สถานการณ์ด้านการตลาดท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ข้อมูลจากรายงานครั้งที่ 1 โครงการศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคม (Responsible Tourism)

โดย กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว (กวจ.)

 

สถานการณ์ด้านการตลาดท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับโลก

ขนาดตลาด (Market Size) ของนักท่องเที่ยวกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ขนาดตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 1

 

จากภาพจะเห็นได้ว่า ในปี พ.ศ. 2567 ประเทศที่มีขนาดตลาดของนักท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมใหญ่ที่สุด ได้แก่ ประเทศจีน (140.9 ล้านคน) รองลงมาได้แก่ เยอรมนี (124.3 ล้านคน) สหรัฐอเมริกา (93.4 ล้านคน) สหราชอาณาจักร (87.5 ล้านคน) ฝรั่งเศส (63.4 ล้านคน) และอินเดีย (32.2 ล้านคน) ตามลำดับ

 

พฤติกรรมนักท่องเที่ยวกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไป

จากการวิจัยขององค์กรพัฒนาความสามารถของประชาชนประเทศเนเธอร์แลนด์ (Netherlands Development Organization) พบว่ามีทัศนคติบางอย่างที่สะท้อนให้เห็นว่าบุคคลเหล่านี้เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การมีจิตสำนึกด้านสังคมที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวทั่วไป ทำให้แสวงหาการท่องเที่ยวที่สามารถส่งมอบคุณค่าด้านประสบการณ์มากกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ ดังนั้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ธุรกิจหรือบริการด้านการท่องเที่ยวจะต้องมุ่งเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีทัศนคติดังภาพด้านล่างนี้


องค์ประกอบของนักท่องเที่ยวกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 2

 

นักท่องเที่ยวประเภทมีส่วนร่วม (Interactive) มีคุณลักษณะดังนี้

  1. อยากเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
  2. อยากมีส่วนร่วมกับชุมชน
  3. อยากได้รับประสบการณ์จากวิถีชุมชนมากกว่าแค่การเยี่ยมชม
  4. อยากแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับชุมชน
  5. อยากพัฒนาความสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวคนอื่น ๆ และชุมชน

จากผลการสำรวจโดยศูนย์ส่งเสริมการนำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา (The Centre for the Promotion of Imports from Developing Countries: CBI) พบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมีความต้องการใช้บริการที่สร้างประโยชน์ต่อชุมชน ตัวอย่างเช่น การพักโฮมสเตย์ การเรียนทำอาหารพื้นบ้าน การทอผ้า ทำงานฝีมือ ชมการแสดงพื้นบ้าน การใช้การคมนาคมขนส่งเช่นเดียวกันกับคนในพื้นที่ การเยี่ยมชมธรรมชาติและสถานที่ทางประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น

 

นักท่องเที่ยวประเภทหาประสบการณ์ (Experiential) มีคุณลักษณะดังนี้

  1. เน้นได้รับประสบการณ์ส่วนตัวอย่างแท้จริง
  2. พร้อมที่จะทำความเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชุมชน รวมถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างออกไป 
  3. อยากได้รับประสบการณ์ที่ต่างไปจากวิถีปกติในชีวิตประจำวัน
  4. ต้องการเยี่ยมเยือนจุดหมายปลายทางที่ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นกลุ่มที่ต้องการแสวงหาประสบการณ์ และต้องการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาความคิด มากกว่าเพียงแค่ได้ชื่นชมสภาพแวดล้อมที่แตกต่าง โดยส่วนใหญ่นักเดินทางเหล่านี้มักต้องการความท้าทายทั้งในแง่ของร่างกายและจิตใจระหว่างการท่องเที่ยวเพื่อค้นหาประสบการณ์ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จึงถูกดึงดูดไปยังจุดหมายปลายทางที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก และแตกต่างไปจากสถานที่ท่องเที่ยวที่มักเป็นที่นิยมสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไป

 

นักท่องเที่ยวประเภทให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม (Socio-Enviro Conscience) มีคุณลักษณะดังนี้

  1. ช่วยลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมให้น้อยที่สุด
  2. สนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  3. ช่วยอนุรักษ์พลังงาน น้ำ และสร้างขยะให้น้อยที่สุด
  4. ช่วยลดผลกระทบต่อระบบนิเวศในท้องถิ่น
  5. ตอบแทนด้วยการทำความดีคืนสู่สังคม 
  6. สนับสนุนเศรษฐกิจท้องถิ่น
  7. ประพฤติตนและแต่งตัวอย่างเหมาะสม

นักท่องเที่ยวกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมักให้ความสำคัญกับจริยธรรมของบริษัททัวร์ อาทิ ความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กร (CSR) ค่าใช้จ่ายที่สมเหตุสมผล การนำเสนอผลิตภัณฑ์จากท้องถิ่น และการสนับสนุนชุมชนในพื้นที่ โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้นให้แก่บริษัททัวร์ที่สร้างประโยชน์ให้กับชุมชนของพื้นที่ท่องเที่ยวนั้น ๆ

 

สถานการณ์ด้านการตลาดท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

การท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ในยุคที่ความตระหนักต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกำลังเพิ่มขึ้น ได้รับความสำคัญและนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ด้วยผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น การท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมหรือ Responsible Tourism (RT) จึงไม่เพียงแต่มุ่งเน้นการดูแลสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการมีส่วนร่วมทางสังคมและส่งเสริมความยั่งยืนของเศรษฐกิจท้องถิ่นอีกด้วย 

แนวความคิด “สุขพอดี” ที่เน้นการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงกับสิ่งที่มีอยู่รอบตัว อาทิ การบริโภคอาหารที่มีในท้องถิ่น การใช้ชีวิตที่มีความสุขและสุขภาพดี กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจในระดับโลก โดยผสานความสุข (Happiness) สุขภาพดี (Wellness) อาหาร (Food) และความยั่งยืน (Sustainability) เข้าด้วยกัน ซึ่งเชื่อว่าจะยังคงเป็นเทรนด์หลักในอีก 5 ปีข้างหน้า 

ตลาดการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยยังคงเติบโตอย่างช้า ๆ แต่กำลังขยายตัวในกลุ่มตลาดเฉพาะ (Niche Market) ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการที่มีคุณภาพ เช่น โรงแรมระดับ 5 ดาว มีความเข้าใจและปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล จึงจำเป็นต้องมุ่งเน้นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในประเทศไทย ยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาความรู้และความเข้าใจเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวที่จะรองรับกระแสนี้ให้มากขึ้น 

การพัฒนาที่ยั่งยืนในภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยยังพบกับความท้าทายหลายประการ หนึ่งในปัญหาหลักคือความไม่พร้อมในหลายด้าน ประเด็นต่อไปนี้คือการเจาะลึกปัญหาเหล่านั้นและวิธีการที่ควรปฏิบัติเพื่อปรับปรุง

 

1) ขาดความต่อเนื่องของนโยบายและงบประมาณ: หนึ่งในปัญหาหลักคือความไม่ต่อเนื่องของการลงทุนและโครงการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เมื่อขาดงบประมาณหรือนโยบายมีการเปลี่ยนแปลง โครงการเหล่านั้นมักจะถูกทิ้งร้างหรือไม่ได้รับการต่อยอด ส่งผลให้ความพยายามที่ผ่านมาไม่สามารถส่งต่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืนได้

2) ความไม่สมดุลในการกระจายตัวของนักท่องเที่ยว: การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในเมืองหลักไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนท้องถิ่น แต่ยังส่งผลให้เกิดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง (Overtourism) ที่เกิดจากความเข้มข้นของการท่องเที่ยวในพื้นที่จำกัด เพื่อแก้ไขสถานการณ์นี้ จึงควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมเมืองรองเพื่อกระจายนักท่องเที่ยวและรายได้ไปยังพื้นที่อื่น ๆ อย่างทั่วถึง

3) ข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์และการเดินทาง: ระบบการเดินทางและโลจิสติกส์ที่ไม่เอื้ออำนวยเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงเมืองรองและพื้นที่ท่องเที่ยวใหม่ ๆ ดังนั้น ควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางที่ครอบคลุมและทั่วถึงยิ่งขึ้น รวมถึงสนับสนุนการเดินทางหลากหลายรูปแบบ

4) ความไม่สะดวกในการค้นหาข้อมูล: การค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอาจยังไม่สะดวกมากนัก เนื่องจากข้อมูลถูกเผยแพร่อย่างกระจัดกระจาย การรวบรวมข้อมูลไว้ในแหล่งเดียว หรือร่วมมือกับ Online Travel Agency (OTA) อาทิ Booking.com Agoda และ Expedia จะช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลเป็นไปได้สะดวกยิ่งขึ้น เนื่องจากนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จองโรงแรมที่พักผ่านช่องทางเหล่านี้

5) ขาดความพร้อมด้านการรองรับนักท่องเที่ยวในฝั่งผู้ประกอบการ: ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศไทยยังขาดความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวที่มีพฤติกรรมการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อาทิ สถานประกอบการไม่มีการแยกประเภทของถังขยะ ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถแยกขยะก่อนทิ้ง รวมถึงไม่สามารถปฏิบัติตนอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้

 

ด้านความพร้อมของประเทศไทยต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและรับผิดชอบ มีหลายด้านที่แสดงถึงความพยายามและความสำเร็จในระดับหนึ่ง ได้แก่

1) การรับรองมาตรฐานยั่งยืน: ประเทศไทยมีการจัดทำมาตรฐานของตัวเองและได้รับการรับรองจากบริบทโลก รวมทั้งมีการนำมาปฏิบัติจริง อาทิ ผู้ประกอบการหลายแห่งได้รับการรับรองมาตรฐานใบไม้เขียว (Green Leaf) รางวัลกินรี และมีการดำเนินงานตามหลักการความยั่งยืน เช่น การจัดการขยะ การใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า และการสนับสนุนชุมชน

2) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตและการทำงาน (Digital Nomad): ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นจุดหมายสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ด้วยการผสมผสานระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตในท้องถิ่น โดยทำงานและใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายไปพร้อมกัน ด้วยประเทศไทยมีกิจกรรมให้เลือกทำอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้การทำอาหารไทย การเก็บผักสวนครัว การเรียนมวยไทย เป็นต้น ดังนั้น การโปรโมตกิจกรรมเหล่านี้และสร้างความตระหนักถึงประโยชน์ของการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนจึงนับเป็นอีกหนึ่งกุญแจสำคัญ

3) การท่องเที่ยวแบบ “Carbon Neutral”: การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวที่มีคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ เป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ ซึ่งประเทศไทยมีเส้นทางการท่องเที่ยวลักษณะนี้ โดยมีการคำนวณและวางแผนเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ รวมถึงมีการชดเชยคาร์บอนเครดิต เพื่อสนับสนุนการใช้งานที่เป็นมิตรกับผู้ประกอบการ และมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน “CARMACAL” เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวสามารถคำนวณและเข้าใจถึงปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินธุรกิจของตนเอง

4) ผู้ประกอบการบางส่วนใส่ใจเรื่องการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบอย่างจริงจัง: รวมถึงพร้อมเป็นต้นแบบให้ธุรกิจประเภทเดียวกัน โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่มีความพร้อมทั้งในด้านความรู้และการปฏิบัติจริง

5) ด้านราคา: พบว่าประเทศไทยมีจุดแข็งในด้านนี้ โดยมีทั้งสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันงดงาม วัฒนธรรมที่มีความหลากหลาย และกิจกรรมทางสังคมที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสม

สำหรับนักท่องเที่ยวที่มีความพร้อมและมีแนวโน้มท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยนั้น จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พบว่ามีหลากหลายสัญชาติด้วยกัน จากมุมมองของผู้ประกอบการ อาทิ โรงแรมและที่พัก ผู้นำด้านการท่องเที่ยว และอื่น ๆ มีความเห็นที่ตรงกันว่า นักท่องเที่ยวที่พร้อมปรับตัวสำหรับการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคยุโรป เช่น สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก ภูมิภาคอเมริกา เช่น สหรัฐอเมริกา และภูมิภาคเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสิงคโปร์ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจากประเทศเหล่านี้มีความรู้พื้นฐานด้านการรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการบางกลุ่มมีความเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องของอายุนักท่องเที่ยวกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen Z หรือช่วงอายุ 15-27 ปี หรือกลุ่มช่วงอายุไม่เกิน 40 ปี จะมีความสนใจในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีอายุมากกว่า 40 ปี เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้มีความตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในช่วงที่ผ่านมา และเห็นถึงแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ จึงทำให้มีความใส่ใจในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย (ประกอบไปด้วยสวีเดน เดนมาร์ก และนอร์เวย์) 

อย่างไรก็ตาม หากมองในมุมพฤติกรรมการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีความตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะหาข้อมูลก่อนการเดินทางท่องเที่ยว และพำนักในโรงแรมหรือสถานที่ที่มีการรับรองด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีคุณลักษณะดังนี้

1) มีการวางแผนการเดินทาง

2) มีการเตรียมตัว เช่น เตรียมขวดน้ำหรือแก้วน้ำส่วนตัวมาเอง

3) ต้องการข้อมูลที่ชัดเจนก่อนใช้บริการต่าง ๆ

4) มีการค้นหาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ

5) มีการตระหนักถึงการรีไซเคิลขยะ และการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและมีระเบียบ

 

ที่มา:

 1 Future Market Insights, “Responsible Tourism Market”, Accessed March 8, 2024. https://www.futuremarketinsights.com/reports/responsible-tourism-concept-overview-and-highlights

2 Netherlands Development Organization, “The Market for Responsible Tourism Products with a Special Focus on Latin America and Nepal”, Accessed March 8, 2024. The Market for Responsible Tourism Products (bibalex.org)

Share This Story !

2.2 min read,Views: 2032,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤศจิกายน 28, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤศจิกายน 28, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤศจิกายน 28, 2024