“ผังเมือง เวลา กับชีวิตที่ดีขึ้น”

พัชรวรรณ วรพล

 

 

จะดีแค่ไหนหากเมืองของเราจะมีสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกอันครบครันอยู่ในบริเวณที่เราอยู่อาศัย และสามารถเข้าถึงได้ภายในระยะเวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้น

 

“15 Minute City” หรือ “เมือง 15 นาที” เป็นแนวคิดการวางผังเมืองรูปแบบใหม่ โดย Carlos Moreno นักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส-โคลอมเบีย ได้นำแนวคิดนี้มาใช้ภายใต้โครงการ “Ville du quart d’heure” ซึ่งก็คือ “เมือง 15 นาที” ของกรุงปารีส โดยเขาให้ความสำคัญกับการวางผังเมืองโดยมีคนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมให้คนไปไหนมาไหนด้วยการเดิน ขี่จักรยาน และใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้รถส่วนตัว ซึ่งตรงกันข้ามกับการวางผังเมืองแบบเดิมที่จะแบ่งเป็นโซนต่าง ๆ เช่น โซนที่อยู่อาศัย ย่านธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม บันเทิง ฯลฯ ที่คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้พาหนะส่วนตัวไปทำกิจกรรมเหล่านั้น

 

เดิมทีแนวคิดของ “เมือง 15 นาที” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น หากแต่การระบาดของ COVID-19 กระตุ้นแนวคิดนี้ให้แพร่หลาย เนื่องจากผู้คนมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป การมีสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะและพื้นที่อเนกประสงค์อยู่ใกล้บ้านมากขึ้นเพื่อลดการเดินทาง รวมทั้งการให้ความสำคัญกับการสร้างความมีชีวิตชีวาในชุมชนและละแวกใกล้เคียงเพื่อให้สังคมน่าอยู่มากยิ่งขึ้น กลายเป็นวิถีใหม่ที่คุ้นเคย เหตุเพราะหลาย ๆ เมืองต่างเคยต้องรับมือกับความโดดเดี่ยวทางสังคม อันเป็นผลมาจากผู้คนจำนวนมากต้องกักตัวระหว่างการระบาดของ COVID-19

 

 

แล้วทำไมถึงต้องเป็นเวลา 15 นาที? นั่นก็เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่มีความสามารถและเต็มใจที่จะเดินไปทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายในระยะเวลา 15 นาที เพราะฉะนั้นจึงต้องมีการปรับปรุงทางเท้าให้เดินได้อย่างปลอดภัย สะอาด มีความกว้าง ความลาดเอียงที่เหมาะสมจะเป็น “Walk Appeal” ที่ทำให้คนอยากเดินเป็นระยะทางไกลกว่าเดิม ถ้า Walk Appeal ต่ำ คนก็จะเลือกไปขับรถแทน รวมไปถึงการสร้างเลนจักรยานให้กว้างขวางและครอบคลุม อีกทั้งสร้างจุดให้บริการแบ่งปันจักรยานเพิ่มมากขึ้นด้วย

 

อาคารเดียวแต่ใช้งานได้หลากหลาย อาคารร้างสามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่ทำงานร่วมกัน โรงเรียนสามารถเปิดให้ชุมชนใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ สนามกีฬาในตอนกลางวันสามารถเปลี่ยนเป็นดิสโก้เธคในตอนกลางคืน คาเฟ่สามารถจัดชั้นเรียนภาษาในตอนเย็น และอาคารสาธารณะก็สามารถจัดคอนเสิร์ตในช่วงสุดสัปดาห์ได้

 

 

แนวคิดนี้ยังจุดประกายให้กับเมืองอื่น ๆ ทั่วโลกอีกด้วย เช่น กรุงสตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ที่กำลังก้าวไปอีกขั้นกับโครงการ “The One Minute City” หรือ “เมือง 1 นาที” โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาถนนสายเดียว กับความคิดริเริ่มที่เรียกว่า “Street Moves” โดยมีเป้าหมายเพื่อลดมลพิษ ตอบสนองความต้องการพื้นที่สีเขียว และเพิ่มสถานที่พบปะพูดคุยของคนในเมืองให้มากขึ้น สร้างสีสันแก่เมืองให้เต็มไปด้วยวัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่าง และสภาพแวดล้อมที่มีความหลากหลายทางชีวภาพที่ส่งผลดีต่อสุขภาพ สามารถแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข และยังมีส่วนช่วยลดต้นทุนด้านการรักษาพยาบาลอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีแนวคิดสำคัญคือกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในการออกแบบและการดูแลรักษา เพราะพวกเขาคือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้พื้นที่เหล่านี้ สวีเดนมีแผนดำเนินโครงการ “The One Minute City” ทั่วประเทศ เพื่อให้คนบนถนนทุกสายในสวีเดนมีสุขภาพที่ดี ยั่งยืน และมีชีวิตชีวา ภายในปี 2030

เมืองพอร์ตแลนด์ ในสหรัฐอเมริกา กำลังพัฒนาการวางแผนผังเมือง โดยให้ความสำคัญต่อการปรับปรุงและสร้างทางเท้าเพื่อให้คนสามารถเดินได้ไกลขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดอัตราโรคอ้วนที่เพิ่มขึ้นในสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังสร้างที่อยู่อาศัยราคาไม่แพง และสนับสนุนการมีส่วนร่วมทางสังคมของชุมชน

 

 

เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน หลังจากประสบปัญหาด้านมลพิษและความหนาแน่นของประชากรอย่างหนัก ทำให้เกิดการเร่งรัดนโยบายเพื่อแก้ปัญหาการใช้รถใช้ถนน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือไอเดีย “Superblock” ซึ่งก็คือการรวมบล็อกเล็ก ๆ ที่อยู่ติดกันจำนวน 9 บล็อก ให้กลายเป็น 1 บล็อกขนาดใหญ่ ซึ่งใน Superblock นั้นจะปิดเส้นทางจราจรสำหรับรถใหญ่ ทำให้ชาวเมืองในละแวกใกล้เคียงมีพื้นที่สีเขียว และได้ถนนกลับคืนมาสำหรับประกอบกิจกรรมสาธารณะเพิ่มขึ้น

 

 

กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ก็ผุดโครงการ “Project H1” ภายใต้แนวคิด “10-Minute City” ซึ่งเป็นแผนพัฒนาที่มุ่งจะยกระดับคุณภาพชีวิตประชากร และต้องการสร้างย่านที่ผู้คนสามารถเดินไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบายโดยไม่ต้องใช้รถยนต์ภายในเวลา 10 นาที โดยการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งโรงงานเก่า ๆ ให้กลายเป็น “Smart City” ผสมผสานอาคารสำหรับอยู่อาศัย 8 อาคาร กับออฟฟิศแบบ co-working ให้มาอยู่ด้วยกัน รวมถึงสถานบันเทิง ฟิตเนส สระว่ายน้ำ และสวนไฮโดรโปรนิกส์ในอาคาร โครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2024

 

20Minute Neighbourhoods” หนึ่งในโครงการของ Plan Melbourne 2017–2050 เป็นกลยุทธ์การวางแผนระยะยาวของรัฐวิกตอเรีย ประเทศออสเตรเลีย ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของ “พื้นที่ของการใช้ชีวิต” ทั้งอยู่อาศัย ทำงาน และพักผ่อนในสถานที่ที่เชื่อมต่อกัน ผ่านการเดิน ขี่จักรยาน หรือการคมนาคมอื่น ๆ ในท้องถิ่นอย่างปลอดภัยภายในเวลา 20 นาที

 

สำหรับกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ก็มีแนวคิดเรื่อง “เมือง 15 นาที” โดยต้องการให้คนในกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะเพื่อการพักผ่อนใกล้บ้านได้ภายใน 15 นาที โดยการเพิ่มพื้นที่ใหม่จากการจัดการพื้นที่ว่าง ที่รกร้าง ที่ดินรอการพัฒนา หรือสถานที่ราชการที่มีอยู่เดิม ให้เป็นพื้นที่สีเขียวกระจายไปทั่วเมือง คนหรือชุมชนในละแวกนั้นจะได้สามารถเข้าถึงได้ง่าย

 

แนวคิดในการพัฒนาเปลี่ยนแปลงผังเมืองนี้นอกจากจะทำให้คนในเมืองสะดวกสบาย และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังมีประโยชน์ในด้านของสุขภาพอีกด้วย เหมือนอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่เน้นขจัดโรคอ้วนโดยการให้คนหันมาเดินแทนการใช้รถ หรือจะเป็นในเรื่องของความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถซื้อรถยนต์ส่วนตัว จักรยาน หรือต้องมีภาระเพิ่มขึ้นจากค่ารถประจำทาง ก็สามารถเดินไปใช้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกที่ต้องการได้ภายใน 15 นาที นอกจากนี้เมื่อความจำเป็นในการขนส่งลดลง การใช้เชื้อเพลิงก็ลดลง ทำให้ช่วยลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม มีข้อท้วงติงสำหรับคนพิการที่ไม่สามารถเดินได้ จะทำอย่างไร? ซึ่งผู้รับผิดชอบโครงการก็ต้องหาทางแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้ อย่างเช่นรถประจำทางที่ต้องทำทางขึ้น-ลง พร้อมทั้งเพิ่มพื้นที่ให้สามารถเข็นรถวีลแชร์เข้าไปได้ง่าย การทำทางเดินที่ปราศจากสิ่งกีดขวางแต่ต้องมีราวจับ เป็นต้น เพราะฉะนั้นการวางแผนสำหรับกลุ่มผู้ที่มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง เพราะไม่สามารถใช้มาตรฐานความสามารถในการเดินดังกล่าวได้

 

อ้างอิง
https://www.dezeen.com/2021/10/26/15-minute-city-carlos-moreno-obel-award
https://sustainablemobility.iclei.org/15-minute-delivery-in-the-15-minute-city
https://www.barcelona.cat/infobarcelona/en/tema/urban-planning-and-infrastructures/turning-barcelona-into-a-big-superblock_1005852.html
https://www.barcelona.cat/pla-superilla-barcelona/en
http://www.rocagallery.com/the-one-minute-city
https://www.15minutecity.com/blog/hello
https://www.planning.vic.gov.au/policy-and-strategy/planning-for-melbourne/plan-melbourne/20-minute-neighbourhood
https://www.chadchart.com/policy/6217294d4e43cd8b4760bc6c/
https://www.c40knowledgehub.org/s/article/How-to-build-back-better-with-a-15-minute-city?language=en

 

Share This Story !

2.8 min read,Views: 1732,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    มกราคม 7, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    มกราคม 7, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    มกราคม 7, 2025