
JOURNEY to the NEXT เดินทางครั้งใหม่…พร้อมไปกันต่อ
ดารารัตน์ ภูธร
บทสัมภาษณ์ คุณบาส เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ZAAP PARTY จากงานสัมมนาเครือข่ายพันธมิตรด้านวิชาการการท่องเที่ยวประจำปี 2563
โดย งานวิชาการและห้องสมุด กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว
Tourism Innovation นวัตกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ไม่ติดกรอบเดิม
บาส – เทพวรรณ คณินวรพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ZAAP PARTY เริ่มรับจัดปาร์ตี้ตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย และอยากพิสูจน์ว่าสิ่งที่ทำเป็นธุรกิจได้จริง ๆ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การจัดปาร์ตี้ คอนเสิร์ต เทศกาลดนตรี หรือเป็นออแกไนเซอร์ทั่วไป
เป้าหมายของ ZAAP PARTY ก่อนมี COVID-19
ช่วงก่อน COVID-19 ธุรกิจของทุกคนก็น่าจะดีกันหมด อีเวนต์ออแกไนเซอร์ของพวกเราก็กำลังมาแรงมากในหมู่วัยรุ่น จากการลงทุนแรกเริ่ม 50,000 บาท ก็สามารถเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาทภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ซึ่งในปี 2562 นั้น มีอีเวนต์ที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดงานหนึ่ง คือ S2O Songkran Music Festival เป็นปาร์ตี้สงกรานต์ที่จัดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากชาวต่างชาติ โดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียจะเดินทางมาร่วมงานกันเป็นจำนวนมาก โดยที่ผ่านมา เคยจัดงานมาแล้วในประเทศญี่ปุ่น ไต้หวัน และยังมีอีกหลายประเทศที่อยากไปจัดงาน แต่ต้องมาหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เสียก่อน โดยปกติทางบริษัทพยายามสร้างงานอีเวนต์ที่อิงกับช่วงเทศกาลของไทยอยู่แล้ว ซึ่งก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย คือ พอถึงช่วงเทศกาล บริษัทจะได้รับงานเยอะมาก แต่พอหมดหน้าเทศกาลก็จะไม่มีรายได้เลย อย่างเช่น ช่วงเทศกาลสงกรานต์
หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าคนไทยมีของดีที่เกี่ยวกับอีเวนต์ออแกไนเซอร์เยอะมากหากถามว่าเกี่ยวกับการท่องเที่ยวอย่างไร งานมิวสิคเฟสติวัลหรืองานอีเวนต์นั้นทำให้เกิดการรวมตัวของผู้คน ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะคนไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวต่างชาติที่ข้ามน้ำข้ามทะเลบินมาเที่ยวที่ประเทศไทย สร้างรายได้ให้กับธุรกิจต่าง ๆ ของประเทศไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร หรืออยู่เพื่อท่องเที่ยวต่อ
ผลกระทบที่ได้รับจาก COVID-19
ธุรกิจเราเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพราะเป็นการรวมตัวของผู้คน และเป็นธุรกิจแรก ๆ ที่โดนผลกระทบจาก COVID-19 ต้องหยุดการจัดงานอีเวนต์ ที่ผ่านมาเราเจอมาทุกรูปแบบหลายเหตุการณ์รวมถึงสึนามิ
แต่ครั้งนี้มันใหม่กว่าทุกครั้งที่เจอเพราะไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไร อย่างเช่น สงกรานต์ช่วงเดือนเมษายนแค่เดือนเดียว รายได้หายไปเทียบแล้วเป็นสัดส่วนที่มากถึง 30-40% ของรายได้ทั้งปี เพราะรายได้ส่วนใหญ่ของ ZAAP PARTY นั้นมาจากการจัดงานในช่วงสงกรานต์เป็นหลัก แต่บริษัทยังคงจ่ายเงินเดือนพนักงาน จึงต้องยืมเงินผู้ถือหุ้นมาช่วยเหลือกันก่อน ซึ่งนับว่าเป็นเหตุการณ์ที่ดีที่ทำให้เราได้เห็นการช่วยเหลือของทีมที่ทำให้บริษัทสามารถเดินหน้าต่อไปได้
การวางแผนและการปรับตัว
ตอนแรกยอมรับว่าตกใจ แต่สิ่งแรกที่เราต้องรับมือก่อนคือความกลัว เราน่าจะเป็นบริษัทแรก ๆ ที่บอกพนักงานว่าให้ Work From Home ทันทีหลังจากมีเหตุการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 เพราะธุรกิจอย่างพวกเราต้องใช้ Creativity ในการสร้างสรรค์ผลงาน ผมเลยเชื่อว่าถ้าพนักงานมีความหวาดกลัวหรือระแวงในการออกจากบ้านหรือการใช้บริการขนส่งสาธารณะก็จะไม่สามารถสร้างผลงานที่ดีได้
แนวคิดในการรับมือกับ COVID-19
จากการนัดเจอพนักงานเดือนละครั้งช่วง Work From Home ทำให้ทราบว่า ข้อดีของการทำงานที่บ้าน คือ ทุกคนได้ลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร ปลูกต้นไม้ ทำขนมขายออนไลน์ เหมือนเทรนด์ทั่ว ๆ ไป โดยที่พวกเขาไม่รู้ตัว ผมเลยถามต่อว่าพวกเราจะทำอะไรกันดี ด้วยคำถามง่าย ๆ นี้ ทำให้เราเกิดไอเดียจากการที่เราได้อยู่บ้านเพราะแทนที่จะอยู่แค่กับโต๊ะทำงาน ก็จะได้อยู่ในโลกออนไลน์หรืออยู่ในชีวิตมากขึ้น อยู่กับครอบครัวมากขึ้น ผมมองเป็นเรื่องที่ดีเพราะทำให้ได้เห็นหลาย ๆ มิติ ได้เห็นงานรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่แค่การจัดอีเวนต์รูปแบบเดิม ๆ ทำให้ผมมีคลังไอเดียตั้งแต่ตอนมี COVID-19 สะสมมาจนถึงตอนนี้ อย่างเช่น ครีเอทีฟใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์คิดงานได้ 16 งาน เพราะการที่มีเวลาว่างทำให้ไอเดียเกิดขึ้นมาเองจากการเปลี่ยนวิธีคิด เลยได้ข้อสังเกตว่าการให้คนได้ลองเห็นอะไรใหม่ ๆ สายตาหลายคู่จะได้มองเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน แล้วเอามาแชร์กัน กลายเป็นเครื่องมือใหม่ที่เพิ่งค้นพบและนำมาใช้ในการคิดงาน นั่นก็คือการเอาข้อจำกัดต่าง ๆ ของ COVID-19 เป็นตัวตั้ง ศึกษากติกาข้อกำหนด เช่น มาตรฐาน SHA (Amazing Thailand Safety and Health Administration) แล้วนำมาใช้ร่วมกับเครื่องมือที่เรียกว่า 3C ได้แก่ Creativity Collaboration Consumer Creativity
หากพูดถึงความคิดสร้างสรรค์ เรามักจะนึกถึงการมองหาสิ่งใหม่ ๆ แต่ผมคิดต่างจากนั้น ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีในยุค COVID-19 ที่จะทำให้รอดและทำได้เร็วคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งอาจจะไม่จำกัดแค่ในประเทศไทย ศึกษาหาไอเดียและ Reference จากงานในต่างประเทศ ดูความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดขึ้นแล้วนำมาประยุกต์ใช้ ยกตัวอย่างเช่น คอนเสิร์ตแบบ Drive-in ที่เดนมาร์ก เราได้นำไอเดียนี้มาผสมผสานกับความเป็นไทย จนเกิดเป็นงาน “Amazing Thailand TUKTUK Festival” ซึ่งเป็นงานที่ให้ผู้เข้าชมได้ดูคอนเสิร์ตขณะนั่งอยู่บนรถตุ๊กตุ๊กจำนวน 200 คันครั้งแรกในโลก เป็นสิ่งใหม่ที่ต่อยอดจากสิ่งเก่า โดยนำ Reference มาปรับให้เข้ากับบริบทของไทย นอกจากสร้างความสนุกแล้ว ยังทำให้เกิดการจ้างงานและช่วยสร้างรายได้แก่ศิลปิน ทีมงาน และซัพพลายเออร์ต่าง ๆ อีกด้วย
Collaboration
ความร่วมมือ เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นผลเร็วที่สุดและให้ผลลัพธ์ดีที่สุด ต่อยอดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ เช่น ผู้คนที่กรุงปารีสออกมาเล่นดนตรีริมระเบียงช่วงที่มี COVID-19 ถือเป็น Social Distancing โดยอัตโนมัติ เราจึงเอาไอเดียนี้มาปรับใช้ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรม โดยให้ผู้ชมดูคอนเสิร์ตที่เล่นอยู่ด้านล่างจากบนระเบียง ซึ่งการ Collaboration มีความสำคัญกับออแกไนเซอร์อย่างเราที่ไม่มีศิลปินในมือจึงต้องขอความร่วมมือจากค่ายเพลง Muzik Move และ Sneak Out หนีเที่ยว เพจท่องเที่ยวชื่อดังมาช่วยเหลือในการประสานงานกับโรงแรมและประชาสัมพันธ์งาน จนกลายเป็น “Hotel Fest มันส์สุดเหวี่ยง ริมระเบียงก็ได้” จากการจัดงานครั้งนี้ได้รับฟีดแบ็กดีมาก ๆ และที่สำคัญคือการได้เห็น New Business Model จากการร่วมมือกัน จนทำให้เกิดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่นำเอา Entertainment มารวมเข้ากับการท่องเที่ยว เพราะทุกวันนี้เราอยู่คนเดียวไม่ได้ ถ้าไม่ร่วมมือกัน งานเหล่านี้ก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ซึ่งเทคนิคในการ Collab คือการเลือก เลือกในสิ่งที่เราไม่ถนัดแต่อีกฝ่ายถนัด หาคนที่จะมาเติมเต็มส่วนที่เราขาด เพราะถ้าหากเราเลือกได้ดีมันก็จะแฟร์กับทุกฝ่าย
Consumer
ผู้บริโภคเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เราต้องเปลี่ยนความคิดให้เข้าใจผู้อื่นตลอดเวลาโดยเฉพาะ Consumer Insight การไม่สามารถท่องเที่ยวแบบเดิมได้และวิธีการท่องเที่ยวมีการเปลี่ยนรูปแบบอยู่ตลอดเวลา ผมใช้โซเชียลมีเดียในการหา Consumer Insight สังเกตเทรนด์จากสิ่งที่คนแชร์กันเยอะ ๆ นำไปต่อยอดกับธุรกิจโรงแรม ซึ่งโรงแรมในปัจจุบันไม่ได้ขายแค่ห้องพัก แต่ยังมีจุดขายมากมาย และบริการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสอนเล่นเซิร์ฟเปิดพื้นที่ให้กางเต็นท์ จัดซุ้มดอกไม้สำหรับถ่ายรูป เป็นต้น เป็นการใช้โซเชียลมีเดียให้เป็นประโยชน์โดยการนำเอา Reference มาปรับใช้ เช่น สวนสาธารณะ Domino Park ที่นครนิวยอร์กได้สร้างวงกลมรักษาระยะห่างเราสังเกตเห็นถึง Consumer Insight ว่าเทรนด์ Camping กำลังมา เราจึงชวนพาร์ทเนอร์มาร่วมทำงานด้วยกัน นำเอา Reference นี้รวมกับ Creativity จนเกิดงานที่ชื่อว่า “Social This Camping” ซึ่งล้อกับคำว่า Social Distancing โดยให้ผู้ร่วมงานกว่า 3,000 คนมาตั้งแคมป์กันที่ The Green Chayana Resort Mae chan จังหวัดเชียงราย ที่จริงแล้วเมื่อก่อนผมเองไม่คิดว่าจะได้มีโอกาสจัดอีเวนต์หรือมีความรู้เกี่ยวกับ Camping จนได้เจอกับโซเชียลมีเดียที่ทำให้ได้เห็น Consumer Insight ใหม่ ๆ เราต้องจับจุดให้ได้ว่าผู้บริโภคชาวไทยชอบอะไร อยากทำอะไร ในตอนที่ไม่สามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้ นอกจากนี้ยังลองทำกิจกรรมด้วยตนเอง เช่น ดำน้ำ ตั้งแคมป์ เพื่อศึกษาเกี่ยวกับความสนใจของผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อความฝันในวัยเด็กที่เปลี่ยนไป
สิ่งที่ฝันไว้ต้องเปลี่ยนแน่นอน ไม่อย่างนั้นคงอยู่ไม่ได้ คงล้มอยู่กับฝันลม ๆ แล้ง ๆ ที่ไม่มีทางเกิดขึ้นจริง คนอื่นอาจจะถือคติว่าฝันให้ไกลไปให้ถึง อาจจะฟังดูแปลกแต่ผมถือคติว่าต้องเปลี่ยนฝันทุกวัน ขอให้มีรายได้กลับมาบ้าง ขอให้สร้างงานได้ ขอให้ไม่มีหนี้ เปลี่ยนฝันไปเรื่อย ๆ ก็ทำให้มีความสุขแล้ว ฝันในวันนี้ต้องเกิดขึ้นจริงถึงจะมีความสุข เพราะฉะนั้นจึงไม่สามารถกลับไปฝันเหมือนเดิมได้แล้ว
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
COVID-19 สอนบทเรียนใหญ่ที่สุดเรื่องหนึ่งให้ผม คือ ทำให้ผมได้เริ่มต้นใหม่ กลับไปเป็นบาสที่ไม่มีอะไรเลย แต่เป็นการเริ่มต้นที่มากับประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่เราสะสมมา ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนเคยเจอการเริ่มต้นใหม่ ผมอยากให้กำลังใจว่ามันเป็นการเริ่มต้นที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งมาพร้อมกับประสบการณ์และทักษะ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะยอมแพ้หรือเปล่า หรือจะต่อยอด หรือยอมรับมัน เพราะเราไม่สามารถบังคับหรือเปลี่ยนกติกาได้ แต่เราควรอยู่กับมันให้ได้ดีกว่า ถ้าเราทำได้ก็จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส เริ่มใหม่ไปด้วยกันทั่วโลก เพราะฉะนั้นจึงไม่มีใครได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะเริ่มใหม่หรือเปล่า หรือยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิม