LGBTQ inside out สรุปประเด็นจากการสำรวจความเห็นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพสูง LGBTQ

เคยต้องกรอกแบบฟอร์มข้อมูลส่วนตัวกันบ้างมั้ยคะ

เวลากรอกแบบฟอร์มเพื่อติดต่อทำธุรกรรมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นแบบฟอร์มยื่นขอวีซ่า แบบฟอร์ม ตม. เวลาเดินทางเข้าออกต่างประเทศ การสมัครเข้าเรียนหรือเข้าทำงาน หรือการลงทะเบียนเพื่อขอใช้บริการแทบทุกอย่างในส่วนของข้อมูลส่วนตัว นอกจากชื่อ นามสกุล วันเดือนปีเกิดแล้วสิ่งที่แบบฟอร์มทุกใบมักจะขอให้เราระบุคือ เพศ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะบังคับให้เลือกระหว่างสองอย่างคือ หญิง กับ ชาย เท่านั้น

แนวคิดว่าเพศต่างๆ ในโลกสามารถแบ่งออกได้เป็นสองเพศ หรือ Gender Binarism เป็นแนวคิดที่ตกทอดมานับแต่อดีตกาล เป็นสิ่งที่เราทุกคนได้รับการปลูกฝังกันมาตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อย หากแต่ในปัจจุบัน ความหลากหลายทางเพศ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่ในประเภทของหญิงหรือชาย เริ่มได้รับการยอมรับมากขึ้น ชาว LGBTQ กลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ธุรกิจต่างๆ ให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง ผลการสำรวจชาว LGBTQ ในประเทศอเมริกาพบว่า ร้อยละ 75 อาศัยอยู่ในครอบครัวแบบ DINK (Double Income No Kids) ซึ่งมีการใช้จ่ายต่อครัวเรือนสูงกว่าค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนโดยเฉลี่ย บริษัท Out Now ที่ปรึกษาทางธุรกิจสำหรับกลุ่ม LGBTQ โดยเฉพาะ ได้ประเมินมูลค่าของตลาดนักท่องเที่ยว LGBTQ ทั่วโลกในปี 2559 ว่าอยู่ที่ 211 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ชาว LGBTQ ถือว่าเป็นผู้บริโภคที่บรรดาธุรกิจต่างๆ เข้าใจน้อยที่สุด โดยแคมเปญการตลาดที่พยายามสื่อสารถึงคนกลุ่มนี้มักล้มเหลวเพราะก้าวไม่พ้นอคติหรือภาพเหมารวมแบบเดิมๆ ดังนั้นในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย LGBTQ สิ่งแรกที่ธุรกิจต้องทำคือสอบถามความเห็นของผู้บริโภคว่าเขาเป็นใคร มีความคิดเห็นหรือทัศนคติต่อเรื่องต่างๆ อย่างไร พฤติกรรมทั้งในการใช้จ่ายและการใช้ชีวิตประจำวันของพวกเขาเป็นอย่างไร ฯลฯ

ในการสำรวจความเห็นของนักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์ผ่านการสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการศึกษาตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มคุณภาพสูง: อิตาลี และสเปน และโครงการศึกษาตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มประเทศเกิดใหม่: ภูมิภาคตะวันออกกลาง กองวิจัยการตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) โดยคัดเลือกตลาดเป้าหมายที่มีศักยภาพในการส่งเสริมนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ สูง 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดอิตาลี สเปน และอิสราเอล พบว่า

ปัจจัยหลักในการออกเดินทางท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์คือเพื่อพักผ่อนและหลบหนีจากความวุ่นวายในชีวิตประจำวัน (Relax & Escape) ซึ่งเป็นปัจจัยที่คล้ายกับนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆที่เคยทำการศึกษา โดยกิจกรรมที่ได้รับความสนใจ ได้แก่ กีฬากลางแจ้งหรือกิจกรรม Soft Adventure เช่น เดินป่า กีฬาทางน้ำ รวมทั้งการท่องเที่ยว Nightlife

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การได้ค้นพบและการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ธรรมชาติ การได้ลองอาหารท้องถิ่น รวมทั้งการพบปะกับผู้คนในแหล่งท่องเที่ยวที่เลือกเดินทาง (Discover & Connect)ซึ่งเชื่อมโยงกับความต้องการที่จะพัฒนาตนเอง (Self-development)

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการค้นพบประสบการณ์ใหม่ๆ ความจริงแท้ ไม่ปลอมแปลง ไม่ปรุงแต่ง (Real & Authentic) ของแหล่งท่องเที่ยวเป็นสิ่งสำคัญ โดยนักท่องเที่ยวต้องการเห็นความเป็นอยู่และค้นพบแหล่งท่องเที่ยวผ่านสายตาของคนท้องถิ่น และต้องการไปในที่ที่นักท่องเที่ยวทั่วไปเข้าไม่ถึงนอกจากนี้ การเดินทางท่องเที่ยวยังถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างความผูกพันระหว่างคู่รักผ่านการสร้างสรรค์ประสบการณ์ดีๆ ร่วมกัน

นักท่องเที่ยวกลุ่มเกย์เดินทางบ่อยครั้งกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ โดยผู้ให้สัมภาษณ์ชาวอิตาลีและสเปนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ 3-10 ครั้งต่อปี ในขณะที่ผู้ให้สัมภาษณ์ชาวอิสราเอลเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ 8-20 ครั้งต่อปี

แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของกลุ่มเกย์มักจะเป็นประเทศในภูมิภาคยุโรปและอเมริกาที่มีชื่อเสียงในการเป็น Gay destination ได้แก่ สหรัฐอเมริกา (นิวยอร์ก ซานฟรานซิสโก) บราซิล อังกฤษ เนเธอร์แลนด์

ในแถบเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทยและเวียดนามเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมในทั้ง 3 ตลาด(อิตาลี สเปน และอิสราเอล) นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นและจีนก็ได้รับความนิยม โดยมีภาพลักษณ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นด้านวัฒนธรรม

ประเทศไทยมีภาพลักษณ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อชาวเกย์ หรือ Gay-friendly destination โดยนักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลเป็นกลุ่มที่มองภาพลักษณ์ประเทศไทยในด้านบวกที่สุด จุดเด่นของประเทศไทย คือ ทะเลและชายหาดที่สวยงาม ผู้คนเป็นมิตร บรรยากาศที่ผ่อนคลาย ในขณะที่นักท่องเที่ยวชาวอิตาลีและสเปนมองว่าประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวราคาถูก แออัด สกปรก แม้ว่าความเป็นมิตรของคนไทยจะเป็นจุดเด่น แต่ยังไม่ใช่ปัจจัยเพียงพอให้เลือกเดินทางมาประเทศไทย

การเป็น Gay-friendly destination เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวชาวเกย์แต่ไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญที่สุด โดยปัจจัยอื่นๆ เช่น ความโดดเด่นของสถานที่ท่องเที่ยว หรือราคา ก็มีความสำคัญเช่นกัน

การสร้างแหล่งท่องเที่ยวให้เป็น Gay-friendly destination ไม่จำเป็นต้องจัดงานอีเวนต์สำหรับกลุ่ม LGBTQ แบบ Pride Parade หรือการแปะฉลาก LGBT เช่น ธงสีรุ้ง แต่ควรเป็นการสร้างบรรยากาศที่นักท่องเที่ยวชาวเกย์รู้สึกว่าได้รับการยอมรับและได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับคนอื่น ดังที่นักท่องเที่ยวชาวอิสราเอลคนหนึ่งกล่าวว่า  “I won’t go to places where I’m not accepted as a gay person.”

ข้อเสนอแนะในการส่งเสริมการท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQ
1. ตอกย้ำ Message ว่าประเทศไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และยินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกเพศ ทั้ง หญิง ชาย และ LGBTQ

2.นอกจากความเป็นมิตรแล้ว ความปลอดภัยก็เป็นสิ่งควรให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน

3.ปรับภาพลักษณ์จากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวราคาถูกเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพ ผ่านการเสนอขายแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมคุณภาพสูง โดยเน้นวัฒนธรรมท้องถิ่น ประสบการณ์วัฒนธรรมผ่านอาหาร (Gastronomic experience) รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่มีภูมิทัศน์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เสนอขายแพ็กเกจท่องเที่ยวแบบ Exclusive

4.สื่อสารแบบเฉพาะเจาะจงต่อกลุ่ม LGBTQ เช่น จัดทำเว็บไซต์ท่องเที่ยวสำหรับกลุ่ม LGBTQ โดยเฉพาะสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการมองให้ไกลกว่าการ ‘แปะฉลาก’ นักท่องเที่ยวตามเพศ เชื้อชาติ หรือ อายุ หากแค่มองให้ลึกถึงพฤติกรรม รสนิยมไลฟ์สไตล์ ของนักท่องเที่ยวในโลกปัจจุบันที่มีความแตกต่างหลากหลายแต่สุดท้ายแล้วก็มีหลายสิ่งที่คล้ายกัน

In a qualitative study by the Tourism Authority of Thailand (TAT) into the behavior and travel motivation of high-value LGBT travelers in 3 potential markets (Italy, Spain,Israel), LGBT travelers are revealed to have similar as well as have distinct traits to other high-value groups. They travel very frequently for the purpose of escape and relaxation, as well as to discover and connect to the world. Being a ‘gay-friendly’ destination isn’t the sole motivation to travel, but the quality of attraction and promotions are also important factors as well.

ที่มา
1. โตมร ศุขปรีชา. โลกนี้มีสองเพศ. 8 ตุลาคม 2559. https://themomentum.co/momentum-opinion-genderless-binary-sexual/

2.Blanca Villagrana. Understanding the Multi-Billion Dollar LGBT Market. 20 April 2015.

https://hmc.comm.fsu.edu/blog/understanding-the-multi-billion-dollar-lgbt-market/

3.World Travel Mart. Global LGBT Market Expands ั Now Valued at USD$211Billion Annually. 8 November 2016. https://news.wtm.com/global-lgbt-market-expands-now-valued-at-usd211-billion-annually/

4. การสนทนากลุ่ม (Focus group discussion) โครงการศึกษาตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มคุณภาพสูง: อิตาลี และสเปน และโครงการศึกษาตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มประเทศเกิดใหม่: ภูมิภาคตะวันออกกลาง จัดทำโดยบริษัท อินทัช รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลแทนซี่ เพื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

– กรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล วันที่ 23 เมษายน 2561

– กรุงมาดริด ประเทศสเปน วันที่ 11 พฤษภาคม 2561

– นครมิลาน ประเทศอิตาลี วันที่ 14 พฤษภาคม 2561

เรียบเรียง
ชญานิน วังซ้าย
พนักงานวางแผน 5 กองวิจัยการตลาด ททท.

Share This Story !

4.5 min read,Views: 2740,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    เมษายน 20, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    เมษายน 20, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    เมษายน 20, 2025