
UNWTO หรือ World Tourism Organization เคยให้นิยามของการท่องเที่ยวเอาไว้ว่า
“การท่องเที่ยวประกอบไปด้วยกิจกรรมการเดินทางของผู้คนเพื่อไปและอยู่ในสถานที่นอกเหนือจากสิ่งแวดล้อมที่ตัวเองคุ้นเคย”
การพาตัวเองไปอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคยนั้นสำคัญมาก เพราะมันก็คือแนวคิดเดียวกับที่เหล่าฮิปปี้พยายามเปลี่ยนและท้าทายสังคมแบบเดิมด้วยการออกเดินทางข้ามโลกไปแสวงหาอะไรบางอย่างที่ไม่ได้ดำรงอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนของตัวเอง ซึ่งอาจจะพบหรือไม่ก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุด มันก็จะทำให้เรารับรู้ว่า ผู้คนที่อยู่ “ที่โน่น” มีตัวตนจริง ๆ มีเลือดมีเนื้อ เป็นมนุษย์ มีหัวใจที่เต้นเร่า มีความรัก มีอ้อมกอดที่อบอุ่น – เหมือน ๆ กันกับเรา
พวกเขาไม่ได้เป็นเพียง “เบี้ย” ไม่ว่าจะทางเศรษฐกิจ หรือเป็นเพียงทรัพยากรบุคคล เป็นเพียง “หน่วย” ของทหารที่เสียไปในสงครามเท่านั้น แต่พวกเขาเป็น “คน” จริง ๆ ในแบบที่เรารู้ว่าเขาชื่ออะไร หน้าตาเป็นอย่างไร มีวิธีเลิกคิ้ว ยิ้ม เกาคาง ผงกศีรษะ ฯลฯ อย่างไร
ร่องรอยสำคัญของวิถีชีวิตแบบฮิปปี้ ยังคงฝังตัวอยู่ตามโฮสเทลต่าง ๆ โดยเฉพาะในห้องกินอาหารร่วมกันหรือ Common Room ที่ซึ่งผู้คน (ไม่ว่าจะหนุ่มสาวหรือมีสีผิวอะไร) สามารถมานั่งรวมกัน ทำความรู้จัก พูดคุย ทำอาหารตามวัฒนธรรมของตัวเองมาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกัน ถกเถียงกัน ทะเลาะกัน และทำความเข้าใจใน “เส้น” ที่ว่าด้วยความรุนแรงร่วมกัน
อาจไม่ได้มีแต่วิธีนี้เท่านั้น ที่เราจะตระหนักได้ว่าโลกไม่ได้ใหญ่มากนัก และเราทั้งหลายต่างอยู่ในโลกใบนี้ร่วมกัน เราจึงอยู่ทุกหนทุกแห่ง และมีโอกาสจะมอบสันติภาพให้กับโลกนี้ในทุกเมื่อเชื่อวัน แต่อย่างน้อย – นี่ก็เป็นคุณูปการอีกอย่างหนึ่งของการเดินทางท่องเที่ยวที่มีต่อโลกใบนี้
ถ้าเพียงแต่เราจะเข้าใจการเดินทางท่องเที่ยวให้เหนือพ้นไปกว่าแค่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ที่มา:
https://www.beyondintractability.org/essay/peace-through-tourism
https://bestclassicbands.com/books-hippies-owned-4-23-19/
https://www.beyondintractability.org/essay/peace-through-tourism