500 ปี ลีโอนาร์โด ดาวินชี จากรอยยิ้มของ โมนาลิซา ถึง ยิ้มสยาม

Leonardo da Vinci was described as a Renaissance Man or a Universal Genius, as he was knowledgeable and excellent in various fields. Despite his not being high-born, never studied Latin nor mathematics, not a   theoretical expert, da Vinci’s remarkable characteristic was his sense of observance, which was so keen and deep, as apparent from his portrait painting of ‘Mona Lisa’. This was a result of the study about hidden messages underneath a facial complexion.

นิยามที่ใครๆ ก็มอบให้กับลีโอนาร์โด ดาวินชี คือคำว่า ‘เรเนสซองส์แมน’ (Renaissance Man) ซึ่งมีความหมายแบบเดียวกับคำว่า ‘อัจฉริยะสากล’ หรือ Universal Genius

หลังความตายของดาวินชี 500 ปี โลกยังคงพบว่า ดาวินชีเป็นอย่างนั้นจริงๆ เขาคือ ‘แก่นแท้’ ของความเป็นเรเนสซองส์แมน เป็นคนที่รอบรู้และเป็นเลิศในหลากหลายศาสตร์พร้อมๆ กัน

‘ความลับ’ ในความเก่งกาจของดาวินชีอยู่ที่ไหน?

ผมชอบคิดอยู่บ่อยๆ ว่าที่ดาวินชีเก่งและรู้รอบเช่นนี้ อาจเป็นเพราะเขามีกำเนิดที่ไม่ได้สูงส่งอะไรนักหนาก็ได้ ที่จริงแล้ว เขาเป็นลูกนอกสมรสของ เปียโร ดาวินชี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กฎหมายที่ไม่ได้สูงส่งอะไร กับหญิงชาวนาชื่อ คาเทรินา ซึ่งก็แน่นอน เขาเกิดที่เมืองวินชีในแถบฟลอเรนซ์

ความที่ไม่ได้มีกำเนิดสูงส่งอะไรนักหนา ทำให้เขาไม่ได้รับการศึกษาเล่าเรียนในภาษาละตินและคณิตศาสตร์อย่างเป็นทางการ นั่นทำให้เขาไม่เชี่ยวชาญแม่นยำในเรื่องทฤษฎี เพราะไม่ได้ถูกฝึกปรือให้เล่าเรียนมาตั้งแต่ต้น

แต่สิ่งหนึ่งที่ดาวินชีมี และมีอย่างโดดเด่นเสียด้วย ก็คือการใช้วิธีสังเกต เขาพยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ด้วยการสังเกต จากนั้นก็ลองบอกเล่าหรือวาดออกมาเป็นภาพ ซึ่งต้องบอกว่า ‘พลังแห่งการสังเกต’ ของเขานั้น ละเอียดถี่ถ้วนและลึกซึ้งมาก เขาไม่ได้พยายามจะอธิบายออกมาเป็นทฤษฎีที่สอดคล้องต้องกัน นักวิชาการร่วมสมัยกับเขาหลายคนไม่มองว่าเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ เพราะเขาไม่สามารถอธิบายอะไรออกมาเป็นภาษาละตินได้ดีนัก แม้ว่าดาวินชีจะเรียนรู้ภาษาละตินด้วยตัวเองก็ตามที ฟริตจอฟ คาปรา (Fritjof Capra) นักฟิสิกส์ นักทฤษฎีเชิงระบบ และนักนิเวศวิทยาเชิงลึก เจ้าของหนังสือ ‘เต๋าแห่งฟิสิกส์’ และ ‘โยงใยที่ซ่อนเร้น’ เคยบอกไว้ว่า ดาวินชีนั้น โดยเนื้อแท้เป็นนักวิทยาศาสตร์

แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ไม่เหมือนกับ กาลิเลโอ นิวตัน หรือนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เพราะ ‘วิธีเข้าถึง’ วิทยาศาสตร์ของดาวินชีนั้นต่างออกไป เขาไม่ได้เข้าถึงด้วยการมองจาก ‘ข้างบน’ ลงมาแบบมุมมองนก เพื่อจะได้เห็น ‘โครงสร้างใหญ่’ ของเรื่องที่กำลังศึกษาอยู่ อย่างที่นักวิทยาศาสตร์อื่นๆ ใช้กัน วิธีแบบนี้เรียกว่า Conceptualization หรือการมองให้เห็น ‘มโนทัศน์’ ใหญ่ แล้วค่อยเจาะลึกลงไปหารายละเอียด แม้แต่ไอน์สไตน์ก็มีวิธีมองโลกแบบนี้เหมือนกัน แต่ดาวินชีไม่ได้เป็นอย่างนั้น คาปราบอกว่าความที่ดาวินชีเป็นเรเนสซองส์แมน วิธีตั้งทฤษฎีและข้อสันนิษฐานของเขาจะพุ่งดิ่งตรงลึกไปที่ ‘รายละเอียด’ เสียก่อน แล้วจากนั้นถึงค่อยๆ เกิดเป็นทฤษฎี ในภาษาที่ไม่ใช่ทฤษฎีที่นักวิทยาศาสตร์ยุคนั้นคุ้นเคย (ที่จริงจะบอกว่าคนยุคนั้นเป็น ‘นักวิทยาศาสตร์’ ก็ไม่เชิงนะครับ เพราะวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ใหม่ เกิดหลังจากยุคของดาวินชีระยะหนึ่ง)

หลายคนอาจคุ้นเคยกับภาพวาดที่น่าจะโด่งดังที่สุดในโลกอย่างภาพของโมนาลิซา เสียจนไม่รู้สึกว่าภาพนี้มีความลึกลับอะไรซุกซ่อนอยู่ เพราะกระทั่งรอยยิ้มที่ดูเย้ายวนลี้ลับของเธอ ก็ถูกนำมาตีความ วิเคราะห์ รวมไปถึงวิแคะแกะเกา และกระทั่งเป็นฐานให้กับการสร้างเรื่องแต่งจำนวนมาก จนพูดได้ว่า โมนาลิซาแทบไม่เหลือ ‘ความลับ’ อะไรอีกต่อไปแล้ว

แต่กระนั้น ภาพที่เชื่อกันว่าดาวินชีเริ่มวาดครั้งแรกในปี 1503 และใช้เวลาวาดต่อมาอีกเกือบ 16 ปีถึงจะเสร็จสิ้นสมบูรณ์นั้น ภาพนี้ก็ยังมีความลับบางอย่างซ่อนอยู่ และเป็นความลับที่จะพาเราไปพบกับ ‘วิธีเข้าถึง’ การทำงานทั้งทางศิลปะและทางวิทยาศาสตร์ในแบบดาวินชีด้วย

โมนาลิซา เป็นภาพวาดที่รวมเอาศิลปะ วิทยาศาสตร์ การลวงตา (Illusions) และ ทัศนศาสตร์ (Optics) เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งหมดนี้ซ่อนตัวอยู่เงียบงันเบื้องหลังรอยยิ้มที่ยากตีความนั้น

ผู้รู้ในด้านประวัติศาสตร์ศิลป์บอกว่า ภาพของโมนาลิซานั้น เริ่มต้นตั้งแต่การเลือกแผงไม้ที่ใช้วาดภาพลงไปบนนั้นเลย มันเป็นไม้ที่มาจากตรงกลางของลำต้นพอพลาร์ แล้วดาวินชีก็ทาสีรองพื้นเป็นสีขาวแบบ Lead White ซึ่งในยุคสมัยโน้นไม่นิยมใช้กัน สมัยนั้นจะใช้ผงชอล์กและสีมากกว่า มีคนวิเคราะห์ว่า ที่ดาวินชีทำแบบนี้ เพราะเขารู้ว่าสีขาวของLead White จะสะท้อนแสงออกมามากกว่า และเป็นการสะท้อนจาก‘ฐาน’ ของชั้นสีที่อยู่ด้านในลึกที่สุด ทำให้เกิดมนตราเวลามอง คือมีความมลังเมลืองบางอย่างที่เกิดจากแสง

ที่สำคัญก็คือ สีขาวที่เป็นฐานด้านหลังนั้น จะถูกระบายทับด้วยสีสันที่อยู่ด้านบน คือสีของภาพ ดังนั้นจึงจะเกิดการ ‘เล่นล้อ’ ระหว่างแสง (Interplay) คือแสงที่สะท้อนออกมาจากสีขาวด้านหลัง กับแสงที่เต้นเร่าออกมาจากสีด้านบน ทำให้เกิดมายาของแสงต่อดวงตาของเรา ทำให้เกิผลลึกเข้าไปในการทำงานของสมอง ในแบบที่เราอาจไม่เข้าใจหรือไม่รู้ตัวในทันที เมื่อดูภาพรวมๆ แล้ว โมนาลิซาจึงเปี่ยมไปด้วยความลึกลับบางอย่าง

ดาวินชียังใช้เทคนิคการวาดอื่นๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งทำให้ภาพโมนาลิซาออกมาเหมือนกับภาพสามมิติ ดูมีความลึก แต่แค่เทคนิคการวาดยังไม่ใช่ความลับทั้งหมดของโมนาลิซา และอาจไม่ใช่ความลับที่สำคัญเท่าไหร่ด้วย

เพราะความลับที่แท้จริงของโมนาลิซา – อยู่ที่ศพ!

ช่วงเวลาเดียวกับที่ดาวินชีกำลังวาดภาพโมนาลิซา ในตอนกลางคืน เขาจะไปขลุกง่วนอยู่กับห้องดับจิตในโรงพยาบาลซานตามาเรียนูโอวา (Santa Maria Nuova) ที่อยู่ใกล้กับสตูดิโอในเมืองฟลอเรนซ์ของเขา

เขาไปทำอะไรที่นั่น?

สิ่งที่ดาวินชีทำ ก็คือการค่อยๆ ‘ลอก’ เอาผิวหน้าของศพออกมา แล้วเขาก็ศึกษากล้ามเนื้อและเส้นประสาทที่ฝังอยู่ข้างใต้ เขาไม่ได้ทำเพื่อเหตุผลใดเหตุผลเดียว เช่น ไม่ได้ทำเพราะอยากศึกษากล้ามเนื้อเพื่อนำมาทำงานศิลปะ หรือไม่ได้ศึกษาเพื่อวัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ แต่เขาผ่าตัดใบหน้าศพออกมาดู ก็เพื่อเหตุผลทั้งปวงในโลกนี้รวมกัน

นั่นคือเหตุผลของความรู้

รอยยิ้มของโมนาลิซา คือผลพลอยได้จากการศึกษาเพื่อหา ‘ความรู้’ ที่ซ่อนอยู่ใต้ผิวหน้าของคน สิ่งที่อยู่ในนั้น ไม่ได้มีแค่เรื่องราวแข็งๆ อย่างการเรียงตัวและความสัมพันธ์ของกล้ามเนื้อมัดต่างๆ เท่านั้น แต่กล้ามเนื้อ เหล่านั้น สร้าง ‘รอยยิ้ม’ ที่เคยทำให้ผู้คนคลั่งไคล้ใหลหลงได้อย่างไร

ดาวินชีค่อยๆ ตื่นตาตื่นใจกับการก่อเกิดของรอยยิ้ม เขาวิเคราะห์ทุกส่วนของใบหน้าที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวและควบคุมกล้ามเนื้อ เขายังสนใจเป็นพิเศษกับความสัมพันธ์ของระบบประสาทกับสมอง ที่ตีความออกมาเป็นรอยยิ้มดังกล่าวด้วย เขาเคยเขียนเอาไว้ว่า กระดูกสันหลังคือที่มาของระบบประสาทที่ทำให้เกิดการขยับของแขนขา ซึ่งเป็นการคาดเดาที่ล้ำยุคและถูกต้อง

รอยยิ้มของโมนาลิซา เกิดขึ้นจากการศึกษากล้ามเนื้อที่ควบคุมริมฝีปาก แต่การผ่าริมฝีปากของศพเป็นงานที่ยากมาก เนื่องจากกล้ามเนื้อของริมฝีปากนั้นเป็นกล้ามเนื้อมัดเล็กจิ๋ว แถมยังมีมากและอยู่ลึกลงไปใต้ผิวหนังด้วย ดาวินชีตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า กล้ามเนื้อที่ทำให้ริมฝีปากของมนุษยขยับนั้น มีมากมายหลายมัดยิ่งกว่าในสัตว์อื่นใด กล้ามเนื้อที่เชื่อมโยงมาสู่การขยับของริมฝีปากนั้น มีทั้งกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นเพื่อทำให้ริมฝีปากเปลี่ยนไปสู่ตำแหน่งต่างๆ และมีกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ ‘หยุด’ การขยับไปอยู่ในตำแหน่งนั้นด้วย

ก่อนหน้าที่จะศึกษาใบหน้าของมนุษย์ ดาวินชีเคยศึกษาใบหน้าของม้ามาก่อน เขาบอกว่ากล้ามเนื้อของม้าใหญ่กว่าของมนุษย์มาก แต่การศึกษากล้ามเนื้อที่ทำให้ม้าทำจมูกพะเยิบได้นั้น ทำให้เขาเข้าใจการทำงานของกล้ามเนื้อบริเวณจมูกของมนุษย์ เพราะมันมีลักษณะแบบเดียวกัน

ดาวินชีน่าจะเป็นศิลปินคนแรกและคนเดียวที่ ‘ผ่าศพ’ ด้วยมือของตัวเอง โดยไม่ได้ผ่าที่ร่างกาย แต่ผ่าบริเวณใบหน้าเพื่อใช้ ‘พลังแห่งการสังเกต’ พินิจพิจารณากล้ามเนื้อมัดจิ๋วๆ ทั้งหลาย เขาสนใจบทบาทของเส้นประสาทที่ส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อเป็นพิเศษ เขาตั้งคำถามว่า ระบบประสาทที่เกี่ยวพันกับสมองและกระดูกสันหลังนั้นแตกต่างกันอย่างไร เขายังศึกษากล้ามเนื้อที่ดึงรั้งแก้มและทำให้ริมฝีปากขยับ รวมถึงวิธีการที่กล้ามเนื้อของริมฝีปากไปดึงกล้ามเนื้อที่อยู่ด้านในของผนังแก้มด้วย และการค้นพบสำคัญของดาวินชี (ที่มีผลต่อโมนาลิซา) ก็คือ เราสามารถย่นริมฝีปากไดด้วยการทำให้กล้ามเนื้อที่บริเวณริมฝีปากล่างหดตัว เราทำให้ริมฝีปากทั้งบนและล่างย่นได้ด้วยการหดกล้ามเนื้อทั้งด้านบนและล่าง หรือแม้แต่กล้ามเนื้อที่ริมฝีปากล่างอย่างเดียว แต่เราสามารถย่นริมฝีปากบนได้เพียงอย่างเดียว

การค้นพบนี้เป็นการค้นพบเล็กๆ แต่กลับมีความสำคัญยิ่งใหญ่ต่อการวาดภาพโมนาลิซา เพราะทำให้เกิดความสมจริงในรอยยิ้มขึ้นมาอย่างที่ไม่มีใครทำได้มาก่อน

นอกจากนี้ เรื่องของทัศนศาสตร์หรือ Optics ดาวินชีก็เก่งกาจมาก เขาไม่ได้สนใจแค่เรื่องความงามเท่านั้น แต่ดาวินชียังสังเกตเห็นด้วยว่าเมื่อรังสีของแสงส่องกระทบดวงตา รังสีไม่ได้ส่องเข้าไปที่จุดใดจุดหนึ่งเท่านั้น แต่จะตกกระทบม่านตา หรือ Retina ทั้งหมด แล้วตรงกลางของม่านตาที่เรียกว่า โฟเวีย (Fovea) นั้น จะมีเซลล์รูปโคนอัดแน่นเป็นพิเศษ เซลล์นี้จะมองเห็นรายละเอียดเล็กๆ ได้ดีมาก ส่วนรอบๆ บริเวณโฟเวีย จะเป็นเซลล์รูปแท่งที่รับรู้แสงเงาและเฉดขาวดำได้ดี ดังนั้น ถ้าเรามองดูวัตถุตรงๆ เราก็จะเห็นภาพนั้นชัดเจนมีรายละเอียด แต่ถ้าเรามองเฉียงๆ หรือมองเห็นด้วยหางตา เราก็จะเห็นภาพนั้นเบลอๆ เหมือนมันกำลังเคลื่อนห่างออกไป

ดาวินชีใช้ความรู้เรื่องนี้สร้างรอยยิ้มแบบ ‘อินเตอร์แอ็กทีฟ’ ขึ้นมา คือถ้าเรามองดูรอยยิ้มของโมนาลิซาตรงๆ เราก็จะเห็นภาพรอยยิ้มนั้นแบบหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่ได้มองตรงๆ คือมองเฉียงๆ หรือเห็นแวบๆ ด้วยหางตา เราก็จะรู้สึกว่าโมนาลิซายิ้มกับเราอีกแบบหนึ่ง ทั้งนี้ก็เพราะเวลาเรามองตรงๆ ม่านตาจะจับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ได้ครบถ้วน ทำให้เส้นที่แลดูโค้งๆ ทั้งหลายกลายเป็นเส้นตรงมากขึ้น โมนาลิซาจึงดูเหมือนไม่ได้ยิ้ม แต่มีลักษณะบึ้งๆ หน่อยเสียด้วยซ้ำ แต่ถ้าเราไม่ได้มองที่รอยยิ้มตรงๆ เช่น มองไปที่ดวงตาของเธอ (ที่จริงดวงตาของเธอก็เจ้าเล่ห์ แสนกลไม่น้อยนะครับ) หางตาของเราจะมองเห็นเหมือนกับว่าเธอกำลังยิ้มอยู่ ทั้งนี้ก็เพราะการทำงานของเซลล์ที่รับรู้แสงและเงาทำให้เราเห็นรูปร่างของเส้นที่โค้งและความอ่อนโยนนุ่มนวลของเงาได้มากกว่า

เรื่องนี้ นักประสาทวิทยาจากโรงเรียนแพทย์ฮาร์วาร์ด อย่าง มาร์กาเร็ต ลิฟวิงสโตน (Margaret Livingstone) บอกว่า มีการค้นพบตรงกันเลยกับภาพวาดโมนาลิซาดังที่ว่ามาแล้ว

เวลาเห็นรอยยิ้มของโมนาลิซา ผมมักนึกถึงรอยยิ้มที่เรียกว่า ‘ยิ้มสยาม’ อยู่บ่อยๆ เพราะสยามได้ชื่อว่าเป็น ‘เมืองยิ้ม’ ซึ่งก็มีผู้วิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆ นานา เช่น ยิ้มสยามยุคเก่าเป็นรอยยิ้มที่เกิดจากความกลัว เรายิ้มให้ฝรั่งก็เพราะไม่กล้าสื่อสารกับเขา จึงส่งยิ้มให้ไปก่อนล่วงหน้า หรือบางคนก็บอกว่า ยิ้มสยามยุคใหม่เป็นยิ้มที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการทำมาหากิน เช่น ยิ้มให้ฝรั่งเพื่อให้เขาเข้ามาเที่ยวเมืองไทย แต่หลายครั้งอาจเป็นยิ้มที่ไม่จริงใจ เสแสร้ง และไม่มี ‘ฐาน’ ของมิตรจิตมิตรใจอยู่เบื้องหลังก็ได้ อย่างที่เราเห็นข่าวร้ายๆ ที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวอยู่บ่อยๆ

คำถามของผมก็คือ รอยยิ้มแบบ ‘ยิ้มสยาม’ นั้น สามารถ ‘เรียนรู้’ อะไรจากรอยยิ้มอายุเกือบ 500 ปี ของโมนาลิซาได้บ้างไหม?

อย่างน้อยที่สุด รอยยิ้มของโมนาลิซาก็ไม่ได้เป็นรอยยิ้มที่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ ความกลัว หรือการเสแสร้ง แต่เป็นรอยยิ้มที่ถูกสร้างให้เกิดขึ้นเพราะ ‘ความรู้’ ที่แฝงฝังอยู่ใน ‘พลังแห่งการสังเกต’ ของดาวินชี รอยยิ้มที่มี ‘ฐาน’ เป็นความรู้ จึงเป็นรอยยิ้มที่ทรงพลังและสร้างความเป็นอมตะให้โมนาลิซาตลอดมา

แต่นอกจากนี้แล้ว ดาวินชียังไม่ได้เป็นแค่ ‘เรเนสซองส์แมน’ เท่านั้นนะครับ เพราะภาพอย่างโมนาลิซา (ที่เป็นคนธรรมดาๆ) และภาพอื่นๆ ของเขา เช่นภาพ Vitruvian Man คือภาพที่ยกย่องมนุษย์ธรรมดาๆ ทำให้หลายคนมองว่า ดาวินชียังเป็นต้นตำรับของ Renaissance Humanism หรือ ‘มนุษยนิยมแบบเรเนสซองส์’ ด้วย นั่นคือการ ‘เห็น’ ถึง ‘ความเป็นมนุษย์’ ของคนตัวเล็กตัวน้อยทั้งหลาย ด้วยสายตาแบบเรเนสซองส์ที่แตกต่างไปจากการมองมนุษย์ที่ไร้อำนาจด้วยสายตาเหยียดหยันแบบที่ ‘ผู้รู้’ ในยุคกลาง (หรือยุคมืด) มักจะเป็นกัน

หลายคนบอกว่า ‘มนุษยนิยมเรเนสซองส์’ คือคลื่นลูกแรกๆ เลย ที่ก่อให้เกิดแนวคิดแบบ ‘พลเมือง’ (Citizenry) ที่อยู่ใต้กฎหมายเดียวกัน และก่อให้เกิดแนวคิดแบบรัฐชาติขึ้นมาในภายหลัง

บางทีนี่อาจเป็นเรื่องสำคัญที่ ‘ยิ้มสยาม’ น่าจะได้เรียนรู้จากรอยยิ้มของโมนาลิซา – ก็ได้

_______

ข้อมูลประกอบการเขียน :

The Genius of Leonardo da Vinci (www.smithsonianjourneys.org/tours/genius-leonardo-da-vinci/itinerary/)

Creativity and Genius: the places of Leonardo da Vinci (www.visittuscany.com/en/ideas/creativity-and-genius-the-places-of-leonardo-da-vinci/)

The Science Behind Mona Lisa’s Smile (www.theatlantic.com/magazine/archive/2017/11/leonardo-da-vinci-mona-lisa-smile/540636/)

_______

 

โดย โตมร ศุขปรีชา

Share This Story !

3.1 min read,Views: 2543,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 21, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 21, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 21, 2024